น.ส.วิไลวรรณกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจก็ยังได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนในอัตราที่เท่ากัน แรงงานจึงขอให้ปรับค่าจ้างเท่ากันทั่วประเทศ อีกทั้งขอให้รัฐบาลควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคด้วย เพราะค่าครองชีพปัจจุบันสูงขึ้นมาก โดยอัตราที่เรียกร้องนั้นอ้างอิงจากผลสำรวจค่าครองชีพแรงงาน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าเดินทาง ค่าอาหาร พบว่าโดยเฉลี่ยค่าใช้จ่ายแต่ละวันของแรงงานจำนวน 1 คนจะอยู่ในอัตรานี้ โดยได้ยื่นข้อมูลผลสำรวจดังกล่าวไปถึงประธานบอร์ดค่าจ้างด้วย ส่วนจะปรับค่าจ้างได้ถึงวันละ 360 บาทหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับบอร์ดค่าจ้าง ทั้งฝ่ายรัฐ ฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้างจะร่วมกันพิจารณาหาตัวเลขที่เหมาะสม ทำให้นายจ้างและลูกจ้างอยู่รอดได้
ประธาน คสรท. กล่าวว่า นอกจากนี้ขอคัดค้านกรณีบอร์ดค่าจ้างจะให้กลับไปใช้การพิจารณาค่าจ้างรูปแบบเดิมตามสภาพเศรษฐกิจแต่ละพื้นที่เพราะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดทั้ง77 จังหวัด จังหวัดละ 15 คน เป็นตัวแทนฝ่ายรัฐ 5 คน ฝ่ายนายจ้าง 5 คน และฝ่ายลูกจ้าง 5 คน แต่ฝ่ายลูกจ้างไม่มีอำนาจต่อรอง ทำให้อำนาจพิจารณาการปรับขึ้นค่าจ้างอยู่ในมือของฝ่ายรัฐและนายจ้าง ซึ่งแบบนี้ไม่ถูกต้อง
ดังนั้น ในวันที่ 25 มิถุนายน 2558 ตั้งแต่เวลา 09.30 น. เป็นต้นไป คสรท.จะร่วมกับเครือข่ายแรงงานทั่วประเทศรวมตัวกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้า จากนั้นจะประกาศจุดยืนขอให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในอัตรา 360 บาท เท่ากันทุกจังหวัด และจะเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาช่วยเหลือต่อไป