ไทยระอุโลกร้อน วิกฤตแล้งถล่มอีสาน22ล.ไร่

ประชาชาติธุรกิจ

สภาวะโลกร้อนใกล้ตัวคนไทยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยยึดโมเดล GCMs ทำนายสถาน การณ์ พบทุกปีเดือน พ.ย.-ม.ค. อุณหภูมิสูงขึ้นเฉลี่ย 2.5-6 องศา ดึงภาคอีสานแล้งหนัก ระดับน้ำทะเลฝั่งอันดามันสูงขึ้น 8-12 มิลลิเมตร/ปี กัดเซาะชายฝั่งแหลมตะลุมพุก-น้ำเค็มรุกบางขุนเทียน พื้นที่เกษตรอาจเสียหายได้ถึง 22 ล้านไร่ทั่วประเทศ หากโลกไม่ดำเนินการใดๆ เลยที่จะแก้ไขปัญหานี้

ทุกวันนี้สภาวะโลกร้อนได้กลายเป็นปัญหาใกล้ตัวที่สร้างผลกระทบในวงกว้างทั้งเศรษฐกิจและสังคมอย่างมหาศาล จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยมีผลการศึกษาทางวิทยา ศาสตร์หลายสำนักเชื่อตรงกันว่า ในรอบระยะเวลา 100 ปีที่ผ่านมาอุณหภูมิ ของผิวโลกได้เพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมากและคาดการณ์ว่าในอีก 100 ปีข้างหน้านี้อุณหภูมิผิวโลกในอนาคตจะเพิ่มสูงขึ้น 2 องศาเซลเซียส และอาจเพิ่มสูงขึ้นถึง 6 องศาเซลเซียส ภายในปี 2100 หากไม่มีการดำเนินการใดๆ เลย

อุณหภูมิความร้อนบนโลกที่เพิ่มสูงขึ้นสังเกตได้อย่างชัดเจนจาก "หิมะ" ที่เคยปกคลุมบนยอดเขาคีรีมันจาโร ในแทนซาเนีย ทวีปแอฟริกา ได้ละลายเกือบหมดในระยะเวลาเพียง 7 ปีเท่านั้น ขณะที่แผ่นน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกเหนือได้ละลายไปแล้วถึง 20% ความหนาของแผ่นน้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือลดลงถึง 40% จาก 3 เมตร เหลือ 2 เมตร ภายในเวลา 30 ปี อุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อการไหลเวียนของกระแสน้ำอุ่น/กระแสน้ำเย็นในมหาสมุทร ทำให้การไหลเวียนของกระแสน้ำช้าลงจนก่อให้เกิดปรากฏการณ์ "เอล นิโญ/ ลา นีญา" บ่อยขึ้น

ล่าสุดสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (2537) ได้ใช้โมเดล GCMs คาดการณ์จากสถานการณ์โลกร้อนว่า ประเทศไทยอุณหภูมิจะสูงขึ้นอีก 2.5-6 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม ส่วนปริมาณน้ำฝนจะเท่าเดิม หรือเพิ่มขึ้น 40% ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจะแห้งแล้งมากขึ้น จากสภาวะอากาศแปรเปลี่ยนมีระยะเวลาของฤดูสั้นกว่าปกติ

ระดับน้ำทะเลด้านอ่าวไทยจะมีปริมาณเพิ่มขึ้น 1-2 มิลลิเมตร/ปี ซึ่งยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ฝั่งทะเลอันดามันอยู่ในเกณฑ์ที่น่าเป็นห่วงจากระดับน้ำทะเลที่จะสูงขึ้น 8-12 มิลลิเมตร/ปี มีผลอย่างมากต่อการกัดเซาะชายฝั่ง จุดที่เป็นอันตรายทั้งด้านอ่าวไทยก็คือบริเวณแหลมตะลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราช

นอกจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นแล้ว ยังมีผลต่อการรุกเข้ามาของ น้ำเค็ม ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร, ท่าปอม/คลองสองน้ำ ตำบลเขาคราม อำเภอเมืองกระบี่ ตลอดจนสภาพอากาศรุนแรงจากอุทกภัยและดินถล่มขยายตัวเพิ่มขึ้นในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่จังหวัดแพร่, อุตรดิตถ์, สุโขทัย, ลำปาง และตาก

