ยืดเวลาอีก1เดือน! ทุบแฟลตดินแดง

"ยืดเวลาทุบแฟลตดินแดงออกไปอีกเดือน"



หลังจากที่บอร์ดการเคหะแห่งชาติมีมติยืดเวลาการทุบแฟลตดินแดง จำนวน 20 อาคาร ได้แก่ อาคารที่ 1-8 และอาคารที่ 21-32 ออกไปก่อน

เพื่อให้องค์กรวิชาชีพทางด้านวิศวกรรม

อันได้แก่ สภาวิศวกรรมสถาน-แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ส.ว.ท.) และสภาวิศวกร เข้าไปตรวจสอบพื้นที่ซ้ำอีกครั้ง ซึ่งความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 18 พ.ค. ว่า

เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุม 4 ชั้น

4 สภา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ มีการประชุมแสดงความคิดเห็นปัญหาแฟลตดินแดง โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าหารือกัน

จากนั้นเวลา 15.00 น. นายวิระ มาวิจักขณ์

นายกสภาวิศวกร นายเอกสิทธิ์ ลิ้มสุวรรณ ผู้ทรงคุณวุฒิสภาวิศวกร ในฐานะประธานคณะทำงานสอบทานปัญหาอาคาร แฟลตดินแดง นางนิตยา จันทร์เรือง มหาผล ที่ปรึกษาสภาวิศวกร

ได้เปิดแถลงข่าวเกี่ยวกับแนวทางการตรวจสอบ

แฟลตดินแดง โดยนายวิระกล่าวว่า หลังจากที่ได้ดู ข้อมูลต่างๆ ของสถาบันเทคโนโลยีเอเชีย (เอไอที) แล้ว ยังไม่ครบถ้วน ทำให้ไม่สามารถให้คำวินิจฉัยได้ นอกจากนี้ การเคหะฯยังขอให้ ส.ว.ท.และสภาวิศวกร



เข้าไปตรวจสอบ ซึ่งจริงๆเป็นหน้าที่ของ

กรมโยธาธิการตามกฎหมาย ดังนั้น ทางสภาวิศวกรและ ส.ว.ท.จะไม่เข้าไปตรวจสอบ แต่ในสภาวะที่เร่งด่วนนี้จะเข้าสอบทานการตรวจสอบของเอไอทีว่าได้ตรวจสอบถูกต้องตามหลักวิชาการหรือไม่ ก่อนที่จะให้ความเห็น

โดยจะตั้งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทางวิศวกรรมโยธา

ประมาณ 7-8 คน ทั้งของ ส.ว.ท.และสภาวิศวกรรม ไปทำงานร่วมกันเป็นทีมเดียวกัน โดยจะเข้าไปดูในรายละเอียดและสอบทานวิธีการตรวจ สอบของเอไอที ก่อนที่จะไปให้ข้อเสนอแนะกับการเคหะฯ

ส่วนการที่จะทุบหรือไม่นั้นเป็นหน้าที่การเคหะฯ

ที่จะตัดสินใจ ส่วนระยะเวลาการทำงานที่การเคหะฯ ให้มา 7 วัน คงจะทำไม่ทัน คิดว่าประมาณ 30 วัน น่าจะให้ ความเห็นในเบื้องต้นได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุผลการใช้เวลาการตรวจสอบนานนั้น

จะทำทันต่อความต้องการอยากทราบข้อมูลของชาวบ้านหรือไม่ นายวิระกล่าวว่า การเคหะฯมีความกังวลต่อเรื่องนี้ เพราะเกรงว่าจะเกิดแผ่นดินไหวบ้าง แต่คิดว่าเวลา 30 วัน

กับการตัดสินใจ คงจะต้องทำงานด้วยความรอบคอบ

แต่จะทำให้ดีที่สุดโดยจะคำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้อยู่อาศัยและความปลอดภัย แต่จะไม่เกี่ยวข้องกับประโยชน์ของการเคหะฯ หรือสิทธิต่างๆ ส่วนการลงพื้นที่นั้น คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะลงได้ ซึ่งจะต้องประชุมสอบทานรายงานของเอไอทีเสร็จก่อน



