"คม ชัด ลึก" ได้รับการร้องเรียนว่า ขณะนี้ในร้านขายของชำตามหมู่บ้านและหน้าโรงเรียน
มีการนำขนมเด็กไม่ได้มาตรฐานมาขายจำนวนมาก จากการลงสำรวจพื้นที่ภาคอีสาน พบว่า ขนมเหล่านี้ชาวบ้านเรียกว่า "ขนมหลอกเด็ก" มีหลากหลายรูปแบบทั้ง โดนัท ขนมปังทาเนย ช็อกโกแลต ผลไม้ดอง เยลลี่ ฯลฯ ส่วนใหญ่ไม่มีเลข อย.หรือไม่ได้มาตรฐานรับรองความปลอดภัยจากองค์การอาหารและยา (อย.)
ผู้สื่อข่าวทดลองซื้อขนมปังทาเนยจากร้านขายของชำในหมู่บ้านแห่งหนึ่งใน จ.หนองบัวลำภู
เมื่อช่วงวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา ปรากฏว่า เก็บไว้ในอุณหภูมิห้องปกตินานเกือบ 2 เดือนยังไม่ขึ้นราหรือมีลักษณะของการเน่าเสียแต่อย่างใด จนกระทั่งวันที่ 9 ตุลาคมเริ่มมีราสีดำขึ้นที่ขอบด้านนอก โดยขนมปังชิ้นนี้ไม่มีฉลากบอกรายละเอียดส่วนผสมหรือวันหมดอายุ
นอกจากนี้ ยังมี "ขนมปังไส้สังขยาใบเตย" ซึ่งผู้สื่อข่าวทดลองสุ่มซื้อมาจากร้านขายของชำหน้าโรงเรียนแห่งหนึ่งใจกลางกรุงเทพฯ
เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2556 ผ่านไปกว่า 50 วันแล้ว ยังไม่มีราขึ้นแต่อย่างใด เมื่อเปรียบเทียบกับขนมเบเกอรี่ทั่วไปนั้น หากขนมปังไม่ได้ใส่สารกันบูดจะเก็บได้นานไม่เกิน 3-5 วัน แต่ถ้าใส่สารกันบูดตามที่องค์การอาหารและยา อย. กำหนดจะอยู่ได้ไม่เกิน 10 วันเท่านั้น
เมื่อสุ่มเก็บตัวอย่างขนมจากร้านขายหน้าโรงเรียนหลายแห่งในต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ พบว่า
ขนมหลายชนิดที่วางขายมีลักษณะของขนมอันตรายบรรจุในห่อไม่ได้มาตรฐานและไม่มีวันหมดอายุหรือฉลากกำกับ ขนมกลุ่มนี้เด็กเล็กนิยมซื้อกินเพราะมีราคาไม่เกิน 3-7 บาท แบ่งเป็น 5 กลุ่มได้แก่ 1. ขนมปัง-โดนัท-วาฟเฟิล 2.เยลลี่สีสันฉูดฉาด 3.ผลไม้ดอง มะยม กิมจ๊อ บ๊วยหวาน 4.ข้าวเกรียบกุ้ง และ 5. ช็อกโกแลตเทียม ทอฟฟี่ ลูกอม ฯลฯ ขนมหลอกเด็กทั้ง 5 กลุ่มมีกลเม็ดหลายอย่างล่อลวงให้ผู้ซื้อคิดว่าปลอดภัย เช่น 1.กลุ่มขนมที่ไม่มีข้อมูลอะไรทั้งสิ้น 2.กลุ่มขนมที่มีเพียงยี่ห้อกับหมายเลขโทรศัพท์ แต่ไม่มีสถานที่ผลิตและไม่มีเลข อย.รวมถึงไม่มีฉลากบอกรายละเอียดส่วนผสม หรือ 3.กลุ่มขนมที่มีรายละเอียดผู้ผลิต แต่ช่องใส่เลข อย. แต่ไม่ปรากฏตัวเลข
ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ยอมรับว่า ขณะนี้มีการลักลอบผลิตและขายขนมอันตรายจำนวนมาก
ซึ่งทำให้เกิดอันตรายต่อเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็กหากกินขนมใส่สารกันบูดมากๆ จะเกิดพิษเฉียบพลันมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ถ้ากินต่อเนื่องจะไปสะสมในตับและกลายเป็นมะเร็งได้ ส่วนสีที่ใส่ในลูกอม เยลลี่ หรือขนมชนิดต่างๆ เพื่อให้สีสันฉูดฉาดน่ากินนั้น จะเกิดอาการพิษจากโลหะหนักที่เป็นส่วนผสมในสีอาหาร มีงานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่า โลหะหนักจากสีในขนมที่เข้าไปสะสมในร่างกายเด็กมีผลต่อระบบประสาทและสติปัญญา
"อย.พยายามจับกุมโรงงานกับร้านขายมาตลอด แต่เจ้าหน้าที่ส่วนกลางมีแค่ 10 กว่าคนเท่านั้น ไม่สามารถดูแลผู้บริโภคได้ทั่วถึง ส่วนในต่างจังหวัดก็มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไม่เกินจังหวัดละ 2-3 คน พวกผู้ผลิตกระจายอยู่ทั่วไป ต้องส่งให้ตำรวจช่วยตามจับบางครั้ง การตรวจจับไม่ใช่ง่ายเพราะการผลิตขนมพวกนี้ ไม่รู้ว่าลอตไหนจะใส่สารกันบูดหรือสีมากเท่าไร พวกเขาทำตามความพอใจ ไม่มีมาตรฐานอะไร จับแล้วต้องตรวจสารเคมีที่ผสมให้แน่ชัด จึงจะเอาผิดได้ เจ้าของโรงงานขนมบางแห่ง มาขอเลขอย.ในขนมประเภทเดียว แต่เอาไปใช้ซ้ำกับขนมทุกชนิดที่ผลิต การตรวจจับต้องละเอียด ขนมมีเลขอย.ไม่ได้หมายความว่าเป็นขนมปลอดภัย ผู้ซื้อต้องสังเกตให้ดี"