3 กิจกรรมหลักที่ทำให้โลกร้อน จากน้ำมือมนุษย์ด้วยกันเอง

สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้รายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งทำให้ภาวะโลกร้อนมากขึ้นว่า ปัจจุบันไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียงแค่ 2.6 ตัน/คน/ปี แม้ว่ายังไม่เกินค่ามาตรฐานที่กำหนด แต่ควรเร่งสร้างกิจกรรมกระตุ้นจิตสำนึกให้คนไทยห่วงใยสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อช่วยกันยุติสภาวะโลกร้อน โดยเริ่มจากเรื่องใกล้ๆ ตัวก่อน อาทิ การประหยัดพลังงานไฟฟ้าและน้ำมันในชีวิตประจำวัน

ทั้งนี้ภาวะเรือนกระจกก็คือชั้นบรรยากาศของโลกได้ถูกปกคลุมด้วยก๊าซเรือนกระจก (คาร์บอนไดออกไซด์ 53%-ก๊าซมีเทน 17%-ก๊าซ โอโซน 13%-ก๊าซไนตรัสออกไซด์ 12%-ก๊าซซีเอฟซี 5%) มากเกินไป ในขณะที่ก๊าซเหล่านี้มีคุณสมบัติในการกักเก็บความร้อนได้ดี ดังนั้นแทนที่ความร้อนเหล่านี้จะถูกส่งผ่านออกไปนอกโลก กลับถูกชั้นบรรยากาศที่อุดมไปด้วยก๊าซเหล่านี้ "กักเก็บไว้" และสะท้อนกลับมายังพื้นผิวโลกอีกทีหนึ่ง ส่งผลให้โลกร้อนยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตามทางสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พบว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกิดจากน้ำมือมนุษย์ถึงร้อยละ 90 จาก 3 กิจกรรมใหญ่คือ 1) กลุ่มพลังงาน มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากเชื้อเพลิงฟอสซิลถึง 257 ล้านตัน หรือร้อยละ 80 ทำให้ภาคพลังงานของไทยเป็นตัวแปรสำคัญที่ปล่อยภาวะเรือนกระจกสูงกว่า 56% ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติจะนำเรื่องดังกล่าวไปหารือกับกระทรวงพลังงานเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นการเร่งด่วน

2) กลุ่มการเกษตร กิจกรรมทางการเกษตรส่วนใหญ่ร้อยละ 91 ที่ทำกันอยู่ ได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจก โดยปลดปล่อยก๊าซมีเทนและไนตรัสออกไซด์-คาร์บอนไดออกไซด์ สู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งก๊าซเหล่านี้มีคุณสมบัติในการดูดกลืนความร้อนโดยเฉพาะการปลูกข้าวปล่อยก๊าซมีเทนถึงร้อยละ 73 และการจัดการมูลสัตว์ในภาคปศุสัตว์ปล่อยก๊าซมีเทนร้อยละ 26 ผลวิจัยระบุว่าทั้งสองกิจกรรมปลดปล่อยก๊าซมีเทนออกมาประมาณ 3.3 ล้านตัน นอกจากนั้นภาคเกษตรยังปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ 70,000 ตัน และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ร้อยละ 16 ของปริมาณการปล่อยก๊าซทั้งหมดออกมาด้วย

3) กลุ่มการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและป่าไม้ มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) 36 ล้านตัน แต่มีการดูดซับ CO2 กลับคืนไปแค่ 13 ล้านตันเท่านั้น

เกษตรฯของบฯ 294 ล้านบาท ทำแผนชะลอการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ความหนาแน่นของก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มมากขึ้นได้ก่อให้เกิดความถี่ของการเกิดปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และการผลิตอาหาร ทำให้ประเทศไทยสูญเสียพื้นที่การเกษตร สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ ก่อให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหารและความอดอยาก โรคระบาดและโรคติดต่อในเขตร้อน

โดยในปี 2550 อุณหภูมิในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะแห้งแล้งมากขึ้น จากอุณหภูมิโดยเฉลี่ยที่สูงขึ้นกว่า 2.5-6 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ประสบปัญหาแล้งซ้ำซากมากกว่า 18 ล้านไร่ เช่น ลุ่มน้ำลำตะคอง และลำพระเพลิง (ตารางประกอบ)

