เมื่อวันที่ 14 ต.ค. นายนันทศักดิ์ พูลสุข อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษและโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยถึงความคืบหน้า กรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)นำสำนวนพร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้องในคดีฉ้อโกงและคดีฮั้วประมูล ที่บริษัทพีซีซี ดีเวลล็อปเม้นต์ แอนด์ คอนตรัคชั่น จำกัด พร้อมพวกผู้บริหาร ผู้ต้องหา ในโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทน 396 แห่งทั่วประเทศ ว่า ขณะนี้ตนยังไม่เห็นสำนวนดังกล่าว เนื่องจากเพิ่งจะเข้ามารับตำแหน่งในวันนี้ จึงขอตรวจสอบสำนวนคดีก่อน
ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากแหล่งข่าวระดับสูงสำนักงานอัยการสูงสุดระบุว่า สำหรับสำนวนคดีฉ้อโกงที่ บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นต์ แอนด์ คอนตรัคชั่น จำกัด ,นายพิบูลย์ อุดมสิทธิกุล ประธานบริษัท พีซีซีฯ , นายวิศณุ วิเศษสิงห์ กรรมการผู้จัดการบริษัท พีซีซีฯ และนายจตุรงค์ อุดมสิทธิกุล กรรมการบริษัท พีซีซีฯ ผู้ต้องหาที่ 1-4 ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงเงินค่าก่อสร้างผู้รับเหมาช่วง ในโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทน396 แห่งทั่วประเทศ จำนวนกว่า 90 ล้านบาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ประกอบมาตรา 83 นั้น
โดยอัยการฝ่ายคดีพิเศษได้มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากพิจารณาสำนวนแล้วว่า ผู้รับเหมาช่วงได้เข้าร้องทุกข์ต่อดีเอสไอ ว่า ไม่ได้รับเงินค่าจ้างและเงินค่าดำเนินการต่างๆจากบริษัทพีซีซี ซึ่งทางอัยการพิจารณาคำร้องแล้วเห็นว่า ไม่ได้เป็นการหลอกลวง แต่เป็นการผิดสัญญาทางแพ่ง เนื่องจากบริษัทพีซีซีไม่จ่ายเงินให้ผู้รับเหมาช่วงตามงวดสัญญา ทำให้ผู้รับเหมาช่วงไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างสถานีตำรวจให้เสร็จสิ้นได้ และบริษัทพีซีซีก็เคยเป็นผู้รับเหมาและมีประวัติการทำงานก่อสร้างโครงการใหญ่มาก่อน เห็นว่า บริษัทพีซีซีไม่มีเจตนาฉ้อโกงและไม่มีมูลทางคดีอาญาจึงสั่งไม่ฟ้องดังกล่าว
ส่วนคดีฮั้วประมูล ที่บริษัท พีซีซี ฯ , นายพิบูลย์ อุดมสิทธิกุล ประธานบริษัท พีซีซีฯ และ นายวิศณุ วิเศษสิงห์ กรรมการผู้จัดการบริษัท พีซีซีฯ ผู้ต้องหาที่ 1-3 ข้อหา โดยทุจริตร่วมกันเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐโดยรู้ว่า ราคานั้นต่ำมากเกินกว่าปกติ (ต่ำกว่าราคากลางถึง 540 ล้านบาท) จนเห็นได้ชัดว่าไม่เป็นไปตามลักษณะสินค้าหรือบริการ หรือเสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่หน่วยงานของรัฐสูงกว่าความเป็นจริงตามสิทธิที่จะได้รับ โดยมีวัตถุประสงค์เป็นการกีดกันการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมและการกระทำเช่นว่าเป็นเหตุให้ไม่สามารถปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญาได้ ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 8 นั้น
โดยอัยการฝ่ายคดีพิเศษก็มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องเช่นกัน เนื่องจากเห็นว่าการประมูลโดยวิธีอีอ็อกชั่นของ สตช. เป็นการประมูลอย่างถูกต้องและมีการแข่งขันราคากันหลายครั้ง ส่วนที่ดีเอสไอระบุว่า บริษัทพีซีซีเสนอราคาต่ำกว่าความเป็นจริงมากเกินกว่าปกตินั้น ก็ไม่ปรากฏว่าการเสนอราคาต่ำมากจนเกินไปและต่ำกว่าเกณฑ์ของกระทรวงการคลังแต่อย่างใด
ทั้งนี้ดีเอสไอจะมีความเห็นแย้งอัยการหรือไม่นั้น ก็เป็นสิทธิที่สามารถทำได้ หากดีเอสไอเห็นพ้องด้วยกับอัยการคดีก็ถือเป็นที่ยุติ แต่หากดีเอสไอยืนยันตามเดิม สมควรสั่งฟ้องผู้ต้องหา ก็จะต้องส่งสำนวน ให้นายอรรถพล ใหญ่สว่าง อัยการสูงสุด เป็นผู้ชี้ขาดว่า จะสั่งฟ้องผู้ต้องหาหรือไม่.