เฝ้ารอปรากฎการณ์ดาวเคียงเดือน พระจันทร์ยิ้ม 19-21 มิ.ย.นี้

เฝ้ารอปรากฎการณ์ดาวเคียงเดือน พระจันทร์ยิ้ม 19-21 มิ.ย.นี้


สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เชิญชมปรากฏการณ์ดาวเคราะห์เคียงเดือนในช่วงวันที่ 19 - 21 มิถุนายน 2558 นี้ ถือเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ที่มีความชื่นชอบการดูดาวและหลงใหลในการถ่ายภาพปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ซึ่งจะมีโอกาสสัมผัสกับความสวยงามของท้องฟ้าได้เป็นเวลาถึง 3 คืนต่อกัน

ปรากฏการณ์ดาวเคราะห์เคียงเดือนนี้สามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจนหลังจากดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกด้วยตาเปล่า พร้อมกันทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับทัศนวิสัยท้องฟ้าของแต่ละพื้นที่ด้วย)

ปรากฏการณ์ดาวเคราะห์เคียงเดือนถือเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำอยู่แล้ว ดวงจันทร์และดาวเคราะห์มีการเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ บนท้องฟ้า (ขึ้นอยู่กับคาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์ของดาวเคราะห์เอง) ดังนั้นการที่ดวงจันทร์กับดาวเคราะห์มาอยู่ในทิศเดียวกัน หรือเคลื่อนที่มาอยู่ในตำแหน่งปรากฏบนท้องฟ้าใกล้เคียงกันก็ถือเป็นเรื่องปกติ

โดยปรากฏการณ์ในครั้งนี้ ดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดีจะอยู่เคียงดวงจันทร์เสี้ยว ซึ่งในแต่ละวันจะสามารถสังเกตเห็นรูปแบบการปรากฏที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและเฟสของดวงจันทร์ที่เปลี่ยนไปในแต่ละวัน ดังภาพตัวอย่างด้านล่าง

ทั้งนี้ ปรากฎการณ์ดาวเคราะห์เคียงเดือนที่เคยเกิดขึ้นและเป็นที่ฮือฮาที่สุดน่าจะเป็นปรากฏการณ์ดาวเคราะห์เคียงเดือนที่ปรากฏรูปแบบที่เป็นพระจันทร์ยิ้ม ในช่วงค่ำของคืนวันที่ 1 ธันวาคม 2551 คนไทยทั่วประเทศที่แหงนหน้าขึ้นมองท้องฟ้าทางทิศตะวันตกเฉียงใต้

ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ดาวเคราะห์เคียงเดือนในครั้งนั้นมี ดาวศุกร์ (Venus) ดาวพฤหัสบดี (Jupiter) และดวงจันทร์เสี้ยว (Crescent Moon) เคลื่อนที่มาอยู่ในตำแหน่งปรากฎบนท้องฟ้าใกล้เคียงกันเกิดเป็นภาพดวงจันทร์ยิ้มที่สวยงาม นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างภาพถ่ายปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือนในวันที่ 26 มีนาคม 2555 ซึ่งมีดาวศุกร์ ดวงจันทร์และดาวพฤหัสบดีมาเรียงอยู่ในแนวเดียวกันอยู่ใกล้ๆกับกระจุดดาวลูกไก่ ดังภาพ

ภาพปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือนที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นเป็นปรากฏการณ์ที่วัตถุท้องฟ้า 3 วัตถุเคลื่อนที่มาเคียงกัน แต่ในบางครั้งก็อาจจะมีวัตถุท้องฟ้ามากกว่า 3 วัตถุที่เคลื่อนที่มีอยู่ใกล้ๆ กันได้ ยกตัวอย่างเช่นปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือนในวันที่ 16 ตุลาคม 2552 ชึ่งมีดาวพุธ ดาวศุกร์ และดาวเสาร์ เรียงตัวกันตามแนวเส้นสุริยะวิถีใกล้กับดวงจันทร์ ดังภาพ

ข้อมูลเพิ่มเติม

เนื้อหาเพิ่มในส่วนนี้จะเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับปรากฏการณ์ดาวเคราะห์เคียงเดือนในช่วงวันที่ 19 - 21 มิถุนายน 2558 นี้

วันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน 2558

ปรากฎการณ์ดาวเคราะห์เคียงเดือน จะเริ่มสังเกตเห็นได้หลังจากที่ดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าไปแล้ว และในวันนี้ ดวงอาทิตย์จะตกลับขอบฟ้าเวลา 18:47 น. (เวลาที่กรุงเทพฯ) เราจะสามารถสังเกตเห็นปรากฎการณ์ดาวเคราะห์เคียงเดือนที่มีวัตถุสามวัตถุเรียงกัน คือ ดวงจันทร์ ดาวศุกร์ และดาวพฤหัสบดี ในวันดังกล่าวดวงจันทร์จะมีอายุประมาณ 2.5 วัน ขนาดของเสี้ยว 8% ซึ่งจะอยู่สูงจากขอบฟ้า (มุมเงย) ประมาณ 28 องศา ทางทิศตะวันตก

วันเสาร์ที่ 20 มิถุนายน 2558

ดวงจันทร์ ดาวพฤหัสบดี และดาวศุกร์ จะมาเรียงตัวอยู่ในตำแหน่งใกล้กันซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกันกับปรากฎการณ์พระจันทร์ยิ้ม แต่ครั้งนี้ดวงจันทร์จะยิ้มตะแคง (รูปที่ 1 ) โดยมี ดาวพฤหัสบดี และดาวศุกร์ เป็นเหมือนดวงตา ในวันดังกล่าวดวงจันทร์จะมีอายุประมาณ 3.5 วัน ขนาดของเสี้ยว 15% ซึ่งจะอยู่สูงจากขอบฟ้า (มุมเงย) ประมาณ 40 องศา และในวันดังกล่าวดวงจะตกหลับขอบฟ้าเวลาประมาณ 21:58 น. ปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือนในครั้งนี้เราจะเห็นปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือนที่มีลักษณะคล้ายกับสามเหลียมด้านเท่า ซึ่งจะสามารถสังเกตเห็นได้ทางทิศตะวันตกได้ตั้งแต่เวลาหลังจากที่ดวงอาทิตย์ตกหลับขอบฟ้าเป็นต้นไปจนกระทั่งดวงจันทร์ตก และในปรากฏกาณ์ดังกล่าวผู้สังเกตการณ์ยังสามารถสังเกตเห็นปรากฏการณ์แสงโลก (Earth Shine) ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดจากแสงอาทิตย์สะท้อนกับผิวโลกไปยังดวงจันทร์ และสะท้อนกลับมายังผู้สังเกตบนโลกอีกต่อหนึ่ง ทำให้ผู้สังเกตบนโลกเห็นแสงจาง ๆ จากด้านมืดของดวงจันทร์ ซึ่งเป็นอีกปรากฎการณ์ที่เราสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า

วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน 2558

ในวันนี้เป็นวันที่ดวงจันทร์จะมีอายุประมาณ 4.5 วัน ขนาดของเสี้ยว 22% ดวงจันทร์เคลื่อนขึ้นสูงต่อเนื่อง โดยในวันนี้ดวงจันทร์จะเคลื่อนไปอยู่สูงเหนือดาวพฤหัสบดี ซึ่งทำให้สามารถมองเห็น ปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือนที่มีลักษณะคล้ายกันกับการเรียงตัวกันของวัตถุที่เกิดขึ้น เมื่อวันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน 2558 จะต่างกันที่ตำแหน่งของดวงจันทร์จะอยู่สูงกว่าดาวเคราะทั้งสองดวง คือ ดาวพฤหัสบดีกับดาวศุกร์ และสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายรูป หรือชอบภ่ายภาพปรากฎการณ์ทางดาราศาสตร์ ปรากฎการณ์ดาวเคราะห์เคียงเดือน ในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นปรากฎการณ์ที่น่าสนใจอีกปรากฎกาณ์หนึ่งในรอบปีนี้



เรียบเรียงโดย

นายรอยาลี มามะ

เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

เครดิตข้อมูลจาก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์