คนเร่ร่อน...สู่ถนนมิตรภาพรัฐ-เอกชนฟื้นฟู-ครอบครัวเปิดใจ : สายตรวจระวังภัย โดยทีมข่าวอาชญากรรม
ปัจจุบันปัญหาผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะไม่ว่าจะเป็นชาวต่างชาติ หรือผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น สาเหตุส่วนใหญ่เริ่มต้นจากปัญหาครอบครัว
หลายองค์กรให้ความสำคัญเรื่องนี้ เช่น มูลนิธิอิสรชน และบ้านมิตรไมตรี (กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ) พยายามจัดกิจกรรม สร้างเวทีสื่อสารสังคมและสร้างโอกาสให้ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ สามารถเข้าถึงสวัสดิการสังคม โดยคนทำงานในพื้นที่และครอบครัวช่วยกันดูแลอย่างจริงจัง
นางงามจิต แต้สุวรรณ ผอ.บ้านมิตรไมตรี กรุงเทพฯ กล่าวว่า ทั่วประเทศมีบ้านมิตรไมตรีอยู่ 9 แห่ง การทำงานจะมีการบันทึกภาพถ่ายของผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะเพื่อสะท้อนปัญหา
สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นเมืองใหญ่ ปีที่ผ่านมามีผู้ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะขึ้นทะเบียนกับบ้านมิตรไมตรีกว่า 2,846 คน เป็นชาย 1,072 คน หญิง 1,774 คน นอกจากนี้ยังมีชาวต่างชาติมาเป็นคนเร่ร่อนในเมืองไทยมากขึ้น ด้วย 3 สาเหตุหลัก คือ ครอบครัวคนไทยทอดทิ้ง หุ้นส่วนธุรกิจเอาเปรียบ และโดนโจรกรรมทรัพย์สิน
จากการลงพื้นที่พบว่าผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะแบ่งออกเป็น 13 ประเภท ได้แก่ 1.คนไร้บ้าน คือ บุคคลที่ออกมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะ หรือบนท้องถนนเป็นที่อยู่อาศัย เนื่องมาจากการถูกไล่ที่ดินที่เป็นที่พักอาศัย ไม่มีที่ดินทำมาหากิน 2.คนเร่ร่อน ออกมาใช้ชีวิตตามจุดต่างๆ เช่น สนามหลวง สะพานพุทธ หัวลำโพง หมอชิต 3.เด็กเร่ร่อน/ครอบครัวเร่ร่อน คือเด็กที่ไม่มีถิ่นที่อยู่อาศัยและเร่ร่อนตามถนนหรือที่สาธารณะ เช่น กลุ่มเร่ร่อนขอทาน เร่ร่อนตามวิถีชีพครอบครัว 4.ผู้ติดสุรา คือ บุคคลที่ติดสุราเรื้อรังแล้วครอบครัวไม่สามารถดูแลได้ หรือรับไม่ได้กับพฤติกรรมการติดสุรา
5.ผู้ป่วยข้างถนน คือผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมที่พลัดหลงออกจากบ้าน 6.พนักงานบริการ คือบุคคลที่หาเลี้ยงชีพด้วยการขายบริการทางเพศ 7.ผู้พ้น คือ บุคคลที่พ้นโทษออกมาจากเรือนจำแล้วไม่สามารถอยู่ร่วมกับสังคมได้ เพราะสังคมยังไม่ให้โอกาสคนเหล่านี้ 8.คนจนเมือง คือ บุคคลที่ไม่มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง การเข้าไม่ถึงสวัสดิการของรัฐ ปัญหาเศรษฐกิจ หนี้สิน จึงอพยพมาเสี่ยงโชคในเมือง และเมืองหลวงไม่ได้มีอนาคตอย่างที่คาดหวัง ทำให้คนเหล่านี้ผิดหวัง ไม่มีที่ไปจึงใช้ชีวิตเร่ร่อน 9.คนที่ใช้ที่สาธารณะหลับนอนชั่วคราว คือบุคคลที่มาทำภารกิจบางอย่าง แล้วไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่มีเงินพอเช่าห้องพักราคาสูงได้ จึงใช้ที่สาธารณะหลับนอน 10.คนเร่ร่อนไร้บ้าน คือ บุคคลที่ออกมาจากที่พักอาศัยเดิมที่ไม่สามารถอยู่ได้ ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม
11.ผู้มีความหลากหลายทางเพศ หมายถึง การที่มนุษย์มีเพศวิถี อัตลักษณ์ทางเพศและเพศวิสัย ซึ่งปัจจุบันมีผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศออกมาใช้ชีวิตข้างถนน ด้วยการไม่ได้รับการยอมรับในครอบครัว สังคม ชุมชน 12.ชาวต่างชาติตกยาก คือ ชาวต่างชาติที่ไม่ใช่พลเมืองในแถบอาเซียน ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยและประสบปัญหาสังคม ทำให้กลายเป็นคนเร่ร่อนตกยากอยู่ในประเทศไทย และ 13.ครอบครัวแรงงานเพื่อนบ้าน คือ กลุ่มประชากรจากประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่มีอาชีพเป็นหลักแหล่ง
นายนที สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน ระบุว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่องค์กรภาครัฐ เอกชน ยกระดับการทำงานในรูปแบบเครือข่าย พร้อมกำหนดให้วันที่ 31 ตุลาคมของทุกปี ให้คนที่ใช้ชีวิตในที่สาธารณะมารวมตัวกันตามจุดต่างๆ ที่กำหนดไว้ เพื่อร่วมกันหาทางออกในการแก้ไขปัญหาต่อไป
“ครอบครัวต้องเปิดใจยอมรับคนกลุ่มนี้ แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีส่วนช่วยฟื้นฟู หากครอบครัวไม่เปิดใจรับ พวกเขาก็ยังต้องออกมาเร่ร่อนเหมือนเดิม” นายนทีกล่าวทิ้งท้าย