สธ.เตือน! ยากวาดลิ้นเถื่อน มีอันตราย

"เตือน ภัยจากยากวาดลิ้น"



ภัยยากวาดลิ้นที่มีส่วนผสมของสารตะกั่ว ทำให้ หนูน้อยวัย 1 ขวบต้องกลายเป็นเด็กมีอาการทางประสาทและสมองรายนี้

เปิดเผยโดย นพ.มรกต กรเกษม รมช. สาธารณสุข

พร้อมด้วย นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รศ.จุฬธิดา โฉมฉาย หัวหน้าหน่วยกุมารเวชศาสตร์ผู้ป่วยนอกและพิษวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์

คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล

และ ผศ.นพ.สัมมน โฉมฉาย เลขานุการคณะกรรมการบริหารศูนย์พิษวิทยา ศิริราช ร่วมกันแถลงข่าวที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เมื่อบ่ายวันที่ 2 พ.ค.

กรณีพบคนไข้เด็กอายุ 1 ขวบ

มีอาการทางประสาทและสมอง คือมีอาการเซื่องซึม กล้ามเนื้ออ่อนแรง พัฒนาการช้า ซีด คล้ายกับได้รับพิษตะกั่ว หลังศูนย์พิษวิทยาตรวจสอบแล้วพบว่ามีสารตะกั่วในเลือดสูงถึงขั้นอันตรายต่อสมอง

นพ.มรกตกล่าวว่า รพ.ศิริราช

ได้รับผู้ป่วยรายนี้มีอาการทางประสาทและสมองไว้รักษา เมื่อตรวจเลือดของเด็ก พบมีปริมาณสารตะกั่วในเลือดสูงถึง 61 ไมโครกรัม/ เดซิลิตร ถือเป็นระดับที่อันตรายมาก เนื่องจากเกินกว่ามาตรฐานปกติถึง 6 เท่า



จากการสอบถามแม่เด็กได้ข้อมูลว่า

ใช้ยากวาดลิ้นลูก รักษาอาการฝ้าขาวที่ลิ้นเด็กเกือบทุกวันในช่วง 7 เดือนแรก โดยยาดังกล่าวซื้อจากร้านขายยาย่านถนนสันติภาพ เขตป้อมปราบฯ กทม. จึงสั่งให้ อย.ตรวจสอบข้อมูล

และกำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด

ทั่วประเทศแจ้งเตือนประชาชน และตรวจสอบยากวาดลิ้นอย่างเข้มงวด หากพบยาผิดกฎหมายให้ ดำเนินคดีทันที

ด้าน นพ.ศิริวัฒน์กล่าวว่า

ผลการตรวจสอบร้านขายยาที่แม่ของเด็กระบุว่าซื้อยามากวาดลิ้นให้ลูก ชื่อร้านเภสัชไพศาล เป็นสถานที่ขายยาแผนปัจจุบัน เฉพาะยาบรรจุเสร็จ ที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ

ได้รับใบอนุญาตเลขที่ 191/2526

มีนางงามนิจ นิ่มไศละ เป็นผู้รับอนุญาต ในร้านมียากวาดลิ้นมีลักษณะเป็นผงสีดำ บรรจุในขวดพลาสติกใส ฝาสีเหลือง ไม่มีฉลาก ไม่มีเลขทะเบียนตำรับยา เข้าข่ายยาเถื่อน จึงเก็บตัวอย่าง

ส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

เบื้องต้นพบสารตะกั่วปนเปื้อนสูงถึง 6,971 ส่วนในตัวยา 1 ล้านส่วน สูงกว่าค่ามาตรฐานเกือบ 700 เท่า นอกจากนี้ ยังพบการปนเปื้อนของสารหนูถึง 7.4 ส่วนใน 1 ล้านส่วน



ขณะที่ค่ามาตรฐานกำหนดไม่เกิน 4 ส่วน

ใน 1 ล้านส่วน ได้ตรวจสอบร้านขายยาในบริเวณใกล้เคียง ไม่พบยา กวาดลิ้นดังกล่าวจำหน่ายแต่อย่างใด ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์ การแพทย์จะตรวจยืนยันผลซ้ำอีกครั้ง

เลขาธิการ อย. กล่าวอีกว่า

ปัญหาลิ้นเป็นฝ้าขาวจากน้ำนม ไม่จำเป็นต้องใช้ยากวาดลิ้น แต่ให้เด็กดูดน้ำตามหลังกินนม เพื่อล้างคราบนมออก หรือใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำทำความสะอาดลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้มให้ทั่วทั้งปากหลังกินนม

หากจำเป็นต้องใช้ยาป้ายลิ้น

ควรเลือกซื้อยาที่มีเลขทะเบียนตำรับยา ในการผลิตยาทั้งยาแผนโบราณและยาแผนปัจจุบัน ผู้ผลิตต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การผลิตที่ดี ตามมาตรฐานยาแผนโบราณที่กำหนดไว้

จะต้องไม่มีการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ใดๆ

และยอมให้มีการปนเปื้อนสารโลหะหนักในปริมาณที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย คือ สารหนูต้องไม่เกิน 4 ส่วนใน 1 ล้านส่วน สารแคดเมียมไม่เกิน 0.3 ส่วนใน 1 ล้านส่วน



สารตะกั่วต้องไม่เกิน 10 ส่วน

ใน 1 ล้านส่วน หากมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่ศูนย์พิษวิทยาและข้อมูลยา รพ.ศิริราช โทร. 0-2419-7007 ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เว้นวันหยุดราชการ และแจ้งเบาะแสที่สายด่วน อย. 1556 ตลอด 24 ชั่วโมง

ส่วน ผศ.นพ.สัมมนกล่าวถึง

ความรุนแรงของพิษตะกั่วว่า ในเด็กจะมีอาการแบบเฉียบพลัน คือ ปวดท้องรุนแรง อาเจียน ชักเกร็ง และเสียชีวิตได้ ส่วนผู้ใหญ่ มีอาการคอแห้ง กระหายน้ำ ปวดแสบท้อง คลื่นไส้ อาเจียน

ปากมีรสเฝื่อน ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ

กล้ามเนื้อไม่มีแรง อาจหมดสติได้ แต่หากได้รับสารตะกั่วในปริมาณน้อยๆ เป็นเวลานาน เช่น ผู้ที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสารตะกั่ว หรืออาศัยในพื้นที่ที่มีสารตะกั่วปนเปื้อน

การเกิดพิษจะเป็นแบบเรื้อรัง

คือมีอาการอ่อนเพลีย ซีด น้ำหนักลด ปวดท้องบ่อยๆ ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ อาจพบเส้นสีม่วงที่เหงือก มีอาการทางประสาท เซื่องซึม กระวนกระวาย คลุ้มคลั่ง ความจำเสื่อม กล้ามเนื้ออ่อนแรง ข้อมือข้อเท้าตก เดินไม่ตรงทาง ชัก หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้



ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์