ประชาชาติธุรกิจ
สภาวะโลกร้อนใกล้ตัวคนไทยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยยึดโมเดล GCMs ทำนายสถาน การณ์ พบทุกปีเดือน พ.ย.-ม.ค. อุณหภูมิสูงขึ้นเฉลี่ย 2.5-6 องศา ดึงภาคอีสานแล้งหนัก ระดับน้ำทะเลฝั่งอันดามันสูงขึ้น 8-12 มิลลิเมตร/ปี กัดเซาะชายฝั่งแหลมตะลุมพุก-น้ำเค็มรุกบางขุนเทียน พื้นที่เกษตรอาจเสียหายได้ถึง 22 ล้านไร่ทั่วประเทศ หากโลกไม่ดำเนินการใดๆ เลยที่จะแก้ไขปัญหานี้
ทุกวันนี้สภาวะโลกร้อนได้กลายเป็นปัญหาใกล้ตัวที่สร้างผลกระทบในวงกว้างทั้งเศรษฐกิจและสังคมอย่างมหาศาล จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยมีผลการศึกษาทางวิทยา ศาสตร์หลายสำนักเชื่อตรงกันว่า ในรอบระยะเวลา 100 ปีที่ผ่านมาอุณหภูมิ ของผิวโลกได้เพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมากและคาดการณ์ว่าในอีก 100 ปีข้างหน้านี้อุณหภูมิผิวโลกในอนาคตจะเพิ่มสูงขึ้น 2 องศาเซลเซียส และอาจเพิ่มสูงขึ้นถึง 6 องศาเซลเซียส ภายในปี 2100 หากไม่มีการดำเนินการใดๆ เลย
อุณหภูมิความร้อนบนโลกที่เพิ่มสูงขึ้นสังเกตได้อย่างชัดเจนจาก "หิมะ" ที่เคยปกคลุมบนยอดเขาคีรีมันจาโร ในแทนซาเนีย ทวีปแอฟริกา ได้ละลายเกือบหมดในระยะเวลาเพียง 7 ปีเท่านั้น ขณะที่แผ่นน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกเหนือได้ละลายไปแล้วถึง 20% ความหนาของแผ่นน้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือลดลงถึง 40% จาก 3 เมตร เหลือ 2 เมตร ภายในเวลา 30 ปี อุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อการไหลเวียนของกระแสน้ำอุ่น/กระแสน้ำเย็นในมหาสมุทร ทำให้การไหลเวียนของกระแสน้ำช้าลงจนก่อให้เกิดปรากฏการณ์ "เอล นิโญ/ ลา นีญา" บ่อยขึ้น
ล่าสุดสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (2537) ได้ใช้โมเดล GCMs คาดการณ์จากสถานการณ์โลกร้อนว่า ประเทศไทยอุณหภูมิจะสูงขึ้นอีก 2.5-6 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม ส่วนปริมาณน้ำฝนจะเท่าเดิม หรือเพิ่มขึ้น 40% ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจะแห้งแล้งมากขึ้น จากสภาวะอากาศแปรเปลี่ยนมีระยะเวลาของฤดูสั้นกว่าปกติ
ระดับน้ำทะเลด้านอ่าวไทยจะมีปริมาณเพิ่มขึ้น 1-2 มิลลิเมตร/ปี ซึ่งยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ฝั่งทะเลอันดามันอยู่ในเกณฑ์ที่น่าเป็นห่วงจากระดับน้ำทะเลที่จะสูงขึ้น 8-12 มิลลิเมตร/ปี มีผลอย่างมากต่อการกัดเซาะชายฝั่ง จุดที่เป็นอันตรายทั้งด้านอ่าวไทยก็คือบริเวณแหลมตะลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราช
นอกจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นแล้ว ยังมีผลต่อการรุกเข้ามาของ น้ำเค็ม ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร, ท่าปอม/คลองสองน้ำ ตำบลเขาคราม อำเภอเมืองกระบี่ ตลอดจนสภาพอากาศรุนแรงจากอุทกภัยและดินถล่มขยายตัวเพิ่มขึ้นในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่จังหวัดแพร่, อุตรดิตถ์, สุโขทัย, ลำปาง และตาก