กรม คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ผนึกกำลังกมธ.กฎหมายฯ เร่งเครื่องผลักดัน "กฎหมายคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน" เข้าสู่สภา
เพื่อให้มีผลบังคับใช้ โดยเนื้อหาของกฎหมายแบ่งเป็น 3 ฉบับ มุ่งป้องกันการย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องหา รวมทั้งคุ้มครองเกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งขับเคลื่อนการผ่าน "ร่างพ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต" เปิดโอกาสให้กลุ่มเกย์ กะเทย เลสเบี้ยน จดทะเบียนกันอย่างถูกต้องเพื่อให้มีสิทธิต่างๆ ตามกฎหมายเหมือนคู่สามีภรรยาทั่วไป
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 18 ก.ย. ที่โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กรุงเทพฯ พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม
พร้อมด้วยพล.ต.อ.วิรุฬห์ พื้นแสน ประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร และดร.เสรี วงษ์มณฑา ร่วมแถลงข่าวการพัฒนากฎหมายคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่เตรียมเข้า สู่สภา เพื่อให้มีผลสู่การบังคับใช้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กฎหมายดังกล่าวมี 3 ฉบับ ประกอบด้วย
1.ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่ม เติมวิธีพิจารณาความอาญาให้สอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน หรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ กฎหมายนี้จะมีผลให้ผู้ที่ถูก เจ้าหน้าที่ซ้อม ทรมานโดยใช้ไฟลนอัณฑะหรืออุ้มฆ่า จากปัจจุบันดำเนินคดีได้เฉพาะกฎหมายอาญาทั่วไปก็เกิดเป็นฐานความผิดใหม่ใน ความผิดด้านทรมานแยกออกเป็นคดี ซึ่งกรมคุ้มครองสิทธิฯ เชื่อว่าการถูกทารุณของผู้ต้องหาจะลดลง
ฉบับที่ 2.ร่างพ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต ยึดตามรัฐธรรมนูญให้สิทธิเท่าเทียมไม่เลือกปฏิบัติ เปิดโอกาสให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถจดทะเบียนคู่ชีวิตได้เพื่อสิทธิ ในทางกฎหมาย แก้ปัญหาที่ปัจจุบันหลายคู่ไม่มีสิทธิให้ความยินยอมในการรักษาชีวิต หรือไม่มีสิทธิรับศพ หรือทรัพย์สินที่ทำร่วมกันมา เพียงเพราะไม่ได้เป็นญาติ
ร่างพ.ร.บ.นี้ผ่านการทำประชาพิจารณ์จากกลุ่มหลากหลายทาง เพศร่วมกับกรรมาธิการกฎหมาย พยายามผลักดันเข้าสู่สภา
และฉบับที่ 3.ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมเพื่อให้คุ้มครองแก่เกษตรกรใน ระบบเกษตรพันธสัญญา จะมีผลคุ้มครองเกษตรกรที่เป็นหนี้ให้ปฏิบัติตามกฎหมายในเรื่องการทวงหนี้ ต้องไม่กระทบกับหลักความเป็นมนุษย์และไม่เอารัดเอาเปรียบ เกิดความยุติธรรม
ดันจดวิวาห์คู่เกย์ ชงกม.เข้าสภาฯ น้องปอยหนุน
ใน งานแถลงข่าวการพัฒนากฎหมายคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน มีผู้แสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง
โดยน.ส. พิไลวรรณ บุญล้น ผู้กำกับการแสดงละครเวที "ฉันผู้ชายนะยะ 2" มีเนื้อหารณรงค์สร้างความเข้าใจในสิทธิมนุษยชนและต่อต้านโรคเอดส์ กล่าวว่า ชีวิตทุกชีวิตบนโลกใบนี้เป็นชีวิตตินทรีย์ หมายถึงชีวิตนั้นยิ่งใหญ่ ทุกชีวิตที่เกิดมาบนโลกเป็นความยิ่งใหญ่ของแต่ละชีวิต ทุกชีวิตมีสิทธิบนโลกเท่าเทียมกัน มีความสามารถในการดำรงอยู่อย่างเท่าเทียมกัน เพราะธรรมชาติสร้างไว้
เมื่อ เกิดขึ้นมาแล้วคือหน้าที่ที่จะรับผิดชอบต่อชีวิตตนเองและสังคม เมื่อทุกชีวิตมีหน้าที่ทุกชีวิตจึงมีสิทธิอันชอบธรรม
การแยกแบ่งชีวิตออกเป็นฝ่ายเป็นกลุ่มหากเกิดตามวัฒนธรรมของสังคมก็ถือเป็น ปกติที่บุคคลจะอยู่ร่วมกัน แต่บุคคลไม่มีสิทธิ์ละเมิดและดูถูกเหยียดหยามบุคคลที่คิดต่างหรือมีรสนิยม แตกต่างจนกระทั่งถึงการทำร้ายด้วยกาย วาจา ใจ อันนำไปสู่ความสูญเสียแก่ผู้ถูกกระทำ ดังนั้นแนวคิดสำคัญได้ยึดหลักพระพุทธศาสนาคือทุกชีวิตมีความยิ่งใหญ่ การเข่นฆ่าเป็นบาป
"ส่วนร่างพ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต เป็นการเห็นชอบกันของบุคคลสองคน หากคนสองคนไม่ว่าใครเพศใดมีความต้องการที่จะใช้นิติกรรมมากำหนดชีวิตของคน ทั้งสองก็เป็นเรื่องของคนสองคน หรือต้องการ จดทะเบียนเพื่อยืนยันความรักต่อกันก็แสดงความยินดีและร่วมมีความสุขด้วย ไม่มีปัญหาใดๆ เพราะทะเบียนย่อมมีผลต่อบุคคลทั้งสองมากที่สุด อย่างไรก็ตาม การจดทะเบียนอาจช่วยสังคมได้ด้วยการยุติความสำส่อนทางเพศไม่ว่าจะเพศใด หรือลดความสำส่อนทางเพศอันนำมาซึ่งโรคภัยและความเดือดร้อนเบียดเบียนผู้อื่น ในปัญหาที่จะตามมา" น.ส.พิไลวรรณ กล่าว
นายธนกฤต อยู่โต หรือ "โจอี้" นักแสดงและสมาชิกโครงการโรตารีไทยแลนด์
ระบุว่า มีแนวคิดสนับสนุนการจดทะเบียนของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เพราะหากเกิดขึ้นจากความรัก ความเข้าใจ และเคารพซึ่งกันและกันถือเป็นความปารถนาดีต่อกันและเป็นส่วนสำคัญช่วยให้ สังคมมีสันติสุข
ด้าน "ปอย"ตรีชฎา เพชรรัตน์ มิสทิฟฟานี่ ยูนิเวิร์ส 2004 ผู้ร่วมรณรงค์ ผลักดันร่างพ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิตเข้าสภา กล่าวว่า
กฎหมายคู่ชีวิตเป็นเรื่องควรมีมานานแล้วในประเทศไทย ไม่ได้เป็นเรื่องเสียหาย เพราะไม่ว่าเพศไหนย่อมเป็นมนุษย์เหมือนกันที่ผ่านมาพยายามร่วมรณรงค์การขอจดทะเบียนของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศมาโดยตลอด เพราะหากกฎหมายฉบับนี้ผ่านจะทำให้ชีวิตคู่ของคนเพศเดียวกันมีความสมบูรณ์ ยิ่งขึ้น