สธ.เตือนภัยหน้าฝน ระวังโรคร้าย9ชนิด

"สธ.เตือน โรคร้ายหน้าฝน"



หน้าฝนมาแล้ว กระทรวงสาธารณสุขขอให้คนไทยหมั่นดูแลสุขภาพ ระวังเจ็บป่วยจากโรคประจำฤดูกาล โดยเมื่อวันที่ 3 มิ.ย.

ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นพ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค

ว่าขณะนี้กรมควบคุมโรคได้ออกประกาศเตือนประชาชน ในการป้องกันโรคติดต่อที่มักเกิดขึ้นในฤดูฝน

ที่สำคัญมี 5 กลุ่ม รวม 9 โรค ได้แก่

- 1.กลุ่มโรคติดต่อของระบบทางเดินอาหาร ที่พบบ่อยคือ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน โรคบิด
- 2. กลุ่มโรคติดเชื้อผ่านทางบาดแผลหรือเยื่อบุผิวหนัง ที่พบบ่อยคือ โรคเลปโตสไปโรซิส หรือโรคไข้ฉี่หนู อาการเด่นคือ ไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ มักปวดกล้ามเนื้อที่น่องและโคนขาอย่างรุนแรง ตาแดง
- 3.กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ ที่พบบ่อยและอาการค่อนข้างรุนแรงคือ ไข้หวัดใหญ่ โรคปอดอักเสบหรือปอดบวม
- 4.กลุ่มโรคติดต่อที่เกิดจากยุง ที่สำคัญคือ โรคไข้เลือดออก มียุงลายเป็นตัวการนำโรค ซึ่งกว่าร้อยละ 80 เป็นยุงลายที่อยู่ในบ้าน และโรคไข้สมองอักเสบเจอี ซึ่งมียุงรำคาญในทุ่งนาและตามชนบทเป็นตัวนำโรค รวมทั้งโรคไข้มาลาเรีย ที่เกิดจากยุงก้นปล่องกัดผู้ที่เข้าไปในป่าเขา
- 5.โรคเยื่อบุตาอักเสบหรือโรคตาแดง ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในน้ำสกปรกกระเด็นเข้าตา

จากการเฝ้าระวังโรคดังกล่าวตลอดเดือน พ.ค.นี้พบผู้ป่วยแล้ว 21,919 ราย ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 99 รักษาหาย มีเสียชีวิต 6 ราย จากโรคปอดบวม 4 ราย และอุจจาระร่วงเฉียบพลัน 2 ราย ซึ่งสถานการณ์ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้



อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวและว่า

หากประชาชนป่วย มีไข้สูง กินยาลดไข้จำพวกพาราเซตามอล แล้วไม่ดีขึ้นภายใน 3 วัน ต้องพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาที่ถูกกับโรค เพราะทุกโรครักษาหายขาดได้

ห้ามซื้อยาปฏิชีวนะกินเอง

โดยเฉพาะยาจำพวกแอสไพรินห้ามกินอย่างเด็ดขาด เพราะมีอันตรายกับบางโรค ที่สำคัญคือ โรคไข้เลือดออก โรคไข้หวัดใหญ่ โรคไข้ฉี่หนู ซึ่งโรคดังกล่าวจะทำให้มีเลือดออกตามอวัยวะต่างๆ เมื่อได้รับยาแอสไพริน ซึ่งมีสารป้องกันเลือดแข็งตัวเข้าไป จะทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น ทำให้เสียชีวิตได้

นอกจากนี้ ในวันเดียวกัน นพ.มงคล ณ สงขลา รมว.สาธารณสุข

เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้า สู่ฤดูฝน การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในฤดูกาลนี้ เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคหลายชนิด สามารถแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว

โดยสถานการณ์ที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดที่สุดคือ โรคไข้หวัดนก แม้ว่าในประเทศไทยตลอด 5 เดือนของปีนี้ ยังไม่พบการติดเชื้อในคนก็ตาม แต่ประมาทไม่ได้ เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านยังมีสัตว์ปีกติดเชื้อและพบคนป่วย รวมทั้งอาการของโรคไข้หวัดนกใกล้เคียงกับโรคที่พบในฤดูฝนได้ เช่น

- โรคไข้หวัดใหญ่
- โรคปอดบวม
- โรคไข้เลือดออก

อาการที่เป็นลักษณะเด่นจะเริ่มต้นจากมีไข้สูงมาก่อน จึงต้องอาศัยการซักประวัติการสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย ประกอบการวินิจฉัยร่วมกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ



รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า

ดังนั้นได้สั่งการให้สำนัก งานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลทุกแห่ง จับตาโรคไข้หวัดนกเข้มข้นเป็นพิเศษเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือน มิ.ย.- ส.ค.2550 ถือเป็นช่วง 90 วันอันตราย

ให้แพทย์ตรวจคัดกรองผู้ป่วยโดยละเอียด

เพื่อป้องกันเชื้อไข้หวัดใหญ่ กลายพันธุ์จากการผสมข้ามสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไข้หวัดนก ส่วนในหมู่บ้านได้ขอความร่วมมือ อสม. 800,000 คน ติดตามการป่วยของสัตว์ปีกในหมู่บ้าน ตามมาตรการที่มีอยู่แล้วอย่างต่อเนื่องและรายงานผลทุกวัน

ทั้งนี้ผลจากการเฝ้าระวังไข้หวัดนก

ในกลุ่มของผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ และผู้ป่วยปอดบวม ที่เข้ารักษาในโรงพยาบาล จำนวน 1,357 ราย จาก 66 จังหวัด ตั้งแต่เดือน ม.ค.-พ.ค. 2550 โดยซักประวัติการสัมผัสสัตว์ปีกและตรวจยืนยันเชื้อทางห้องปฏิบัติการ ยังไม่พบรายใดติดเชื้อไข้หวัดนก สำหรับในส่วนกลาง ได้สั่งการให้กรมควบคุมโรคประชุมคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการ เพื่อประเมินสถานการณ์ การเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง



ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์