ติงม.รวยแต่ลูกศิษย์ตกงาน-หนี้
เมื่อวันที่ 25 กันยายน นายกฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังหารืออย่างไม่เป็นทางการ กับคุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ประธานกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) นายวิชัย ริ้วตระกูล รองประธาน กกอ. และ นพ.กำจร ตติยกวี เลขาธิการ กกอ.ว่า ได้หารือ 4 ประเด็นหลัก โดยประเด็นแรก คือ การพัฒนาอุดมศึกษาในภาพรวม จะต้องพัฒนาไปสู่เป้าหมายของประเทศ และเป้าหมายของแต่ละมหาวิทยาลัยได้อย่างไร เช่น การผลิตบัณฑิตและการวิจัย เป็นต้น เรื่องนี้ กกอ.ต้องไปคุยกับมหาวิทยาลัยว่าต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนเครื่องมืออะไรบ้าง เพื่อนำไปสู่การพัฒนามหาวิทยาลัยหรือการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยใหม่ โดยต้องมาดูกันทั้งระบบตั้งแต่การพัฒนาครูแนวใหม่ การให้ทุนการศึกษา การประเมินคุณภาพมหาวิทยาลัย เป็นต้น
นายกฤษณพงศ์กล่าวต่อว่า ประเด็นที่ 2 บทบาทของ กกอ.ที่ต้องมาช่วยดูคุณภาพของอุดมศึกษา เนื่องจากขณะนี้มหาวิทยาลัยรับนักศึกษาจำนวนมาก และเปิดหลักสูตรเฟ้อ จนกระทบต่อคุณภาพการศึกษา และที่สำคัญทำให้นักเรียน ผู้ปกครอง และสถานประกอบการเกิดการสูญเสียเงินและเสียเวลาซึ่งปัญหาส่วนหนึ่งมาจาก กกอ.ไม่มีอำนาจและบทบาทที่จะควบคุมมหาวิทยาลัยที่ไม่ดำเนินการจัดการการเรียนการสอนให้เป็นไปตามมาตรฐานได้เพราะมหาวิทยาลัยแต่ลแห่งมีพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยของตนเอง และให้อำนาจสภามหาวิทยาลัยในการดำเนินการต่างๆ ดังนั้น ต้องทำให้ กกอ.มีบทบาทและอำนาจที่จะเข้ามาจัดการปัญหาต่างๆ ได้ ซึ่งร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา น่าจะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการแก้ปัญหาอุดมศึกษาได้ในระดับหนึ่ง ประเด็นที่ 3 ต้องดูเรื่องการผลิตและพัฒนาครู โดยเฉพาะกลุ่มคณะศึกษาศาสตร์และครุศาสตร์ จะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองใหม่ ส่วนจะต้องปรับเปลี่ยนอย่างไรต้องมาช่วยกันดู และประเด็นที่ 4 การคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบรับตรงที่เป็นปัญหาทำให้นักเรียนวิ่งรอกและเสียเงินจำนวนมากนั้นต้องมาดูว่าจะแก้ไขอย่างไร
"จากข้อมูลเฉลี่ย10 ปี พบว่าใน 3 คนที่จบมหาวิทยาลัย มีเพียง 1 คน ที่ทำงาน แต่ไม่รู้ว่าจ้างตามวุฒิที่จบมาหรือไม่ คนที่ไม่ทำงานเป็นเพราะอะไร ปัญหาการที่เด็กเบี้ยวหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ทั้งหมดถือว่าเป็นการสูญเสียทางการศึกษา ดังนั้น เราจะต้องแก้ปัญหาการสูญเสียดังกล่าวก่อนที่จะพัฒนามหาวิทยาลัยให้ก้าวต่อไปข้างหน้า
โดยมหาวิทยาลัยจะต้องแจ้งข้อมูลต่อสาธารณะ เช่น ตัวเลขการมีงานทำของบัณฑิตในสาขาต่างๆ รวมถึงเงินเดือนที่บัณฑิตได้รับ เพื่อเป็นข้อมูลให้นักเรียนและผู้ปกครองตัดสินใจว่าจะเข้าเรียนในสาขาหรือสถาบันไหน และลดการสูญเสียทางการศึกษาด้วย อย่างไรก็ตามมหาวิทยาลัยไม่ควรมีรายได้ ในขณะที่ลูกศิษย์ต้องตกงานและเป็นหนี้ หรือมหาวิทยาลัยมีรายได้ แต่ผู้เรียนและรัฐเสียประโยชน์" นายกฤษณพงศ์กล่าว