8 ก.พ. 58 เมื่อเวลา 13.00 น. ที่อาคารกิจกรรมนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
กลุ่มสภาปฏิรูปพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (สปพช.) ได้มีการจัดงานเสวนาเรื่อง "กึ่งพุทธกาลกับมารศาสนา" โดยมี พระมหาพงศ์นรินทร์ ฐิตวํโส เลขานุการเครือข่ายพุทธชยันตี-สังฆะเพื่อสังคม นายแทนคุณ จิตต์อิสระ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมาดา และ ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและการประชาสัมพันธ์ เป็นวิทยากรประกอบ แต่ทั้งนี้ ดร.เสรี ไม่สะดวกที่จะเดินทางมาร่วมวงเสวนา จึงใช้การโฟนอินเข้าแทน โดยมีกลุ่มสภาปฏิรูปพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (สปพช.) และประชาชนจำนวนมากเข้าร่วมงาน
สำหรับในวงเสวนามีการพูดคุยถึงหลักปฏิบัติของวัดธรรมกาย ที่ขณะนี้กำลังถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก
โดย นายแทนคุณ ได้กล่าวช่วงหนึ่งว่า ข้อดีของการมีกรณีธรรมกาย คือทำให้เรารวมตัวกันเหนียวแน่นขึ้นว่าเราจะทำอย่างไรกับเรื่องศาสนา ซึ่งเป็นหนึ่งในเสาหลักของสังคม เรื่องอื่นเราสามารถโจมตีกันได้เฉียบขาด แต่เรื่องศาสนาควรวิจารณ์กันในฐานะกัลยาณมิตร เราไม่สามารถไปจัดการคนที่นับถือศรัทธาได้ สิ่งที่ทำได้คือการเข้าใจเขาและอยู่ร่วมกันได้ เพราะถ้าเราโจมตีเขาอย่างเดียวแล้วเราไม่มีอะไรดีก็ตอบเขาไม่ได้
"ผมคิดว่าอีกไม่เกิน 5 ปี เราจะเห็นปรากฏการณ์พระสงฆ์รวมตัวกันปฏิรูปวงการพระพุทธศาสนา กรณีธรรมกายตั้งเป็นนิกายใหม่ไปเลยก็ได้ อย่างมหายานเขาให้กันอย่างสุดหัวจิตหัวใจ แต่นี่มีการกอบโกยเข้ามา ถ้าเราไม่ทำอะไรบ้างเลยเราจะเป็นชาวพุทธได้อย่างไร ผมเข้าใจว่าเรามีวิธีอธิบายที่จะไม่มุ่งเกลียดชัง" นายแทนคุณ คาดการณ์
ด้านพระมหาพงศ์นรินทร์ กล่าวว่า ความอ่อนของชาวพุทธเราคือไม่เข้าใจว่าพุทธเถรวาทของเรามีเอกลักษณ์อย่างไร
ซึ่งเราต้องอ้างอิงว่าของเดิมเป็นอย่างไร แล้วบิดเบือนไปอย่างไร บางคนไปเปลี่ยนหลักการของเดิมให้มาครอบคลุมการปฏิบัติของตน ซึ่งมันเป็นผลร้ายระยะยาวที่ทำให้แก่นเดิมแท้หายไป หลายคนเข้าใจคำว่าธรรมกายคือวัดธรรมกายไปแล้ว ธรรมกายเป็นคำเดิมในพระไตรปิฎกแปลว่า กองแห่งธรรม แต่ธรรมกายเอาไปอธิบายความหมายใหม่ เป็นองค์นิมิตที่ไปปฏิบัติกรรมฐานกัน ความหมายมันต่างกันอย่างสิ้นเชิง
"เป็นกรรมฐานที่เรียกว่าแต่งเป็นนิทานว่าเคยเกิดขึ้นแล้วหายไป แล้วก็ค้นพบใหม่โดยหลวงพ่อสด แต่ศิษย์สายหลวงพ่อสดโดยตรงยืนยันว่า สิ่งที่ธรรมกายสอนอยู่ไม่ใช่ เราไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญเหมือนเขา เราไม่บอกว่าเหมือนหรือต่าง แต่สรุปว่าวิชชาธรรมกายเป็นศัพท์บัญญัติใหม่ วิชากรรมฐานแบบนี้มีหรือไม่ในพระไตรปิฎก ยืนยันว่าไม่มี" พระมหาพงศ์นรินทร์ กล่าวอธิบาย
พระมหาพงศ์นรินทร์ กล่าวต่อไปในเรื่องการปฏิบัติธรรมของธรรมกายว่า เวลานั่งกรรมฐานให้มองลูกแก้วให้เห็นจนชินตา
เพื่อเอามาเป็นอารมณ์สมาธิตอนต้น กรรมฐานแนวนี้มีก่อนพุทธศาสนาเกิด ต่างจากกรรมฐานสี่สิบกองซึ่งไม่มีตัวตน เมื่อการปฏิบัติเป็นเช่นไรผลก็เป็นเช่นนั้น การเอาตัวตนเป็นศูนย์กลางของจักรวาล เป็นที่มาของการที่เขาอธิบายว่านิพพานเป็นอัตตา หรือการใช้คำประโลมโลกจำพวกรวยโคตรๆ นี่เป็นคำกระตุ้นกิเลสตลอดเวลา ทำไมเขาไม่รู้สึกอายที่จะเล่นกับความละโมบของตนเอง เราไม่ได้บอกว่าเขาถูกหรือผิด แต่ไม่ตรงตามหลักการเดิมของศาสนา