รองอธิบดีกรมอุทยานฯ ขึ้นเฮลิคอปเตอร์บินสำรวจกระทิงป่าในเขตอุทยานฯกุยบุรี จ.ประจวบฯ พบกระทิงและสัตว์ป่าในสภาพปกติ ไม่พบสัตว์ตายเพิ่ม
เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 6 ธ.ค. นายพงษ์พันธ์ วิเชียรสมุทร นายอำเภอกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า
กรณีที่มีการระบุว่านายอำเภอกุยบุรี สรุปสาเหตุการตายของกระทิงว่ามีปัญหามาจากการแย่งชิงตำแหน่งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี เนื่องจากในอนาคตจะมีการผนวกรวมอุทยานแห่งชาติกุยบุรี กับอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และอุทยานฯอีก 2 แห่งใน จ.ราชบุรี ผนึกรวมเป็นผืนป่ามรดกอาเซียน ผืนป่าด้านทิศตะวันตกที่มีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งขณะนี้ได้รับงบประมาณเบื้องต้นแล้วกว่า 130 ล้านบาทนั้น เรื่องนี้มีคนโทรศัพท์มาสอบถามทั้งวัน ตนยืนยันว่าไม่ได้ให้ข่าวกับใคร มีเพียงได้พูดคุยกันระหว่างเจ้าหน้าที่อุทยานกับชาวบ้านและต่างเชื่อว่าสาเหตุที่กระทิงตายมาจากได้รับสารพิษจากฝีมือมนุษย์ เป็นเพียงการวิเคราะห์ แต่ตอนนี้ยังไม่รู้ที่มาที่ไป ก็ต้องรอผลสรุปจากคณะกรรมการสอบสวน ถ้าหากเป็นคนทำต้องเป็นคนใกล้ชิดในพื้นที่ รับเงินมากพอสมควร
นายพงษ์พันธ์ กล่าวต่อว่า ช่วงเย็นวานนี้ (5 ม.ค.) นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
ได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบินสำรวจจำนวนประชากรและพื้นที่หากินของกระทิงป่า ในเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี หมู่ 7ต.หาดขาม โดยบินขึ้นจากที่สำนักงานโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ(โครงการกุญชร)บินเลาะชายเขาขึ้นเหนือไปทางจุดหน้าผาชมช้างป่าและกระทิง และเลยเข้าไปในป่า ซึ่งจากการสำรวจพบว่ามีช้างป่าหากินอยู่หลายฝูงด้วยกัน กระจายอยู่ในทุกพื้นที่ ทุกตัวมีอาการเป็นปกติ บางตัวตกใจเสียงเฮลิคอปเตอร์จนต้องวิ่งหนี และจากการบินวนสำรวจ 3 รอบ กลับพบกระทิงป่าเพียง 4 ตัว อยู่บริเวณเขาตาเพ้ง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีกระทิงตายเยอะที่สุด ซึ่งกระทิงทั้ง 4 ตัว มีอาการเป็นปกติ วิ่งด้วยความปราดเปรียว ไม่ได้มีอาการเซื่องซึมแต่อย่างใด
นายธีรภัทร กล่าวว่า ช่วงบินสำรวจนั้นแดดยังร้อนอยู่กระทิงจะออกมาหากินในเวลาเย็นแดดร่ม ทำให้วันนี้พบกระทิงเพียง 4 ตัว
กระทิงไม่ได้หายไปจากพื้นที่อย่างแน่นอน นอกจากนี้ที่บริเวณหน้าผาจุดชมช้างป่าและกระทิง พบว่า ยังมีฝูงกระทิงออกมาหากินเป็นปกติ จำนวน กว่า 15 ตัวรวมทั้ง มีฝูงช้างป่า หมูป่า ออกมาให้เห็นในทุ่งหญ้าเป็นจำนวนมากอีกด้วย
รองอธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวด้วยว่า กระทิงที่สำรวจทางอากาศพบทั้ง 4 ตัวนี้ ยังหากินอยู่ในบริเวณเขาตาเพ้ง
ซึ่งถือว่าจุดนี้ยังเป็นพื้นที่อันตรายจากโรคติดต่ออยู่ หรืออาจจะไม่มีเชื้อโรคก็เป็นได้ ดังนั้นจึงต้องหาทางป้องกันไว้ก่อนด้วยการส่งเจ้าหน้าที่อุทยานเข้าไปผลักดันให้กระทิงกลับเข้าไปหากินทางตอนเหนือของป่าหรือตั้งแต่บริเวณหน้าผาขึ้นไป จนกว่าจะได้ข้อสรุปว่า ในพื้นที่มีเชื้อโรคหรือไม่
ขณะเดียวกันทางกรมอุทยานฯได้สั่งให้มีการสร้างแอ่งน้ำล้างล้อรถเพื่อฆ่าเชื้อโรคบริเวณทางเข้าชมช้างป่าและกระทิงจุดตรวจห้วยลึก
ซึ่งการสร้างแอ่งน้ำฆ่าเชื้อโรคนี้ไม่ได้หมายความว่า กระทิงที่ตายทั้งหมดจะเป็นโรคติดต่อตายเพราะการตายของกระทิงนั้นยังไม่มีผลพิสูจน์ออกมาที่แน่ชัด แต่การทำแอ่งน้ำนี้ก็เพื่อเป็นการป้องกันการนำเชื้อโรคจากภายนอกเข้ามาในอุทยานและการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อโรคออกไปข้างนอกเอาไว้ก่อนและเพื่อเป็นการรองรับรถนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามา หลังจากอุทยานเปิดทำการเป็นปกติ แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้เมื่อไหร่ ซึ่งการสร้างแอ่งน้ำฆ่าเชื้อโรคนี้เป็นแอ่งขนาดกว้างประมาณ 3 เมตร ยาวประมาณ 8 เมตรจะทำลึกประมาณ 20 ซม.เทด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กด้านข้างจะสร้างแอ่งขนาดเล็กๆเอาไว้ให้ นักท่องเที่ยวเดินลงมาล้างเท้าฆ่าเชื้อโรคอีกด้วย.