เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสุพจน์ เจิมสวัสดิพงษ์ อธิบกีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเผยว่า กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้จัดทำโครงการทดลองเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำใต้ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคเหนือตอนล่าง จ.พิจิตร พิษณุโลก และสุโขทัย เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรจากการที่ระดับน้ำบาดาลลดตัวลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการแก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งที่เกิดขึ้น เป็นประจำทุกปีในพื้นที่ดังกล่าว เนื่องจากไม่มีพื้นที่กักเก็บน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ลุ่มน้ำยม
นายสุพจน์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้จากการศึกษาของกรมในพื้นที่ 3 จังหวัดนี้ รวม 13.3 ล้านไร่ มีพื้นที่ประสบปัญหาการลดระดับของน้ำบาดาลอย่างรวดเร็วประมาณ 6.5 ล้านไร่ ในแต่ละปีพื้นที่ดังกล่าวมีฝนตกประมาณ 35,765 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี มีปริมาณการเพิ่มเติมน้ำฝน 6,980 ล้านลบ.ม.ต่อปี แต่มีการสูบน้ำบาดาลระดับตื้นขึ้นมาทำการเกษตรถึงปีละ 7,800 ล้านลบ.ม.ต่อปี ทำให้เกิดการใช้น้ำบาดาลที่เกินสมดุลถึงปีละ 820 ล้าน ลบ.ม. ส่งผลให้ระดับน้ำบาดาลลดตัวลงอย่างรวดเร็ว 10-30 ซม.ต่อปี
ชั้นน้ำบาดาลระดับตื้นจะมีระดับต่ำสุด 30 ม. ปัญหาการลดตัวของระดับน้ำบาดาลปัจจุบันทำให้เกษตรกรต้องเสียค่าน้ำมันเชื้อเพลิงในการสูบน้ำเพิ่มขึ้น มีค่าใช้จ่ายในการทรุดบ่อน้ำบาดาลมากขึ้น และหากยังมีการสูบน้ำบาดาลในปริมาณที่เกินสมดุลอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ชั้นน้ำบาดาลระดับตื้นแห้งตัวลงในที่สุดกลายเป็นชั้นน้ำบาดาลตาย ที่จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเกษตรกรรมในพื้นที่ จ.พิจิตร พิษณุโลก และสุโขทัย ซึ่งมีการใช้น้ำบาดาลระดับตื้นเป็นแหล่งน้ำหลัก เนื่องจากไม่มีระบบชลประทานและแหล่งน้ำอื่นๆ
อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวต่อว่า กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ศึกษาทดลองการเติมน้ำลงสู่ชั้นดินผ่านระบบสระน้ำ โดยคัดเลือกพื้นที่บ้านหนองนา ต.หนองกุลา อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก เป็นพื้นที่นำร่อง โดยดำเนินการในพื้นที่ 8 ไร่ ประกอบด้วย ระบบผันน้ำ ระบบบึงประดิษฐ์ และระบบเติมน้ำขนาด 1 ไร่
พร้อมมีระบบติดตามตรวจสอบปริมาณและคุณภาพน้ำบาดาล พบว่าสามารถเติมน้ำลงสู่ชั้นบาดาลในช่วงฤดูฝนได้ 26,000 ลบ.ม. และนำน้ำที่เก็บไว้มาใช้ในการปลูกข้าวได้ 16 ไร่ โดยไม่พบการเปลี่ยนแปลงทางเคมีของน้ำบาดาล