เตรียมดันกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึงเข้า “ครม.ประยุทธ์” ปีใหม่ 58 หลังจ้างจุฬา-เอกชนฯศึกษาเปิดเส้นทางใหม่
วันที่ 9 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรอดีตนายกรัฐมนตรี ได้มีมติ ครม. เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2555 ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับองค์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน องค์การมหาชน (อพท.) ศึกษาความเหมาะสมโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงจ.เลย และเมื่อวันที่ 29 พ.ย.2556 อพท.ได้มอบหมายให้กลุ่มที่ปรึกษานำโดยศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับบริษัท แกรนด์เทค จำกัด และบริษัทไทยซิสเทมเอนไว แอนด์ เอนจิเนียริ่งจำกัดเป็นผู้ดำเนินการ
ล่าสุดทาง อพท.ได้นำผลการศึกษาที่ได้ไปจัดประชุมสัมมนา
สรุปแนวเส้นทางและรูปแบบที่เหมาะสมโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง โดยนำเสนอทางเลือก5 แนวทาง คือ ทางเลือก เอ บี ซี ดี และอี ซึ่งจากผลการศึกษาได้ข้อสรุปว่าทางเลือก บี มีความเหมาะสมในการก่อสร้างที่สุดมีความยาว 4.40 กม. สถานีต้นทาง อยู่ในเขตอุทยานฯภูกระดึง ใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมท้องถิ่นเลยและภาคอีสานในการออกแบบ ห่างจากที่ทำการอุทยานฯศูนย์บริการนักท่องเที่ยวศรีฐานไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ประมาณ 3.50 กม. โดยใช้ทางหลวงชนบทลย.3114 ซึ่งใกล้กับบ้านห้วยเดื่อไปยังสถานีปลายทางซึ่งใช้รูปทรงใบเมเปิลสัญลักษณ์ภูกระดึงในการออกแบบ ตั้งอยู่ห่างจากบริเวณหลังแป ไปทางทิศตะวันตก 600 เมตรระยะจากสถานีปลายทางไปยังศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวาง 3.7 ม. เป็นเส้นทางจากผาหมากดูกไปยังศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวาง
ทั้งนี้การก่อสร้างจะใช้เสาจำนวน 7 ต้นที่นำไปติดประกอบโดยจะไม่มีการตัดต้นไม้
และใช้เฮลิคอปเตอร์ในการดำเนินการขนส่งวัสดุก่อสร้างทางอากาศพร้อมใช้กระเช้าไฟฟ้าในรูปแบบเก๋ง Mono cable detachable gondola-MDG8 ที่นั่ง ซึ่งเหมาะกับสภาพภูมิอากาศของภูกระดึงขนส่งผู้โดยสารได้ 4,000 คนต่อชั่วโมงในขณะที่ผลการศึกษาของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน จ.เลย ระบุว่า จะสามารถรับนักท่องเที่ยวได้วันละ 2 หมื่นคนเฉลี่ย ปีละ 7 ล้าน อย่างไรก็ตามด้วยสถานีต้นทางของแนวทางเลือกบี อยู่ในเขตอุทยานฯที่ไม่มีเส้นทางไปถึง จึงจำเป็นต้นปรับปรุงเส้นทางในอุทยานฯบริเวณแนวขอบของพื้นที่อุทยานฯเพื่อเชื่อมให้เข้าถึงตัวสถานีบริการนักท่องเที่ยวได้ โดยจะมีระยะทางประมาณ 2.5 กม. จากถนนทางหลวงชนบทลย.3114 บริเวณบ้านห้วยเดื่อไปยังสถานีบริการนักท่องเที่ยว
ขณะที่ พ.อ.นาฬิกอติภัค แสงสนิทผอ.อพท.กล่าวว่าการดำเนินการของ อพท.เป็นไปตามที่มติ ครม. มอบหมาย
โดยที่ผ่านมา อพท.ได้จัดรับฟังความเห็นในพื้นที่ จ.เลยแล้ว 2 ครั้งเมื่อเดือน เม.ย.และส.ค.ที่ผ่านมา และจะจัดรับฟังความคิดเห็นนอกพื้นที่โดยจัดขึ้นที่ กทม.อีกครั้งในเดือน ต.ค.และ พ.ย.ที่จะถึงนี้ เพื่อให้ประชาชนอกจังหวัดเลยได้แสดงความคิดเห็นด้วยจากนั้นจะนำผลการรับฟังความคิดเห็นที่ได้เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ อพท. ในเดือน ธ.ค. ก่อนนำเสนอผลการศึกษาให้กับรัฐบาลในช่วงต้นปี 2558 ทั้งนี้จากผลการรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมาประชาชนในพื้นที่ จ.เลย โดยเฉพาะในพื้นที่ ต.ศรีฐาน อ.ภูกระดึงจะได้ประโยชน์สูงสุดทั้งในเรื่องอาชีพ และเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในพื้นที่เพราะนักท่องเที่ยวสามารถมาเที่ยวภูกระดึงได้ทุกวัน ยกเว้นฤดูฝนที่มีการปิดอุทยานฯส่วนข้อห่วงใยของภาคประชาชนหรือเอ็นจีโอประมาณ 15-20 ข้อเราก็รับฟังและจะดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้เกิดความเหมาะสมต่อไปอย่างไรก็ตามในเรื่องขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวของภูกระดึงนั้น สำหรับงบประมาณในการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าอยู่ที่ 590-600 ล้านบาท โดยอาจจะมอบให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย หรืออพท. ดำเนินการก็แล้วแต่ผลการตัดสินใจของ ครม.ในอนาคต
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้โครงการก่อสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงกรมอุทยานฯได้ใช้ผลการศึกษา เมื่อปี 2543
ซึ่งกรมอุทยานฯ สมัยเป็นกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ว่าจ้างบริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด ศึกษาพิจารณาความเป็นไปได้โดยผลการศึกษาได้เลือกเส้นทางไว้ 2 จุด คือ แนวทางเลือกที่ 1 บ้านศรีฐาน-หลังแปอยู่ทางทิศใต้ของทางขึ้น-ลงปัจจุบัน ห่างจากเส้นทางเดิม 1 กม. ส่วนแนวทางเลือกที่2 เส้นทางบ้านไร่ใต้-คอกเมย อยู่ด้านตะวันตก ใกล้กับบ้านไร่ใต้ ซึ่งจะเป็นเขตอ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ ระยะความยาวเคเบิล 4,299 ม. ซึ่งต้องมีการตัดต้นไม้ทั้ง2 ทางเลือก และทางเลือกที่ 2 ยังส่งผลกระทบต่อพื้นที่ป่าปิดของอุทยานฯ ภูกระดึงบางส่วนด้วยอย่างไรก็ตามทางอุทยานฯ มีความเป็นห่วงในเรื่องขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวของภูกระดึง ซึ่งจำกัดนักท่องเที่ยวจำนวน 5,000 คนต่อวันหากมีกระเช้าไฟฟ้าและบริหารจัดการไม่เหมาะสมอาจส่งผลกระทบสภาพแวดล้อมที่โดดเด่นของภูกระดึงได้