นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวถึงกรณีที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายจะปรับสัดส่วนเพิ่มผู้เรียนสายอาชีวศึกษาต่อผู้เรียนสายสามัญ เป็น 51:49 ภายในปี 2558
โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้นำเสนอผลการหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสำนักบริหารงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ว่าในปีการศึกษา 2557 จะขยับสัดส่วนสายอาชีวะต่อสายสามัญ จากปัจจุบัน 36:64 เป็น 45:55 ซึ่งเพิ่มขึ้นอีก 9% เป็นจำนวนผู้เรียน 75,600 คน โดย สพฐ.จะต้องลดการรับนักเรียนที่จบระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ศึกษาต่อระดับ ม.4 ให้น้อยลงกว่า 100,000 คน รวมทั้งอาจจะแก้ไขจำนวนนักเรียนต่อห้องอยู่ที่ 40-45 คน ไม่ใช่ 40-50 คนเช่นปัจจุบันและต้องไม่มีการขยายห้องเรียนเพิ่มเติม ว่า เนื่องจาก สพฐ.ได้ประกาศนโยบายการรับนักเรียน สังกัด สพฐ.ปีการศึกษา 2557 ไปล่วงหน้าตั้งแต่เดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีนโยบายเพิ่มสัดส่วนสายอาชีวะต่อสายสามัญ 51:49 ออกมา เพราะฉะนั้น สพฐ.จะต้องมาแก้ไขและทบทวนประกาศดังกล่าวโดยเฉพาะการรับนักเรียนในชั้น ม.4 ซึ่งเดิมกำหนดจำนวนนักเรียนต่อห้องที่ 40 คนและขยายได้ถึง 50 คนนั้น แต่หลักเกณฑ์ใหม่จะกำหนดใหม่ให้เหลือ 40 คนต่อห้องเท่านั้น ให้สอดคล้องกับนโยบายที่ให้ลดลง ส่วนการขยายห้องเรียน ม.4 นี้ ต้องมาพิจารณาอย่างรอบคอบ ต้องคำนึงถึงบางพื้นที่ที่ไม่มีโรงเรียน ม.ปลาย อาจจะให้เปิดชั้นเรียนใหม่ได้แต่ต้องเสนอมาพิจารณาเป็นรายกรณี
“เรื่องจำนวนเด็กต่อห้องนั้นส่วนตัวผมไม่ต้องการให้เพิ่มจำนวนการรับนักเรียนชั้น ม.4 ไปเรื่อยๆ เช่น ขอขยายจาก 40 เป็น 45 และไหลไปถึง 50 คนเหมือนที่ผ่านมา นอกจากนี้ ต้องพิจารณาแก้ไขหลักเกณฑ์การรับนักเรียนที่จบ ม.3 โรงเรียนเดิมเพื่อเลื่อนชั้นต่อ ม.4 ด้วยซึ่งปัจจุบันกำหนดเกรดเฉลี่ย 2.00 อาจจะต้องพิจารณาปรับเพิ่มเกรดเฉลี่ยให้สูงขึ้น เป็น 2.30 หรือ 2.50 แต่จะรับฟังความเห็นของผู้อำนวยการโรงเรียนถึงสาเหตุของการปรับเปลี่ยนก่อนหน้าด้วย รวมทั้งจะพิจารณาในส่วนของเด็กโควตาต่างๆ ความสามารถพิเศษ และกลุ่มผู้มีอุปการคุณ อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ยังไม่ใช่ข้อยุติในการปรับปรุงหลักการรับนักเรียน ในปีการศึกษา 2557 ซึ่มผมจะฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง ผอ.โรงเรียน ซึ่งเชื่อว่าดำเนินการแก้ไขได้ทัน เพราะยังมีเวลาอีกหลายเดือน จากนั้นจะนำเสนอในที่ประชุม กพฐ.ในเดือน ธ.ค.2556” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว
นายอภิชาติ กล่าวต่อไปว่า ตนเชื่อว่าการแก้ไขหลักเกณฑ์การรับนักเรียนสายสามัญฯ ดังกล่าวจะส่งผลให้มีเด็กส่วนหนึ่งหันไปเรียนสายอาชีวะมากขึ้น ซึ่งหลังจากนี้ สพฐ.จะร่วมกับ สอศ.ในการแนะแนวเรื่องการศึกษาต่อในสายอาชีพให้แก่เด็กชั้น ม.3 พร้อมทั้งจะพาเด็กไปชมบรรยากาศการจัดการเรียนการสอนในวิทยาลัยสังกัด สอศ.ด้วย ทั้งนี้ในการจูงใจให้เด็กหันมาเรียนสายอาชีพนั้น ตนอยากเสนอให้รัฐบาลจัดโครงการประกันการมีงานทำสำหรับเด็กอาชีวะ เช่นเดียวกับโครงการครูมืออาชีพที่เมื่อเรียนจบจะมีงานทำทันที