สธ.ไทย เฝ้าระวังติดตามไวรัสอีโบลา ​ชี้ไม่ติดเชื้อทางทางเดินหายใจ ติดจากเลือ

สธ.ไทย เฝ้าระวังติดตามไวรัสอีโบลา ​ชี้ไม่ติดเชื้อทางทางเดินหายใจ ติดจากเลือ

สธ.ไทย เฝ้าระวังติดตามไวรัสอีโบลา ​ชี้ไม่ติดเชื้อทางทางเดินหายใจ ติดจากเลือด สารคัดหลั่ง

จากกรณีข่าวการระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลา (Ebola virus) ใน 3 ประเทศของทวีปแอฟริกา

คือกินี (Guinea) ไลบีเรีย (Liberia) และเซียร์ราลีโอน (Sierra Leone) โดยองค์การอนามัยโลก สรุปยอดผู้ป่วย ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2557 พบผู้ป่วย  1,093 ราย  เสียชีวิต 660 ราย พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รายล่าสุดที่พบในประเทศไนจีเรีย เสียชีวิตเมื่อ 25 ก.ค.2557 ปัจจุบันโรคนี้ยังไม่มีวัคซีนหรือยารักษาเฉพาะ   

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ว่า ประเทศไทยถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ ​

แต่ก็​ได้จัดระบบเฝ้าระวังและป้องกันโรคนี้ 3 มาตรการหลัก ได้แก่ 1.ให้สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ติดตามสถานการณ์โรคจากองค์การอนามัยโลกอย่างใกล้ชิด ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เฝ้าระวังผู้ป่วยโดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือคนไทยที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค ​เพราะไม่มียารักษาต้องค้นหาผู้ป่วยให้เร็วที่สุด  2. ให้โรงพยาบาลทุกแห่ง เข้มมาตรการดูแลรักษาหากมีผู้ป่วยมีอาการในข่ายสงสัย  โดยใช้มาตรฐานเดียวกับการดูแล ผู้ป่วยโรคติดต่อที่มีอันตรายสูง เช่น ไข้หวัดนก โรคซาร์ส เป็นต้น และ 3. ให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เตรียมความพร้อมในการตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งไทยมีความร่วมมือใกล้ชิดกับศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา (US-CDC) ในการตรวจวิเคราะห์เชื้อไวรัสชนิดนี้ Nigeria)

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า  ปัจจุบันวงการระบาดของโรคอยู่ใน 3 ประเทศ

ส่วนไนจีเรีย เกิดจากการเดินทางมาจากประเทศไลบีเรีย โดยมาตรการเฝ้าระวังจะเพิ่มขึ้นตามวงการระบาดที่เพิ่มขึ้น โดยอีโบล่ามีช่องทางการติดต่อโรคเหมือนโรคเอดส์ ไวรัสตับอักเสบ คือ ติดต่อจากสารคัดหลั่ง เลือด โดยยังไม่พบการติดต่อทางทางเดินหายใจ ทำให้การติดต่อของเชื้อเป็นไปได้ช้ากว่าโรคที่ติดต่อทางทางเดินหายใจ จึงพบว่า อัตราการติดเชื้อเกิดอย่างช้าๆ แต่ที่ควบคุมการระบาดยังไม่ได้ เพราะวัฒนธรรมและลักษณะประเทศของแอฟริกา ที่ไม่มีน้ำสะอาดเพียงพอ อุปกรณ์ป้องกัน หรือการฝั่งศพที่ชาวบ้านยังใช้มือเปล่า ทำให้โดนสารคัดหลั่งจากศพจนติดเชื้อจึงควบคุมได้ยาก

นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับระยะฟักตัวของอีโบล่าจะไม่เกิน 7 วัน แต่องค์การอนามัยโลก ยังระบุว่าประมาณ 2-21 วัน

