รวมทั้งห้ามสายการบินที่บินประจำขยายเส้นทางบิน หรือแม้กระทั่งเปลี่ยนเส้นทางบิน ส่งผลต่อสายการบินของไทยถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นไทย แอร์เอเชีย เอ็กซ์, นกสกู๊ต, การบินไทย และเอเชียแอตแลนติก สืบเนื่องจากผลการประเมินด้านความปลอดภัยจากองค์การการบินพลเรือนสากล (ICAO) ทำให้เกิดความกังวลถึงความเป็นไปได้ว่า มาตรฐานทางด้านการบินของไทยอาจไม่สอดคล้องกับมาตรฐานทางการบินของหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งสหรัฐและสหภาพยุโรป (อียู)
ล่าสุด ญี่ปุ่นเตรียมยกเว้นการแบนสายการบินของไทยเป็นการชั่วคราวช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.นี้
เพื่อให้ประเทศไทยปรับมาตรฐานการบินให้ส่วนต่าง ๆ นอกจากนี้รายงานระบุว่าหน่วยงานการบินพลเรือนของจีนได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบระบบในประเทศไทยเช่นกันแต่เฉพาะบางสายการบินและกำหนดกรอบเวลาแก้ไขแล้วส่วนสิงคโปร์ที่เคยมีข่าวลือว่าได้สั่งแบนสายการบินของไทยก่อนหน้านี้ ได้ออกมาแก้ข่าวว่ายังไม่มีการแบน เพียงแค่ดำเนินมาตรการตรวจสอบความปลอดภัยของสายการบินในไทยเท่านั้น
ด้านเทเลกราฟระบุว่า การประเมินด้านความปลอดภัยของ ICAO ที่เข้าตรวจสอบมาตรฐานด้านการบินพาณิชย์ของไทย
ระหว่างวันที่ 19-30 มกราคมที่ผ่านมา ได้เร่งให้เกิดความกังวลในเรื่องความปลอดภัย โดยเฉพาะเรื่องการออกใบรับรองการบินในประเทศไทย ซึ่งกรมการบินพลเรือนของไทยได้ส่งรายงานถึงแนวทางแก้ปัญหาให้กับ ICAO เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 2 มี.ค. แต่ทั้งนี้ ICAO ไม่สามารถเปิดเผยเนื้อหาและระยะเวลาในการแก้ปัญหาที่ไทยเสนอไปได้ เนื่องจากเป็นข้อตกลงระหว่างองค์กรและชาติสมาชิก
สำนักข่าววีโอเอของสหรัฐวิเคราะห์ว่า รายงานที่ออกมาในเชิงลบของ ICAO ทำให้เกิดความเป็นไปได้ว่า ICAO
อาจปรับลดระดับความน่าเชื่อถือของอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย จากกลุ่ม 1 เป็นกลุ่ม 2 และยังเป็นสัญญาณเตือนที่ทำให้หน่วยงานตรวจสอบการบินของสหรัฐ (FAA) เฝ้าจับตามองอุตสาหกรรมการบินของไทย และอาจเข้ามาประเมินเรื่องความปลอดภัยใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ เรื่องการออกใบอนุญาตนักบิน มาตรฐานการจัดการเที่ยวบิน และมาตรฐานความพร้อมของเครื่องบินในการบินอย่างปลอดภัย และอาจตรวจสอบเที่ยวบินที่เดินทางไปยังสหรัฐ
ขณะที่สำนักกฎหมายวัตสัน ฟาร์ลี แอนด์ วิลเลียมส์ (ประเทศไทย) ประเมินว่า หาก ICAO และ FAA ลดระดับความน่าเชื่อถือของอุตสาหกรรมการบินไทยจริง อาจจะทำให้เกิดผลกระทบต่อสายการบินของไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะเที่ยวบินที่มีเส้นทางการบินไปยังสหรัฐ
นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มที่เรื่องดังกล่าวจะทำให้อียู จะประเมินสายการบินของไทยอีกอย่างแน่นอน
เห็นได้จากกรณีที่อียูแบนสายการบินจากฟิลิปปินส์ หลัง ICAO และ FAA ปรับลดระดับความเชื่อมั่นก่อนหน้านี้โดยไทยนั้น ถือเป็นฮับสำคัญในการเชื่อมโยงภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกกับทวีปยุโรป และให้บริการร่วมกับสายการบินจากประเทศอื่นๆ ในเส้นทางยุโรปเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากมีปัญหาเกิดขึ้นจะทำให้เกิดผลกระทบกับธุรกิจการบินในวงกว้าง รวมทั้งผลกระทบในเรื่องของค่าใช้จ่ายสำหรับสายการบิน เช่น เรื่องการทำประกัน และการทำสัญญาเช่าเครื่องบิน
เรื่องมาตรฐานการบินของไทยที่ต่ำกว่าคาดหวังนี้ ยังเชื่อมโยงไปถึงการเติบโตของธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกอย่างรวดเร็ว
ในช่วงที่ผ่านมา "ไคลฟ์ เออร์วิง" คอลัมนิสต์จากนิตยสารเดลี บีสต์ ได้เปรียบเทียบมาตรฐานการบินในเอเชียกับสหรัฐ โดยอ้างรายงานของ ICAO ว่า สหรัฐสามารถทำคะแนนในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยได้ถึง 93% ขณะที่ในเอเชียโดยเฉลี่ยได้เพียง 68% และในแอฟริกา 41% ซึ่งเออร์วิงชี้ว่า แน่นอนว่าเอเชียสามารถทำคะแนนได้ดีกว่าแอฟริกา แต่สายการบิน และความเคลื่อนไหวในเอเชีย-แปซิฟิกนั้น มีอยู่เยอะและซับซ้อนกว่าแอฟริกามาก โดยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีจำนวนผู้โดยสารที่สูงถึงราว 85 ล้านคน และยังคาดว่าน่าจะเพิ่มขึ้นเป็นถึง 270 ล้านคนในปี 2577
การเติบโตของธุรกิจการบินต้นทุนต่ำยังหมายถึงความต้องการของนักบินเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก
โดยประเมินว่าในปี2576จะต้องมีการจ้างนักบินถึง 216,000 คน (คิดเป็นอัตราเติบโตถึง 41%) ทำให้มาตรฐานในการคัดเลือกไม่เคร่งครัดเท่าที่ควร โดยการจ้างงานในตำแหน่งผู้ช่วยนักบินส่วนใหญ่ในเอเชียนั้น ผู้สมัครต้องใช้ประสบการณ์การบินเพียง 300-400 ชั่วโมงเท่านั้น เช่นในกรณีเครื่องบินไลปออนแอร์ไถลตกทะเลที่บาหลีเมื่อปี 2556 ที่นักบินให้ผู้ช่วยนักบินวัย 24 ปีเป็นคนลงจอด แต่โชคดีที่ในเหตุการณ์นี้ไม่มีผู้เสียชีวิต
เรียบเรียงโดย ประชาชาติธุรกิจออนไลน์