พ.ต.อ.ณัฐพล โกมินทรชาติ ผู้กำกับการควบคุมฝูงชน 1 กองบังคับการกองร้อยควบคุมฝูงชน
พร้อมด้วย พ.ต.อ.กำธร อุ้ยเจริญ ผู้กำกับกลุ่มงานเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด หรือ อีโอดี ร่วมกันสาธิตอุปกรณ์ควบคุมฝูงฝนที่ใช้ควบคุมสถานการณ์การชุมนุม เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2556 ที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง กรณีกลุ่มผู้ชุมนุมพยายามบุกรุกเข้ามาภายในเพื่อขัดขวางการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ
โดย พ.ต.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ในวันดังกล่าว
ซึ่งมีอุปกรณ์ป้องกันตัว ประกอบด้วย หมวก โล่ กระบอง หน้ากากกันแก๊สน้ำตา เสื้อเกราะกันกระสุน สนับซอก สนับแข้ง แก๊สน้ำตาและกระสุนยาง ซึ่งยืนยันว่าอุปกรณ์ทั้งหมดเป็นไปตามหลักสากล ไม่มีอันตรายต่อชีวิต และการปฏิบัติเน้นยิงไปในที่โล่งแจ้ง ไม่เล็งใส่ตัวบุคคล
สำหรับ แก๊สน้ำตา ที่เจ้าหน้าที่ใช้ จะมี 2 แบบ คือ แบบยิง สามารถยิงได้ในระยะ 50-150 เมตร
ส่วนแบบขว้าง แบ่งเป็นชนิดผงแป้ง และควัน ซึ่งสามารถขว้างได้ไกลที่สุดไม่เกิน 25 เมตร ขณะที่ อาวุธปืนที่ใช้ยิงแก๊สน้ำตานั้น ไม่สามารถใช้กับกระสุนปืน เอ็ม79 ได้อย่างแน่นอน เนื่องจากลำกล้องมีขนาด 38 มม. และไม่มีเกลียว แต่กระสุน เอ็ม79 มีขนาด 40 มม.
ด้าน พ.ต.อ.กำธร กล่าวว่า ภายหลังเหตุการณ์ปะทะที่สนามกีฬายุติลง เจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด และกองพิสูจน์หลักฐาน ได้เข้าตรวจสอบบริเวณโดยรอบ ซึ่งพบของกลาง ประทัดยักษ์ หนังสติ๊ก ระเบิดปิงปอง ที่มีการดัดแปลง นำตะปู หัวน็อตติดโดยรอบ ซึ่งหากโดนจุดสำคัญก็จะทำให้เสียชีวิตได้
จากนั้น ตำรวจควบคุมฝูงชน ได้มีการสาธิตการยิงกระสุนยาง แก๊สน้ำตา เปรียบเทียบกับเสียงของระเบิดปิงปอง ประทัดยักษ์ ซึ่งการสาธิตการใช้ปืนลูกซองยิงกระสุนยาง พบว่า เสียงของการยิงกระสุนยาง จะเบากว่าการยิงกระสุนจริง ส่วนเสียงการยิงแก๊สน้ำตา ก็จะเบากว่า ประทัดยักษ์ซึ่งมีเสียงดังและทุ้มกว่า