โดยมีอัตราการตายสูงร้อยละ 50-90 ซึ่งจากการติดตามพบว่า มีประชาชนที่เดินทางมาจากแถบประเทศที่เกิดการระบาด 100 รายต่อเดือน และอาศัยอยู่ไม่นานนัก โดยระบบเฝ้าระวังการระบาดจะให้ประชาชนที่เดินทางเข้ามาจากประเทศต้องสงสัยรายงานตัวและลงชื่อ ที่อยู่ เพื่อติดตามอาการเจ็บป่วย เพื่อให้เฝ้าระวังโรคได้ทัน ส่วนคนไทยที่จะเดินทางไป 3 ประเทศดังกล่าว หากไม่มีความจำเป็นก็ยังไม่ควรเดินทางไป และหากจำเป็นต้องเดินทางไป ต้องรายงานตัวที่ประเทศเซเนกัล เพราะมีสถานกงศุลอยู่ ฉะนั้นมาตรการขณะนี้ถือว่าเพียงพอ อย่างไรก็ตาม การเฝ้าระวังโรคเมอร์โควี ยังถือว่าต้องทำอย่างเข้มข้นมากกว่า

นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคอีโบลา เป็นกลุ่มโรคไข้เลือดออกชนิดหนึ่ง เป็นโรคติดเชื้อจากไวรัสชนิดเฉียบพลันรุนแรง 

​อาการของผู้ป่วยคือมีไข้สูงทันที อ่อนเพลียปวดกล้ามเนื้อและปวดศีรษะมาก ตามด้วยอาการเจ็บคอ อาเจียน ท้องเสีย และมีผื่นนูนแดงขึ้นตามตัว ในรายที่อาการรุนแรงหรือในบางรายที่เสียชีวิตจะมีอาการเลือดออกง่าย โดยมักเกิดร่วมกับภาวะตับถูกทำลาย ไตวาย มีอาการทางระบบประสาทส่วนกลางและช็อก อวัยวะหลายระบบเสื่อมหน้าที่  ​ขณะนี้ องค์การอนามัยโลกยังไม่มีคำแนะนำห้ามเดินทางเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง อย่างไรก็ดีในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสอีโบลา  มีข้อแนะนำดังนี้  ในกลุ่มประชาชนทั่วไป  ขอให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่าที่นำเข้า โดยไม่ผ่านการตรวจโรคทั้งที่ป่วยหรือไม่ป่วย  และหลีกเลี่ยงการการรับประทานเนื้อสัตว์ป่าที่ป่วยตายโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะสัตว์จำพวกลิง หรือค้างคาว หรืออาหารเมนูพิสดารที่ใช้สัตว์ป่า หรือสัตว์แปลกๆ มาประกอบอาหาร    

“หากประชาชน  มีอาการป่วย เช่น มีไข้สูงเฉียบพลัน อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บคอ อาเจียน ท้องเสีย และมีผื่นนูนแดงตามตัว ขอให้รีบพบแพทย์ทันที โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางกลับจากพื้นที่ที่มีการระบาดโรคชนิดนี้   ขอให้แจ้งประวัติการเดินทางให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อให้การดูแล ได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที เพื่อป้องกันการเสียชีวิต” นพ.โสภณ กล่าว

ทั้งนี้ เชื้อไวรัสอีโบลา มี 5 สายพันธุ์ โดยมี 3 สายพันธุ์ที่รุนแรง ได้แก่สายพันธุ์ซูดาน สายพันธุ์ซาร์อี และสายพันธุ์บันดิบูเกียว

ทำให้เกิดการระบาดในแอฟริกา อัตราการป่วยตายร้อยละ 25-90 เชื้อไวรัสชนิดนี้จะติดต่อกันได้ในช่วงหลังปรากฎอาการไข้แล้ว โดยติดทางการสัมผัสเลือด อุจจาระ หรือเหงื่อของผู้ป่วยโดยตรง หรือมีเพศสัมพันธ์หรือสัมผัสศพผู้เสียชีวิตจากโรคนี้โดยไม่มีการป้องกัน ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ โทร 0-2590-3159, 3538 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์