แม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีพันธกรณีที่จะลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง แต่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เตรียม "แผนชะลอการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการเกษตร" ให้น้อยลงเพราะเห็นว่าปัญหาโลกร้อนได้สร้างผลกระทบโดยตรงต่อภาคการเกษตรกรรม ก่อให้เกิดภาวะความแห้งแล้งและอาจนำไปสู่การเป็น "ทะเลทราย" ได้ในอนาคต

ล่าสุดกระทรวงเกษตรฯได้เตรียมยื่นขอจัดสรรงบประมาณจำนวน 294 ล้านบาท จากรัฐบาลในเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อให้พื้นที่การเกษตรของประเทศที่เสี่ยงภัยแล้งจำนวน 131 ล้านไร่ ได้รับการดูแลป้องกันและแก้ไขปัญหาจากผลกระทบความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

รวมทั้งปรับปรุงระบบการเตือนภัยสามารถคาดการณ์สภาวะอากาศของประเทศไทยทั้งในระยะสั้นและระยะยาวให้มีประสิทธิภาพและแม่นยำกว่าที่เป็นอยู่และเพื่อลดปัญหาเรือนกระจก สร้างความสมดุลของสภาพอากาศควบคู่กันไป โดย แผนบรรเทาสภาวะโลกร้อนด้านการเกษตรจะใช้ระยะเวลา 4 ปี (2551-2554) ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ 3 ด้านคือ

1) การจัดการองค์ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก เน้นหนักการเก็บข้อมูลรวบ รวมงานศึกษาวิจัยต่างๆ ที่มีต่อสภาวะโลกร้อน เช่น โครงการศึกษาผลกระทบของไม้ยืนต้น การปลูกพืชไร่ การปรับตัวของชนิดและพันธุ์พืช การศึกษาการปล่อยก๊าซมีเทนในนาข้าวที่มีต่อสภาวะโลกร้อน โครงการจัดทำแผนที่ปริมาณคาร์บอนทั้งหมดในดินกับการใช้ประโยชน์ที่ดินของประเทศไทย การติดตามการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรประมง

2) การป้องกันและแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนในภาคการเกษตร เช่น มาตรการจัดการของเสียในภาคปศุสัตว์/ฟาร์มสุกร นาข้าว การไถกลบตอซัง ในการลดก๊าซเรือนกระจกและขยายผลรณรงค์ลดการเผาต่อซังทั่วประเทศ ลดการจุดไฟเผาในพื้นที่ป่า การวางระบบและติดตั้งระบบโทรมาตรเพื่อพยากรณ์และเตือนภัยลุ่มน้ำ การฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในเขตปฏิรูปที่ดินและการจัดทำพื้นที่เหมาะสมในการปลูกพืชพลังงาน โครงการศึกษาผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนต่อสภาพทาง เศรษฐกิจการเกษตร

โครงการติดตามผลกระทบจากความแห้งแล้งทางด้านดินและพืชเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยใช้เทคโนโลยีดาวเทียมและระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์และการป้องกันแก้ไขภาวะความเป็นทะเลทรายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โครงการปลูกสร้างพื้นที่ฟองน้ำในไร่นา ศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิที่มีต่อทรัพยากรประมงน้ำจืดและน้ำเค็ม และการศึกษาผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนต่อปริมาณและการกระจายตัวของฝนบริเวณประเทศไทย เป็นต้น

3) การเผยแพร่และประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนชนิดพืชและระยะเวลาการปลูกพืชให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เช่น ทนแล้ง ทนต่อปัญหาน้ำท่วม รวมถึงการรณรงค์ปลุกจิตสำนึกและประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนได้ตระหนักถึงภัยจากภาวะโลกร้อน การเตรียมตัวของเกษตรกรเพื่อปรับเปลี่ยนพันธุ์พืชและร่วมมือกันในการลดกิจกรรมทั้งในภาคการเกษตร อุตสาห กรรม พลังงาน ฯลฯ ที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะโลกร้อน

