ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 18 มกราคม ที่บริเวณถนนสายเอเชีย 117 ขาเข้า กทม. แยกโพธิ์ไทรงาม อ.บึงนารางจ.พิจิตร ตัวแทนชาวนากลุ่ม 5 จังหวัดภาคเหนือ ประกอบด้วย พิจิตร นครสวรรค์ กำแพงเพชร สุโขทัย และ พิษณุโลก กว่า 1,500 คน ยังคงปักหลักชุมนุมปิดถนนเรียกร้องกดดันให้รัฐบาลจ่ายเงินจำนำข้าวเป็นวันที่ 2
โดย นายประกาศิต แจ่มจำรัส แกนนำกลุ่มชาวนา กล่าวว่า
ตลอด 2 วัน ที่ชุมนุม ยังไม่มีหน่วยงานหรือข้าราชการระดับสูงของจังหวัดมาให้คำตอบกับชาวนา ดังนั้นในเบื้องต้นชาวนาจึงมีมติปิดถนนต่อไปจนกว่าจะมีเงินจ่ายให้กับชาวนา พร้อมทั้งยกระดับการชุมนุมเป็นการขับไล่รัฐบาล เนื่องจากยังไม่ได้รับคำตอบ และทิศทางจากรัฐบาลว่า จะอนุมัติเงินลงมาจ่ายให้กับชาวนาแต่อย่างไร
ต่อมาเมื่อเวลา 13.00 น. กลุ่มชาวนากว่า 500 คน ใช้รถเทเลอร์ 4 คัน พร้อมเครื่องขยายเสียง รถอีโก้งประมาณ 10 คัน
พร้อมรถกระบะ รวมแล้ว เกือบ 100 คัน ออกเดินทางรณรงค์เชิญชวนชาวนาทั่ว จ.พิจิตร ไปตามถนน อ.บึงนาราง อ.โพทะเล อ.บางมูลนาก อ.ตะพานหิน อ.เมือง และ อ.โพธิ์ประทับช้าง เพื่อให้มาร่วมชุมนุม โดยมีประชาชนออกมายืนต้อนรับและปรบมือให้กำลังใจตลอด 2 ข้างทาง นอกจากนี้ยังเตรียมเคลื่อนขบวนผู้ชุมนุมเข้าปิดล้อมศาลากลางพิจิตรตั้งแต่เย็นวันที่ 19 มกราคม เพื่อ “ชัตดาวน์” ไม่ให้ข้าราชการสามารถเข้าทำงานได้ และเป็นการกดดันให้รัฐบาลเร่งจ่ายเงิน่าจำนำข้าว
วันเดียวกันที่ จ.บุรีรัมย์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวนากว่า 1,000 คน ในพื้นที่ 23 อำเภอของ จ.บุรีรัมย์
ยังคงปักหลักชุมนุมอยู่ที่หน้าที่ศูนย์ราชการจังหวัดเป็นวันที่ 2 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งจ่ายเงินค่ารับจำนำข้าว โดย บรรดาแกนนำและตัวแทนเกษตรกรต่างพากันผลัดเปลี่ยนกันขึ้นเวทีปราศรัยโจมตีรัฐบาลและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ไม่ใส่ใจความทุกข์ร้อนของชาวนา พร้อมจี้ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมารับแถลงการณ์และข้อเรียกร้องของตัวแทนเกษตรกรที่มาชุมนุม
นายบุญมี ม่วงพาชี ตัวแทนเกษตรกรเครือข่ายชาวนาบุรีรัมย์ กล่าวว่า
ยอดเงินที่รัฐบาลไม่ได้ชำระให้กับชาวนาในโครงการรับจำนำข้าวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2556 รวมแล้วเป็นเงินประมาณ 4,173 ล้านบาท จึงต้องออกมาทวงถาม แต่ก็ได้รับการบ่ายเบี่ยงผลัดวันมาเรื่อยๆ จากเดิมที่บอกจะจ่ายให้ก่อนปีใหม่ ก็เลื่อนมาเป็นวันที่ 25 มกราคม และเลื่อนมาเป็นวันที่ 15 มกราคม แต่จนถึงบัดนี้ ก็ยังไม่ได้รับเงินอยู่ดี ขณะที่ชาวนาต้องไปกู้เงินนอกระบบมาเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หนี้สินที่ค้างไว้ เช่น ค่าแรง ค่ารถเกี่ยวข้าว ก็ถูกทวงถามทุกวัน ดอกเบี้ยเงินกู้ก็เพิ่มขึ้น ทำให้เดือดร้อนอย่างแสนสาหัส
ต่อมาเวลา 12.30 น. นายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการ จ.บุรีรัมย์ ได้ลงมารับจดหมายจากเครือข่ายชาวนาบุรีรัมย์
โดยมีข้อเรียกร้องและจุดยืน 5 ข้อ คือ 1.เครือข่ายชาวนาบุรีรัมย์ขึ้นจะเป็นองค์กรประสานงานในการต่อสู้เรียกร้องขอความเป็นธรรมให้กับชาวนาในพื้นที่ 2.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกำหนดเส้นตายการจ่ายเงินที่ค้างแก่ชาวนาภายในวันที่ 25 มกราคม 3.รัฐบาลต้องพิจารณาดอกเบี้ยจากเงินค้างชำระให้แก่ชาวนา โดยนำไปหักดอกเบี้ยเงินกู้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) 4.ถ้าไม่สามารถชำระได้ตามเงื่อนไขเวลาที่กำหนด เครือข่ายชาวนาบุรีรัมย์จะยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ให้รับผิดชอบค่าเสียหายในทางแพ่งและทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานปล่อยละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ชาวนาอย่างใหญ่หลวง และ 5.เมื่อครบกำหนดทางเครือข่ายชาวนาบุรีรัมย์จะร่วมกับองค์กรต่างๆ ในการเรียกร้องทุกแนวทางต่อไป โดย นายธงชัย รับปากจะเร่งทำเรื่องเสนอไปยังรัฐบาลโดยเร็ว