เจาะปมร้อน! ไวรัสเมอร์ส หลุดเข้าไทย..จุดเสี่ยงควรรู้?
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวอื่นๆ เจาะปมร้อน! ไวรัสเมอร์ส หลุดเข้าไทย..จุดเสี่ยงควรรู้?
หลังกระทรวงสาธารณสุขประกาศพบผู้ติดเชื้อไวรัสเมอร์สรายแรกจากประเทศโอมาน พร้อมกับคำรับรองว่า จากนี้ไปจะมีการ “เตรียมพร้อมเต็มที่” เพื่อไม่ให้ “ไวรัสเมอร์ส” แพร่กระจายในประเทศไทย
ขณะนี้องค์การอนามัยโรคจะยังไม่ใช้คำเรียกว่า “โรคระบาด” (Epidemic) กับ “โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง” (Middle East respiratory syndrome coronavirus, MERS-CoV) หรือ “โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2012” แต่จากการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วที่ประเทศเกาหลีใต้ ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่า ถ้าเกิดขึ้นกับประเทศอื่นในลักษณะคล้ายกัน คือ การติดเชื้อในกลุ่มคนหมู่มากและไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ไวรัสเมอร์สอาจกลายเป็นโรคระบาดได้ในอนาคตอันใกล้
แม้ทีมผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงสาธารณสุขจะยืนยันการป้องกันหรือแนวทางกักกันโรคจากผู้ติดเชื้อรายแรกไว้อย่างหนาแน่น แต่ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวจากต่างชาติเดินทางเข้าออกไม่ต่ำกว่าปีละ 35-40 ล้านคน โดยเฉพาะผู้เดินทางจากตะวันออกกลางนั้น มีประมาณ 2-3 หมื่นคนต่อเดือน หรือปีละ 3-4 แสนคน รวมถึงนักท่องเที่ยวจากเกาหลีใต้เข้ามาประเทศไทยวันละ 3,000 กว่าคน หรือเดือนละเกือบ 1 แสนคน
ดังนั้น ระบบคัดกรองหรือการเตรียมพร้อมรับมือไม่ว่าจะดีแค่ไหนก็ตาม แต่ก็ยังมีความเสี่ยงสูงมากที่จะพบผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อไวรัสเมอร์สรายต่อไป โดยผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจวิเคราะห์ว่า ทุกประเทศมีช่องโหว่หรือจุดเสี่ยงในการรับเชื้อไวรัสเมอร์สแตกต่างกัน สำหรับประเทศไทยนั้นมี 5 จุดเสี่ยงที่ไวรัสเมอร์สอาจหลุดเข้ามาอีก ได้แก่
จุดที่ 1 เริ่มจากการคัดกรองที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง สำหรับท่าอากาศยาน หรือสนามบินนานาชาติ 5 แห่งนั้น การตั้งเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายผู้โดยสารในบางจุด ไม่ได้แสดงว่าจะคัดกรองได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะผู้ติดเชื้อไวรัสเมอร์สหลายคนไม่มีอาการตัวร้อน ทำให้การคัดกรองเรื่องความร้อนจากร่างกายไม่ได้ผลนัก นอกจากนี้ผู้ติดเชื้อยังมีโอกาสแพร่กระจายละอองฝอยของเสมหะหรือสารคัดหลั่งให้แก่ผู้โดยสารคนอื่นในเครื่องบิน โดยเฉพาะผู้ที่เข้าห้องน้ำเดียวกัน
จุดที่ 2 ผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่รับเชื้อไวรัสเมอร์สเข้าร่างกายนั้น ร่างกายจะยังไม่แสดงอาการป่วยหรืออาการผิดปกติ ทำให้หลุดพ้นจากระบบคัดกรองเบื้องต้น กว่าจะรู้ตัวหรือมีอาการไอหรือมีน้ำมูกไหล เวลาก็ผ่านไปหลายวันแล้ว อาจเป็นพาหะแพร่นำเชื้อแพร่ให้ผู้ที่อาศัยอยู่บ้านเดียวกัน โรงแรมหรือสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ เรียบร้อยแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นยังมีด่านท่าเรือ 17 แห่ง และด่านพรมแดนทางบกทั่วประเทศ ที่มีนักท่องเที่ยวหรือผู้เดินทางจากประเทศเพื่อนบ้านเข้าออกโดยไม่มีระบบคัดกรองผู้เข้าข่ายน่าสงสัย นับเป็นช่องโหว่ที่หลายฝ่ายเป็นห่วง
