น.สพ.ดร.บริพัตร กล่าวว่า เพื่อความชัดเจน ในวันที่ 10 ม.ค. จะประสานมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เพื่อขอยืมเครื่งอัลตร้าซาวด์ที่มีขนาดใหญ่ และมีศักยภาพสูง นำมาตรวจสอบการตั้งท้องของแพนดาหลินฮุ่ย นอกจากนี้ยังเตรียมประสานทีมสัตวแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ และเคยปฏิบัติงานกับทีมวิจัย ให้มาช่วยวิเคราะห์ และยืนยันว่าท้องของหลินฮุ่ยมีลูกน้อยอยู่จริงหรือไม่ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนอยากรู้
"แม้แต่ผมซึ่งเป็นหัวหน้าทีมสัตวแพทย์ยังบอกยากในเรื่องนี้ สิ่งที่ยืนยันได้คือที่ผ่านมาทีมสัตวแพทย์ไม่เคยพลาดเรื่องผลฮอร์โมน เรื่องของการตกไข่เลยแม้แต่ครั้งเดียว แต่พอมาถึงตอนนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าในร่างกายของหลินฮุ่ยนั้นเกิดอะไรขึ้น ทั้งนี้การอัลตร้าซาวด์บางจุด ต้องถูกตำแหน่งจริงๆ และต้องใช้เวลา 15 -20 นาที หากไม่ถูกจุดก็จะทำให้คลาดเคลื่อนได้ ดังนั้นจึงต้องให้ผู้เชี่ยวชาญร่วมตรวจเพราะภาพหนึ่งภาพไม่สามารถที่จะยืนยันอะไรได้ และไม่เป็นมาตรฐานที่จะใช้ยืนยันด้วย" น.สพ.ดร.บริพัตร กล่าว
สำหรับประเด็นที่หลายฝ่ายสงสัยว่า เพราะเหตุใดไม่เชิญเจ้าหน้าที่จากประเทศจีน เข้ามาช่วยในการอัลตร้าซาวด์
น.สพ.ดร.บริพัตร ชี้แจงว่า เจ้าหน้าที่จากประเทศจีน ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญด้านการอัลตร้าซาวด์ ประเทศที่มีความเชี่ยวชาญคือประเทศในแถบยุโรป สหรัฐอเมริกา , เยอรมัน , ออสเตรีย และญี่ปุ่น เพราะประเทศเหล่านี้มีแพนด้าน้อย พวกเขาจึงจำเป็นต้องรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับแพนด้า ขณะที่ประเทศจีน มีแพนด้าจำนวนมาก ในแต่ล่ะปีจะได้ลูกหมีแพนด้าหลายตัว พวกเขาจึงไม่ค่อยสนใจเรื่องการอัลตร้าซาวด์ เพราะโอกาสที่เขาจะไม่ได้ลูกแพนด้าเลยต่อปีนั้นไม่มีเลย
"การเลี้ยงแบบแม่เดียวกับการเลี้ยงแบบหลายแม่ ก็มีเทคนิคที่แตกต่างกัน ทางจีนไม่สนว่าจะใช้ระยะเวลา 90วัน 120 วัน หรือ 180 วัน ขอให้ตอนจบมีลูกออกมาก็ได้แล้วดังนั้นการอัลตร้าซาวด์เป็นศาสตร์ที่เชี่ยวชาญทางด้านตะวันตกมากกว่า "
น.สพ.ดร.บริพัตร อธิบายว่า การอัลตร้าซาวด์นั้น หมีแพนด้าจะนอนหงาย ทีมสัตวแพทย์ จะใช้กระเพาะปัสสาวะ เป็นตัวบอกตำแหน่งในการค้นหามดลูก ดังนั้นต้องใช้ผู้เชียวชาญมาช่วยยืนยัน
และหากตรวจสอบไม่พบตัวอ่อนแพนด้า ก็มีความเป็นไปได้ที่หลินฮุ่ย อาจตั้ง "ท้องเทียม"เหมือนเช่นที่ผ่านมา
ซึ่ง "ท้องเทียม"กับ "ท้องจริง" จะต่างกันตอนจบที่จะมีลูกแพนด้า ออกมาหรือไม่่เท่านั้น ขณะที่พฤติกรรมโดยรวม และ ระดับฮอร์โมน แทบจะไม่ต่างกันเลย ทั้งนี้ทีมสัตวแพทย์จะติดตามแพนดาหลินฮุ่ยอย่างใกล้ชิด และหากมีระดับฮอร์โมนตกถึงที่สุดแล้ว อีก 5 วันไม่มีการเกิดลูกทางทีมสัตวแพทย์ ก็จะประกาศสิ้นสุดการตั้งครรภ์ โดยไม่มีลูกหมีแพนด้าคลอดออกมา ถือว่าการผสมเทียม และการตั้งครรภ์ปีนี้ไม่ประสบความสำเร็จ
"อยากจะบอกว่าเรายังมีความหวังจากการตรวจดูระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนอยู่ เพราะหมีแพนด้าแต่ละตัวตั้งท้องไม่เหมือนกัน บางตัวใช้ระยะเวลาถึง 6 เดือนเมื่อคลอดลูกออกมาแล้วมีสีขาวคาดดำ เพราะมีการเจริญเติบโตในมดลูกเป็นเวลานาน ดังนั้นฮอร์โมนที่เจอในตอนนี้ถือว่าสูงกว่าฮอร์โมนของหมีทั่วไปถึง 10 เท่า คือยังไม่สามารถประกาศได้ว่าการตั้งครรภ์ครั้งนี้สิ้นสุด รังไข่ยังมีเนื้อเยื่อเหลือและผลิตฮอร์โมนตัวนี้ออกมาพยุงให้การตั้งครรภ์ครั้งนี้ดำเนินต่อไปอยู่ และคงต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด แล้วจะมีการแถลงข่าวให้ทราบอย่างแน่นอน น.สพ.ดร.บริพัตร กล่าวในที่สุด.