ต่อข้อซักถามที่ว่า หากระยะเวลาอันใกล้นี้

เกิดแผ่นดินไหว ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อแฟลตดินแดงแล้วจะทำอย่างไร นายเอกสิทธิ์ ลิ้มสุวรรณ กล่าวว่า จากการตรวจสอบภาพถ่ายของเอไอที เบื้องต้นพบว่าก่อนหน้านี้

มีการบำรุงตามสภาพของการเคหะฯ

แต่เพื่อความสบายใจของผู้ที่อยู่อาศัย อีกทั้งในฐานะที่เป็นวิศวกรโครงสร้าง และมีประสบการณ์ยาวนาน พบว่าภาพที่ปรากฏจริงๆแล้วไม่ได้เลวร้ายจนเกินไป แต่การที่จะบอกว่าต้องทุบทิ้งนั้นจะต้องรอข้อมูลให้ชัดก่อน

ผู้สื่อข่าวถามว่า ระยะเวลาการตรวจสอบ

หากเห็นว่าอาคารไม่ปลอดภัย จะมีการอพยพผู้อาศัยก่อนหรือไม่ นายเอกสิทธิ์กล่าวว่า หากเห็นว่าอาคารจะพังคงจะต้องบอกการเคหะฯ แต่ไม่ใช่หน้าที่ของคณะกรรมการฯ

ในความเห็นส่วนตัวจากการอ่านรายงาน

และดูภาพถ่ายของเอไอที ถ้าตนเป็นเจ้าของอาคารยังเห็นว่าดีอยู่ แต่ผู้ที่จะรู้ว่าอาคารยังดีหรือไม่ก็คือเจ้าของเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่า จากที่พิจารณาดูจากรูปและวีดิโอของอาคารแล้ว ยังไม่ได้เลวร้ายตามที่ระบุอยู่ในรายงาน

ด้านการเคลื่อนไหวของชาวแฟลตดินแดง

ในวันเดียวกัน คณะกรรมการชุมชนเคหะดินแดง ประกอบด้วย นายปรุง ฤทัยธรรม ประธานแฟลตอาคารที่ 21-32 นายสุมิตร เสละพันธ์ นายวิโรจน์ สุขไพบูลย์ นายวสันต์ คงอยู่กลาง กรรมการแฟลต



และนายกิตติพันธ์ บุญเกลือ ตัวแทนแฟลตอาคาร

ที่ 1-8 ได้ประชุมร่วมกันถึงแนวทางการเคลื่อนไหวต้านการทุบแฟลต โดยที่ประชุมมีความเห็นร่วมกัน ขณะที่ยังรอให้สภาวิศวกรเข้ามาตรวจสอบโครงสร้างของตึกว่ามีความจำเป็นที่จะต้องทุบทิ้งหรือไม่

ชาวบ้านจะยังไม่มีการเคลื่อนไหวอะไร

โดยเชื่อว่าผลการตรวจสอบจะทำให้ปรากฏชัดเองว่าตึกยังมีความแข็งแรง แต่หากผลยังออกมาในแนวทางเดียวกับเอไอที ที่จะต้องให้ทุบสถานเดียวนั้น ชาวแฟลตดินแดง 3 หมื่นคนจะมีการเคลื่อนไหวใหญ่อย่างแน่นอน

ซึ่งในขณะที่กำลัง ประชุมอยู่นั้น มีโทรศัพท์

จากกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ แจ้งให้นายปรุงนำตัวแทนชาวบ้านเข้าไปพบนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รมว.การพัฒนา สังคมฯ เพื่อชี้แจงถึงปัญหาความเดือดร้อน

นายกิตติพันธ์กล่าวว่า หากผลออกมาว่าต้องทุบ

ชาวบ้าน 6 พันครอบครัวจะไปอยู่ที่ไหน ทางออกที่ดีในขณะนี้ควรพบกันครึ่งทาง ที่ทรุดโทรมซ่อมได้ก็ซ่อมไปก่อน แล้วให้เวลาชาวบ้านอีก 5 ปี บอกกันไว้ล่วงหน้าเมื่อถึงเวลานั้น แม้ทุกคนจะไม่อยากให้ทุบเพราะรู้ดีว่ามันยังมั่นคงแข็งแรง

