“เรื่องเล่าเช้านี้” รีบติดต่อตำรวจชุดกู้ระเบิด ขอนัดมอบชุดเก็บกู้ระเบิด 9 ต.ค.นี้
หลังถูกตีแผ่รับเงินบริจาคเกือบปี แต่ของยังไม่ถึงมือจนท. “ผู้การนราฯ” แฉซ้ำ เอกชนรับติดกระจกกันกระสุนให้ฟรี แต่วิ่งขึ้นลงกรุงเทพฯหลายเที่ยว เบี้ยเลี้ยง-น้ำมัน หมดไป 4 แสนพอๆ กับซื้อเอง ส่วนที่เหลือได้เครื่องปั่นไฟ 4 ตัว สรุปแล้วไม่คุ้ม
กรณีรายการ“เรื่องเล่าเช้านี้”ทางไทยทีวีสีช่อง 3 เปิดรับบริจาคในชื่อ"กองทุนเรื่องเล่าเช้านี้เพื่อสนับสนุนอุปกรณ์แก่เจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้ระเบิด"
ตั้งแต่วันที่ 31ต.ค.56 เพื่อนำเงินบริจาคที่มาจากธารน้ำใจของมวลชนที่ห่วงใยในความเป็นความตาย ส่งมอบให้กับเจ้าหน้าที่แต่นับจากวันนั้น จนถึงวันนี้ยังไม่มีชุดเก็บกู้รายใดในพื้นที่3 จังหวัดชายแดนใต้ได้รับเงินบริจาค หรืออุปกรณ์ในการเสี่ยงตายเลยแม้ระยะเวลาจะผ่านมาเนิ่นนานเกือบครบปีแล้วก็ตาม
ล่าสุด พล.ต.ต.พัฒนาวุฒิ อัครนาวิน ผบก.ภ.จว.นราธิวาส เปิดเผย “เดลินิวส์ออนไลน์”ว่า
ตั้งแต่มีการเปิดรับบริจาคดังกล่าวจนถึงขณะนี้ได้เพียงเครื่องปั่นไฟ4 เครื่องเท่านั้น อีกทั้งการช่วยเหลือด้านอื่นๆ ยังก่อความเสียหายให้กับหน่วยงานอาทิ 1.การซ่อมแซมห้องปฏิบัติงานใช้ระยะเวลาการซ่อมแซมนานถึง1 ปี เริ่มซ่อมตั้งแต่ปลายปี 56เพิ่งจะแล้วเสร็จเมื่อเดือนส.ค.57ที่ผ่านมา จนทำให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่เกือบโดนตั้งคณะกรรมการสอบสวน เนื่องจากทีมงานของเอกชนดังกล่าวทำงานล่าช้าเพราะใช้คนนอกพื้นที่เข้ามาทำงาน
2.การติดตั้งกระจกกันกระสุนรถ 2 คันใช้ระยะเวลาติดตั้งกว่า 1ปี ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสูญเสียงบประมาณไปกับค่าน้ำมันค่าเดินทาง ค่าเบี้ยเลี้ยงเกือบ 400,000 บาทเนื่องจากภาคเอกชนให้ทางหน่วยขับรถขึ้น-ลง จ.นราธิวาส-กรุงเทพหลายรอบ ซึ่งงบประมาณที่สูญเสียไปขนาดนี้มีมูลค่าเท่ากับราคาติดตั้งกระจกกันกระสุนซึ่งหากให้ทางหน่วยติดตั้งเองจะสะดวกและรวดเร็วกว่า
ทางด้านแหล่งข่าวจากชุดทำงานEOD รายหนึ่งกล่าวกับ “เดลินิวส์ออนไลน์”เพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาเกือบ1 ปีทีมงานของเอกชนรายดังกล่าว
ได้เรียกตัวเจ้าหน้าที่ไปกรอกข้อมูล และถามไซส์ของชุดบอมบ์สูทหลายครั้งมาก ไม่ใช่การวัดตัวอย่างที่เป็นข่าว และยังได้แจ้งมาตลอดว่าวันนั้น-วันนี้จะได้ของ ผัดวันกับเรามาเรื่อยๆ จนกระทั่งเรื่องแดงขึ้นมาจึงมีการติดต่อ ล่าสุดว่าในวันที่ 9ต.ค.นี้จะนำชุดบอมบ์สูทมามอบให้โดยให้เหตุผลว่าต้องสั่งของจากต่างประเทศ
“อยากให้ประชาชนเข้าใจว่าชุดบอมบ์สูทที่กล่าวอ้างนั้น มีเพียงชุดเสื้อ รองเท้าและหมวก ซึ่งเรียกกันว่า'อุปกรณ์ป้องกันชีวิตส่วนบุคคล'ไม่ใช่ 'อุปกรณ์เก็บกู้ระเบิด'อย่างที่เอกชนรายนี้กล่าวอ้าง เพราะเป็นการใช้คำที่ผิดความหมาย” แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวจากเจ้าหน้าที่ตำรวจEOD ชุดภูธรจังหวัดยะลาให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า
ในช่วงแรกของการเปิดรับบริจาคเงินเคยมีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่มาสอบถามว่าทางหน่วยต้องการอุปกรณ์ใดหรือไม่ ก็ได้ให้รายละเอียดไปแต่จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่เคยได้รับอะไรแม้แต่ชิ้นเดียว มีเพียงการถามไซส์เสื้อตามธรรมดาเท่านั้น ซึ่งชุดที่ใช้อยู่ปัจจุบันคือชุดหมีที่นักบินใส่กันทั่วไป ให้ความคล่องตัวในการทำงานสามารถซื้อได้จาก ทบ. ในราคา1,500 บาท ส่วนชุดหมีของต่างประเทศก็ไม่ต่างจากของ ทบ.เพียงแต่ช่วยกันไฟได้ระดับหนึ่งเท่านั้น
“จริงๆแล้วทางหน่วยไม่ได้ต้องการสิ่งของใด ที่ผ่านมาแม้ไม่มีสิ่งของพวกนี้เจ้าหน้าที่ทุกคนก็สามารถทำงานได้ เพราะใช้ประสบการณ์แค่อยากให้ทุกคนช่วยตรวจสอบว่าเงินบริจาคดังกล่าว ไปตกหล่นอยู่ตรงไหน อยากให้สังคมได้รับรู้ว่าความจริงแล้วคืออะไร และถึงแม้เงินจำนวนนี้จะมาไม่ถึงก็ไม่เดือนร้อน เพราะเรื่องจริงเป็นอย่างไรทุกคนก็ทราบดี” แหล่งข่าวกล่าวทิ้งท้าย
สำหรับเจ้าหน้าที่ชุดทำงานEOD ใน 3จังหวัดชายแดนใต้ และอีก4 อำเภอใน จ.สงขลามีจำนวนรวมทั้งสิ้น 243นาย แบ่งเป็น 4หน่วยงาน
คือ 1.EODภูธรจังหวัดซึ่งมีจังหวัดละ1 ชุด ชุดละประมาณ40 คน 2.EODศชต. 3.EOD ตชด.และ 4.EOD ฉก.อโณทัยของทหาร โดย EOD3 ชุดหลังจะหมุนเวียนกันทำงานในพื้นที่ผลัดละ6 เดือนถึง1 ปีซึ่งเมื่อตัดกำลังทหารออกแล้วจะมีชุด EODรวมไม่เกิน 200นาย..