การออกมาเดินขบวนธุดงค์บนท้องถนนในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ของพระสงฆ์ 1,130 รูป ตามโครงการ "ธุดงค์ธรรมชัยปีที่ 4" ของวัดพระธรรมกาย หลายเสียงบอกว่าเป็นเหตุให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดอย่างหนัก โดยเฉพาะในเขตเมือง
หลายฝ่ายที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ส่งข้อความถึงวัดพระธรรมกายผ่านทางโซเชียลมีเดียมากมาย
เหตุการณ์นี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่สังคมกังขาถึงงานด้านศาสนาของวัดแห่งนี้
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2540 พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) หรือ พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายและประธานมูลนิธิธรรมกายถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในประเด็นยักยอกทรัพย์ จากการบริหารเงินบริจาค ต่อมากรมที่ดินได้สำรวจพบว่า พระธัมมชโยมีชื่อเป็นเจ้าของโฉนดที่ดินและบริษัทที่เกี่ยวกับวัดพระธรรมกายกว่า 400 แปลง รวมเนื้อที่กว่า 2 พันไร่ ในจังหวัดพิจิตรและเชียงใหม่
การกระทำดังกล่าวถือเป็นความผิดทางพระธรรมวินัยขั้นปาราชิก
รวมถึงถูกกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น ใกล้ชิดสีกา และอวดอุตริมนุสธรรม
พศ. มหาเถรสมาคมจึงมีมติให้ปรับปรุงคำสอนของวัดพระธรรมกาย และยุติการเรี่ยไร เงินนอกวัด ส่วนที่ดินและทรัพย์สินให้คืนให้กับทางวัด แต่พระธัมมชโยไม่ยอม กรมการศาสนาจึงได้เข้าแจ้งความดำเนินคดี
ระหว่างคดียังคงอยู่ในกระบวนพิจารณาในชั้นศาล พระธัมมชโยและคณะวัดพระธรรมกายได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ขณะที่สื่อมวลชนมีการนำเสนอข่าวของวัดพระธรรมกายอย่างต่อเนื่อง สื่อมวลชนหลายสำนักได้นำเสนอข่าวแพร่สะพัดออกไปในทางเสื่อมเสีย วัดพระธรรมกายจึงได้เกิดการฟ้องร้องกันขึ้น พ.ศ.2542
เกือบ 7 ปี ของการดำเนินคดี ตั้งแต่ปี 2542-2549 ในที่สุดวันที่ 21 สิงหาคม 2549 พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 5 ซึ่งเป็นโจทก์ ขอถอนฟ้อง จำเลยคือพระธัมมชโย และนายถาวร พรหมถาวร ลูกศิษย์ ทุกข้อกล่าวหา โดยสรุปว่า ปัจจุบันจำเลยกับพวก ได้เผยแผ่พระพุทธศาสนาตรงตามพระไตรปิฎกและนโยบายของคณะสงฆ์ ด้วยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้เป็นที่ยอมรับทั่วไป ทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งยังได้ส่งมอบทรัพย์สินทั้งหมดคืนให้แก่วัดพระธรรมกายแล้ว
เมื่อพระธัมมชโยได้คืนทรัพย์สินและที่ดินให้กับวัดพระธรรมกายแล้ว ดังนั้น มติ มส.ในขณะนั้นจึงไม่ได้ให้ปาราชิก และยังสามารถดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายได้
ต่อมาได้มีการคืนตำแหน่งเจ้าอาวาสให้กับพระธัมมชโย และพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ "พระเทพญาณมหามุนี" เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2554
ดูเหมือนคดีความของวัดพระธรรมกายจะจบลงด้วยดี แต่แล้วชื่อของวัดพระธรรมกายกลับมาอยู่ในกระแสสังคมอีกครั้ง เมื่อผุดโครงการ "ธุดงค์ธรรมชัย" ขึ้นใจกลางเมืองหลวง เมื่อปี 2555
ต่อด้วยกรณีเงินบริจาคของ นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น เมื่อปี 2556
ภายหลังการตรวจสอบเส้นทางเดินเงิน กรณีนายศุภชัย ศรีศุภอักษร ซึ่งได้กระทำความผิดฐานฉ้อโกงเงินประชาชนรวมกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท โดยมีการลงนามสั่งจ่ายเช็คของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น และมีการนำเช็คไปเข้าบัญชีเงินฝาก 3 ส่วน
1.สั่งจ่ายเช็คสหกรณ์ฯ 8 ฉบับ แบ่งเป็นจ่ายให้กับพระธัมมชโย เป็นเงิน 348,780,000 บาท 2.สั่งจ่ายเช็คสหกรณ์ 6 ฉบับ เข้าบัญชีเงินฝากของวัดพระธรรมกาย 436 ล้านบาท 3.สั่งจ่ายเช็คสหกรณ์เข้าบัญชีเงินฝากของพระปลัดวิจารณ์ 119 ล้านบาท
คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 900 ล้านบาท ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมกรณีที่นายศุภชัยสั่งจ่ายเช็คเข้าบัญชีกลุ่มบุคคลอื่น หรือนำเงินไปซื้อที่ดินมาบริจาคให้วัดพระธรรมกาย เพื่อก่อสร้างพระมหาเจดีย์ทัตตชีโว
การนำเงินไปใช้ก่อสร้างอาคารที่ตั้งอยู่บนที่ธรณีสงฆ์ ปปง.ไม่สามารถบังคับคดีได้ ส่วนเช็คของสหกรณ์ฯ ที่เข้าบัญชีเงินฝากของพระธัมมชโย กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินคดีทางแพ่ง (ฟ้องเรียกทรัพย์สินคืน) ส่วนเช็คที่เข้าบัญชีพระปลัดวิจารณ์ 119 ล้านบาท ได้ทำการถอนปิดบัญชีไปแล้ว ปปง.ไม่สามารถติดตามเส้นทางเงินต่อไปได้ เพราะถอนเป็นเงินสด
ขณะที่ในการประชุมคณะกรรมาธิการการศาสนา สปช. ล่าสุด กลับชี้ว่าพระธัมมชโย เป็นปาราชิก ขาดจากความเป็นภิกษุตามพระลิขิตสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบต้องบังคับการให้เป็นไปตามมติมหาเถรสมาคม
ซึ่งสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระลิขิตลงวันที่ 26 เมษายน 2542 สองประการ คือ ต้องอาบัติปาราชิก ต้องพ้นจากความเป็นสมณะโดยอัตโนมัติ ต้องถูกจัดการอย่างเด็ดขาด เช่นเดียวกับผู้ไม่ใช่พระปลอมเป็นพระ ด้วยการนำผ้ากาสาวพัสตร์ไปครอง ทำความเศร้าหมองเสื่อมเสียให้เกิดแก่สงฆ์ในพระพุทธศาสนา
อีกด้านหนึ่ง พระพุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สปช. เพื่อขอให้ตรวจสอบทรัพย์สินเส้นทางเงินของกรรมการ มส. ทุกรูป รวมถึงเส้นทางเงินและทรัพย์สินของวัดพระธรรมกาย พระธัมมชโย ทรัพย์สินของเจ้าคณะพระสังฆาธิการทุกวัด และขอให้ตรวจสอบการเบิกจ่ายงบประมาณ การใช้งบประมาณของ มส. มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งของธรรมยุตและมหานิกายอย่างละเอียด
นอกจากนี้ พระพุทธะอิสระยังขอให้รื้อฟื้นคดีของวัดพระธรรมกายเมื่อปี 2549 ขึ้นมาพิจารณาใหม่ รวมถึงขอให้จัดตั้งองค์คณะพิทักษ์คุ้มครองพระพุทธศาสนาบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ ท่ามกลางความกังขาและไม่เห็นด้วยของคณะสงฆ์
การเคลื่อนไหวของ พระพุทธะอิสระ และคณะกรรมาธิการศาสนา สปช. ทำให้หลายสายตามองไปในมุมการเมือง
ในจำนวนนี้ดูเหมือนว่า พระราชวิจิตรปฏิภาณ หรือ "เจ้าคุณพิพิธ" ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม จะตั้งข้อสังเกตตรงประเด็นที่สุด
เจ้าคุณพิพิธสงสัยว่า เหตุใด สปช.ถึงหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพูด ทั้งที่จุดประสงค์หลักของคณะกรรมการฯ คือ การพิจารณาร่วมกับคณะสงฆ์ปรับปรุงเเก้ไขพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505
"สปช.ชุดนี้เป็นเครื่องมือของใครหรือไม่ หรือถ้าตั้งใจทำเอง มีเจตนาใดต่อพระพุทธศาสนา แถมยังบังอาจให้สัมภาษณ์ว่าจะตั้งฆราวาสขึ้นมาควบคุมดูเเลสงฆ์อีกด้วย ซึ่งไม่เหมาะสม เพราะถ้าฆราวาสคุมพระได้ก็ไม่ต้องทำอะไรเเล้ว"
เจ้าคุณพิพิธมองว่า วัดพระธรรมกายอาจเป็นเเค่เหยื่อ เพราะมีข่าวลือหนาหูว่ามีคนไม่ต้องการให้บางนิกายรับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช พยายามที่จะไม่ให้สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นสังฆราช พยายามหาความมัวหมองมาสู่ท่านด้วยการอ้างว่าท่านเป็นพระอุปัชฌาย์ของพระธัมมชโยทั้งที่ความจริงไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกัน
เจ้าคุณพิพิธสรุปว่า ความเคลื่อนไหวทั้งหลายน่าจะมีเบื้องหลัง
ข้อสันนิษฐานของเจ้าคุณพิพิธนั้นแรง
ความแรงที่เกิดขึ้นเช่นนี้หากไม่มี "คนกลาง" เข้ามาหย่าศึก เรื่องราวอาจเลยเถิด
ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ และสำนักพุทธศาสนาไปดำเนินการแล้ว
เพียงแต่เรื่องราวความขัดแย้งจะคลี่คลายลงเช่นไร น่าติดตาม
ที่มา : มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 25 ก.พ. 2558