จุดที่ 3 หากเจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจคนเข้าเมือง พบ “ผู้มีอาการเข้าข่ายน่าสงสัย” แล้วส่งต่อไปยังโรงพยาบาลใกล้เคียง หรือผู้ป่วยเดินทางไปโรงพยาบาลด้วยตนเอง หากบุคลากรทางการแพทย์ไม่สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสม โดยเฉพาะถ้าสวมหน้ากากอนามัยแบบธรรมดาจะไม่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสได้ โอกาสติดเชื้อมีสูง ดังเช่น กรณีของโรงพยาบาล 4 แห่ง ในเกาหลีใต้นั้น ภายหลังสืบพบว่าแพทย์และพยาบาลติดเชื้อไวรัสเมอร์สจากผู้ป่วย เพราะไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยระดับเอ็น 95 หรือ ระดับที่ป้องกันเชื้อไวรัส สำหรับประเทศไทยเช่นกัน มีการเตรียมหน้ากากอนามัยหรืออุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสมให้ทุกโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ด่านชายแดนหรือไม่ รวมถึงระบบการส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลในกรุงเทพฯ นั้น มีการเตรียมพร้อมอย่างไร ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ คนขับรถพยาบาลของเกาหลีใต้รายหนึ่งติดเชื้อไวรัสเมอร์สจากผู้ป่วย ระหว่างทำหน้าที่ขับรถส่งผู้ป่วยไวรัสเมอร์สไปยังโรงพยาบาล
จุดที่ 4 แม้ภายหลังสามารถตรวจพบว่าผู้เข้าข่ายน่าสงสัยเป็นผู้ติดเชื้อไวรัสเมอร์สจริง โดยผลตรวจยืนยันจากห้องแล็บ แต่ทีมสอบสวนหรือทีมติดตามผู้สัมผัสกับผู้ป่วยย้อนหลังนับจากวันที่ออกมาจากประเทศที่มีเชื้อไวรัสเมอร์สไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากมีผู้คนมากมายในสนามบินหรือจุดที่ผู้ติดเชื้อเดินผ่าน หรือแวะเข้าไปรับประทานอาหาร แตกต่างจากไวรัสอีโบลาที่ผู้ป่วยมักอาการสาหัส ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายไปไหนมาไหนได้ จึงง่ายต่อการควบคุมไม่ให้เชื้อแพร่ระบาดไปยังผู้อื่น
จุดที่ 5 “ไวรัสเมอร์ส” แม้ไม่ได้เป็นไวรัสที่ติดต่อง่ายเหมือนไวรัสไข้หวัดใหญ่ แต่เป็นไวรัสที่ตรวจพบยาก หากเป็นโรงพยาบาลทั่วไปอาจตรวจไม่พบ ดังกรณีผู้ป่วยวัย 68 ปีรายแรกที่นำเชื้อจากตะวันออกกลางเข้าไปยังเกาหลีใต้นั้น ต้องเดินทางไปตรวจหาเชื้อในคลินิกและโรงพยาบาลหลายแห่ง กว่าจะได้รับการยืนยันว่าเป็นเชื้อไวรัสเมอร์สผ่านไปถึง 10 วัน ยิ่งไปกว่านั้น การตรวจไวรัสร้ายลึกลับตัวนี้ต้องใช้สารคัดหลั่งจำนวนมาก หากไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญอาจตรวจไม่พบในสารคัดหลั่งเลยก็ได้
ปัจจุบันมีโรงพยาบาลที่มี “ห้องแยกโรค” ตามแนวทางการวินิจฉัยดูแลรักษาควบคุมป้องกันการติดเชื้อตลอด 24 ชั่วโมง หลายแห่งด้วยกัน แต่ที่มีผู้เชี่ยวชาญประจำอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง คือ สถาบันบำราศนราดูร และ รพ.นพรัตนราชธานี
การปิดจุดอ่อนหรือช่องโหว่ทั้ง 5 จุดนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ทำให้ทุกประเทศต้องเข้มข้นในการตรวจคัดกรอง การป้องกัน และการเตรียมทีมรักษา รวมถึงการถอดบทเรียนความผิดพลาดจากประเทศเกาหลีใต้
สำหรับประเทศไทยนั้น ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขเตรียมเรื่องที่จะประกาศให้ “โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2012” เป็น “โรคติดต่ออันตราย” ที่ต้องแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2523 โดยที่ผ่านมามีการประกาศไปแล้ว 6 โรคด้วยกันคือ โรคอหิวาตกโรค ไข้ทรพิษ ไข้เหลือง ไข้กาฬโรค โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (ซาร์ส) และโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา
โดยจะมีผลบังคับใช้หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา เชื่อว่าน่าจะภายในอาทิตย์นี้ ซึ่งการประกาศให้เป็น “โรคติดต่ออันตราย” จะช่วยให้เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจในการสั่งกักตัว หรือมีคำสั่งป้องกันการแพร่ระบาดของโรคได้ตามความเหมาะสม โดยไม่ต้องห่วงกังวลว่าจะละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือละเมิดสิทธิด้านอื่นๆ หากใครฝ่าฝืนหรือปิดบังข้อมูล มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
อาการผู้ป่วย “ไวรัสเมอร์ส” 1.มีไข้หรืออาจไม่มีไข้ 2.ไอ จาม มีเสมหะ 3.หายใจหอบลำบาก หากรุนแรงจะมีภาวะหายใจล้มเหลว 4.ตรวจพบปอดอักเสบ 5.ถ่ายอุจจาระเหลว 6.ไตวาย
ขอบคุณข่าวจาก bangkokbiznews.com
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!