ยืนยันไม่มีการนำหนังสือเดินทางที่หายไป มาใช้ผ่านประเทศไทย
จากกรณีเครื่องบินโดยสารแบบโบอิ้ง777-200 เที่ยวบินเอ็มเอช 370 ของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ส พร้อมผู้โดยสารและลูกเรือรวม 239 คน ออกเดินทางจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย มุ่งหน้าปลายทางสู่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ได้หายไปจากจอเรดาร์บริเวณนอกชายฝั่งประเทศเวียดนาม เมื่อช่วงเช้าวันที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมา ต่อมาเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบว่ามีผู้โดยสาร 2 คน บนเครื่องบินดังกล่าว เดินทางด้วยหนังสือเดินทางของประเทศสมาชิกในกลุ่มสหภาพยุโรปหรืออียู โดยแจ้งความหายไว้ที่ประเทศไทย คนแรกชื่อนายคริสเตียน โคเซล วัย 30 ปี ชายออสเตรีย แจ้งหนังสือเดินทางหายในประเทศไทย เมื่อปี 55 คนที่ 2 นายลุยจิ มารัลดี อายุ 37 ปี ชาวอิตาลี ได้แจ้งหนังสือเดินทางหายในประเทศไทยเช่นกัน เมื่อปี 56 ทำให้ฝ่ายความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา ตั้งประเด็นการก่อวินาศกรรมตามที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น
ความคืบหน้า เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 10 มี.ค. พล.ต.ต.วราวุธ ทวีชัยการ ผบก.สส.สตม.
พร้อมด้วยพ.ต.อ.วรวัฒน์ อมรวิวัฒน์ รอง ผบก.สส.สตม. พ.ต.อ.ทิฆัมพร ศรีสังข์ ผกก.2 บก.สส.สตม. ร่วมกันเปิดเผยถึงกรณีดังกล่าว พล.ต.ต.วราวุธ เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นทราบว่านายลุยจิเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเมื่อ ช่วงเดือนมิ.ย.56 ต่อมาทำหนังสือเดินทางหาย จึงไปแจ้งไว้ที่สถานทูตเพื่อขอทำหนังสือเดินทางชั่วคราวเพื่อเดินทางกลับ ประเทศ ซึ่งการที่จะขอทำหนังสือเดินทางชั่วคราว นายลุยจิต้องมาแจ้งไว้ที่ตม.1 เพื่อประทับตราขาเข้า เจ้าหน้าที่จึงมีข้อมูล ทำให้ตรวจสอบได้ พร้อมกับแจ้งยกเลิกหนังสือเดินทางเล่มเดิมแล้ว ถ้ามีการนำไปใช้ออกประเทศเจ้าหน้าที่ก็จะรู้ทันที
รวมทั้งพล.ต.ท.ภาณุ เกิดลาภผล ผบช.สตม.ได้ออกมายืนยันแล้วว่า ไม่มีการนำหนังสือเดินทางที่หายไปมาใช้ผ่านประเทศไทย ทั้งนี้สามารถยืนยันได้ เพราะนายลุยจิกลับมาเที่ยวประเทศไทยอีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา เมื่อเห็นข่าวว่าตัวเองมีชื่ออยู่ในเครื่องบินลำที่หายไปจึงแสดงตัวต่อเจ้า หน้าที่ สภ.กระทู้ จ.ภูเก็ต นอกจากนี้เมื่อไม่มีการนำหนังสือเดินทางที่หายไปใช้ออกประเทศไทย ก็น่าเชื่อว่าไม่ได้มีการปลอมแปลงพาสปอร์ตในประเทศไทย
สำหรับนาย คริสเตียนนั้น จากการตรวจสอบยังไม่พบหลักฐานว่าไปแจ้งความหนังสือเดินทางหายที่ใด มีเพียงฐานข้อมูลว่า เข้าประเทศไทยช่วงปี 54 –55 โดยล่าสุดเข้ามาเมื่อวันที่ 8 มี.ค.55 แล้วเดินทางออกไปเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ปีเดียวกัน โดยใช้หนังสือเดินทางเล่มใหม่ที่ขอทำจากสถานทูต และหลังจากนั้นไม่ได้เดินทางเข้าประเทศไทยอีก
พล.ต.ต.วราวุธ เปิดเผยด้วยว่า ในส่วนของกลุ่มคนที่ใช้หนังสือเดินทางปลอมนั้น
ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนทำผิดกฎหมายและคนที่ต้องการเดินทางไปประเทศที่ 3 ซึ่งการปลอมหนังสือเดินทางมี 2 แบบ โดยแบบแรก คือ ปลอมทั้งเล่มทำได้ยากขณะที่จ้าหน้าที่ก็ตรวจสอบได้ง่าย ถ้ามีคนใช้หนังสือเดินทางปลอมผ่านด่านตม.ของไทย เจ้าหน้าที่ซึ่งมีความชำนาญจะรู้ได้ทันทีโดยดูจากลักษณะการเย็บเล่ม ลายเส้น และลายน้ำ แผ่นพลาสติกเคลือบ
อีกทั้งปัจจุบันมีการนำเครื่องมือที่ ทันสมัยและระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ ไว้สำหรับตรวจรูปหน้าบุคคลในหนังสือเดินทางแบบที่ 2 คือ
ปลอมเฉพาะหน้าที่มีรูป หรือใช้วิธีใช้คนที่ใบหน้าเหมือนหรือคล้ายกับเจ้าของ โดยที่ข้อมูลยังคงเหมือนเดิม อย่างไรก็ตามหากเจ้าหน้าที่สงสัยว่าเป็นหนังสือเดินทางปลอม ก็จะใช้เครื่องตรวจเอกสารปลอมปัจจุบันคือรุ่น วีเอชซี 6000 ที่มีอยู่ประจำสนามบินและทุกด่านตม. เพื่อตรวจสอบอย่างละเอียดแล้วเปรียบเทียบกับหนังสือเดินทางของแต่ละประเทศ ที่ให้ไว้เป็นตัวอย่าง หากพบว่าผิดก็จะนำตัวดำเนินคดี ซึ่งที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 48 มีการจับกุมคดีหนังสือเดินทางปลอม 573 ราย ต่อมาในปี 56 จับผู้กระทำผิดเหลือเพียง278 ราย ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนปีนี้เดือนม.ค.มี 11 ราย ส่วนใหญ่จะเป็นการจับกุมคนที่ใช้ที่บริเวณหน้าด่าน
ขณะที่ พ.ต.อ.วรวัฒน์ เปิดเผยว่าคนที่รับทำหนังสือเดินทางปลอม ส่วนใหญ่มักเป็นคนที่ทำจนชำนาญเพราะปัจจุบันหนังสือเดินทางแต่ละประเทศ
มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนกัน ทั้งลายเส้น ลายน้ำ และไม่ได้ทำกันเป็นแก๊งใหญ่ แต่จะมีคนติดต่อซื้อเป็นระยะ ซึ่งในประเทศไทยมีคนทำน้อยมาก เพราะเทคโนโลยีในการตรวจสอบทันสมัยขึ้น และเจ้าหน้าที่ผ่านการอบรม ทั้งนี้กลุ่มมิจฉาชีพที่จะนำหนังสือเดินทางปลอมไปใช้มีทั้งกลุ่มที่ย้ายถิ่น ฐานโดยผิดกฎหมายไปประเทศที่ 3 หรือกลุ่มที่หนีภัยสงครามหรือขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งอาจจะเดินทางไปประเทศที่เจริญแล้วไม่ได้.