แต่หากจะต้องทุบกันจริงๆ เชื่อว่าคงเตรียมใจไว้แล้ว

ขอให้ชาวบ้านมีเวลาเตรียมตัวบ้าง แต่ก่อนทุบต้องคุยกันให้ชัดเจนว่าจะให้ค่าชดเชยมากพอที่ชาวบ้านสามารถหาที่อยู่ได้หรือไม่ ที่จะชดเชยห้องละ 2.5 แสน คงไปไหนไม่ได้ และเชื่อว่าหากออกไปแล้วจะไม่ได้กลับเข้ามาอยู่ที่เดิมแน่นอน



ดังนั้นคนที่จะอยู่ที่เดิมจะต้องได้รับความมั่นใจ

ว่าจะได้กลับมาเมื่อสร้างอาคารใหม่เสร็จ ส่วนการจะเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไปนั้น ต้องฟังเสียงชาวบ้านส่วนใหญ่ก่อนว่าจะทำอย่างไร แต่เชื่อว่า 70% ไม่ยอมให้ทุบแน่นอน ถึงวันนั้น จะได้เห็นพลังชาวแฟลตดินแดง และมีกลุ่มเอ็นจีโอเข้ามาช่วยด้วย

นายกิตติพันธ์กล่าวว่า เรื่องทุบตึกทำให้แกนนำชุมชน

แฟลตดินแดงแตกออกเป็นสองฝ่าย กลุ่มหนึ่งอยากได้เงินชดเชยจากการทุบ โดยกลุ่มนี้มีบ้านอยู่ชานเมืองหรือมีคอนโดฯรองรับการย้ายที่อยู่ บางคนเป็นคนต่างจังหวัด อยากได้เงินชดเชยเพื่อกลับไปอยู่บ้าน

หรือบางคนตัวไม่ได้อยู่ที่นี่แต่ปล่อยห้องให้คนอื่นเช่าอยู่แทน

การถูกทุบจึงไม่เดือดร้อน เอาเงินดีกว่าจะไปสู้ให้เหนื่อยทำไม บางคนเป็นถึงประธานแฟลตแต่กลับวางเฉย ส่วนกลุ่มที่เป็นชาวบ้านที่ยากจนจริงๆ อยู่ที่นี่มานานไม่รู้จะไปไหนจึงออกมาคัดค้านเต็มที่

และที่บอกว่าจะทุบเฉพาะตึก 1-8 และ 21-32 นั้น

อย่านึกว่าตึกอื่นจะรอด เชื่อเป็นการหักแขนหักขาทีละนิด เพราะโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามโครงการพัฒนาชุมชนดินแดงนั้นใช้พื้นที่มากครอบคลุมทุกอาคาร



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการศึกษาแผนผัง

แม่บทการพัฒนาพื้นที่และฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ที่การเคหะแห่งชาติว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัทครีเอทีฟ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ร่วมกับบริษัท เอส เจ เอ ทรีดี จำกัด และบริษัท เอเซเว่น คอร์ปอเรชั่น

ร่วมกันทำการศึกษาวิเคราะห์โครงการ

และจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ เมื่อปี 2545 โดยมีการเสนอแผนการเปลี่ยนชุมชนให้เป็นย่านพักอาศัยเปิด ใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อการพาณิชย์และพักอาศัย เพื่อให้ได้ผลตอบแทนทางธุรกิจสูงสุด

มีการออกแบบห้องพักอาศัยไว้ 2 แบบ

คือ หน้ากว้าง 5 เมตร ลึก 8.35 เมตร และกว้าง 4 เมตร ลึก 10.4 เมตร ในพื้นที่รวม 41.25 ตร.ม. มีเงื่อนไขห้ผู้เช่าเดิมมีสิทธิพัก 1 หน่วยเดิมต่อ 1 หน่วยใหม่อัตราเช่าเดือนละ 2,000 บาท

ซึ่งเป็นราคาที่กำหนดไว้เมื่อ 5 ปีก่อน

และเชื่อราคาใหม่น่าจะสูงกว่านี้ ขณะที่ปัจจุบันชาวแฟลตดินแดงจ่ายค่าเช่าเดือนละประมาณ 300 บาทเท่านั้น ทำให้เป็นจุดหนึ่งที่ชาวบ้าน เชื่อว่าจะทำให้ไม่สามารถเช่าอยู่ได้



ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์