กรมพัฒนาที่ดินห่วง 3 จังหวัดภาคอีสาน

ขณะที่กรมพัฒนาที่ดินระบุว่า อุณหภูมิโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดปัญหาฝนแล้งและพื้นที่ดินเค็มขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้พื้นที่การเกษตรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือประสบปัญหาแล้งซ้ำซากมากกว่า 7 ล้านไร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาแล้งซ้ำซากในจังหวัดนครราชสีมา-ขอนแก่น และมหาสารคาม มีความเสี่ยงทำให้พื้นที่เหล่านี้กลายเป็นพื้นที่ ทะเลทรายได้ในอนาคต

ปัจจุบันกรมพัฒนาที่ดินได้นำข้อมูลจากปัจจัยแวดล้อมที่สำคัญได้แก่ ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย พื้นที่ชลประทาน ความสามารถในการอุ้มน้ำของดิน การใช้ประโยชน์ที่ดินและข้อมูลของพื้นที่ที่มีประวัติเกิดภาวะแล้งซ้ำซาก โดยนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์ด้วยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) ทำให้สามารถวิเคราะห์พื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาภัยแล้งได้ล่วงหน้าเกือบ 2 เดือน โดยมีความแม่นยำไม่น้อยกว่า 80%

จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่าขณะนี้ประเทศไทยมีพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดสภาวะแห้งแล้งมากกว่า 22.9 ล้านไร่ โดยกรมพัฒนาที่ดินได้ดำเนินการจัดทำแผนที่แสดงพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเกิดสภาวะความแห้งแล้งในปี 2550 ขณะนี้แบ่งออกได้เป็น 4 ระดับ ดังนี้

ระดับที่ 1 คือพื้นที่ที่ดินมีความสามารถในการอุ้มน้ำปานกลางถึงสูง มีแหล่งน้ำเพียงพอกระจายอยู่ทั่วไป ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยสูง

การใช้ประโยชน์ที่ดินทางการเกษตรทั้งทำนาปรังในพื้นที่ชลประทาน ปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้นซึ่งมีโอกาสน้อยที่จะเกิดการขาดแคลนน้ำแต่ยังมีความแห้งแล้งปกติในช่วงฤดูแล้ง พื้นที่ที่อยู่ในระดับนี้มี 59,312,352 ไร่

ส่วนระดับที่ 2 ดินอุ้มน้ำค่อนข้างดีแต่ไม่มีแหล่งน้ำชลประทาน ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์ต่ำ มีการปลูกพืชอายุสั้น เช่น ข้าวโพด ข้าวนาปรัง อ้อย จึงอาจมีโอกาสเกิดการขาดแคลนน้ำทั้งด้านอุปโภคบริโภคและการเกษตรได้ มีพื้นที่รวม 87,750,750 ไร่

ระดับที่ 3 ถือว่าน่าเป็นห่วงมากที่สุด เพราะลักษณะทางกายภาพของดินมีความสามารถในการอุ้มน้ำค่อนข้างต่ำปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่ำกว่าค่าปกติ อีกทั้งมีการปลูกพืชไร่ เช่น อ้อย ข้าวโพด ที่ต้องใช้น้ำมาก ทำให้มีโอกาสเกิดภัยแล้งสูงและก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค พื้นที่เกษตรเสียหายรุนแรง โดยคาดว่าจะมีพื้นที่ที่ประสบปัญหาประมาณ 22,981,633 ไร่

และระดับที่ 4 พื้นที่ไม่มีศักยภาพในการเกิดสภาวะความแห้งแล้ง เนื่องจากเป็นพื้นที่ป่าไม้ พื้นที่ลุ่มและพื้นที่ทำการเกษตรแบบประณีต รวมทั้งมีระบบชลประทานสมบูรณ์จึงไม่น่าห่วงเรื่องความแห้งแล้ง ซึ่งพื้นที่เหล่านี้มีประมาณ 143,803,615 ไร่

ล่าสุดกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้รายงานพื้นที่ประสบภัยแล้งล่าสุดจำนวน 61 จังหวัด โดย 3 จังหวัดล่าสุดที่เพิ่งขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้งก็คือจังหวัดอุทัยธานี ปราจีนบุรี และพัทลุง

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์