ปมขัดแย้งนาซ่าวิทย์หรือการเมือง
ปมขัดแย้ง...'นาซ่า' 'วิทยาศาสตร์หรือการเมือง'
"นาซ่า" กับ "อู่ตะเภา" กลับมาเป็นประเด็นขึ้นอีกครั้ง หลังจากวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา ในที่ประชุมรัฐสภาเสนอให้พิจารณาเรื่อง “การอนุญาตนาซ่าเข้ามาศึกษาการก่อตัวของเมฆ” โดยขอใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นฐานภาคพื้นดินอีกครั้ง หลังจากเผชิญความยุ่งยากถูกฝ่ายค้านและประชาชนบางกลุ่มโจมตีว่าเป็นการชักศึกเข้าบ้าน ทำให้สุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคงของประเทศไทย จนนาซาต้องประกาศยกเลิกไปแล้วเมื่อวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา
ความเป็นมาของ "โครงการศึกษาการก่อตัวของเมฆที่มีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" Southeast Asia Composition, Cloud, Climate Coupling Regional Study (SEAC4RS) นั้น มีการประชุมร่วมกันระหว่างนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว ก่อนตัดสินใจให้ไทยเป็นฐานภาคพื้นดิน โดยจะนำเครื่องบินนาซา 3 ลำ ที่ติดตั้งอุปกรณ์ไฮเทคมาบินสำรวจส่วนประกอบทางเคมีของเมฆ อุณหภูมิ และความชื้นในชั้นบรรยากาศ ฯลฯ คือ "NASA DC-8", "NASA ER-2" และ "GV" รวมกับเครื่องบิน 1 ลำ จากโครงการฝนหลวง "BRRAA KING AIR 550" มูลค่าโครงการสูงถึง 1,000 ล้านบาท และช่วงบินสำรวจที่กำหนดไว้คือเดือนสิงหาคม-กันยายน 2555 แต่ประเทศไทยไม่พร้อม โครงการนี้จึงถูกยกเลิก สร้างความผิดหวังให้แก่นักวิชาการด้านนี้จากทั่วโลก
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ผู้นำฝ่ายค้านกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวจบไปแล้ว จะนำมาพิจารณาทำไม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ต่างระดมช่วยกันออกมาตั้งข้อสังเกตว่า การที่นาซาอ้างว่าไม่เกี่ยวข้องกับกระทรวงกลาโหมสหรัฐ นั้น ไม่เป็นความจริง โดยเฉพาะการส่งดาวเทียมทางทหารเข้าสู่วงโคจรสุ่มเสี่ยงต่อมิติความมั่นคง เพราะเส้นทางเดินเรือขนส่งน้ำมันร้อยละ 80 ผ่านทางนี้
“คม ชัด ลึก” สอบถามความเห็น ดร.นริศรา ทองบุญชู ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมเคมี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หนึ่งในนักวิจัยที่เข้าร่วมโครงการเดียวกันนี้ที่ภูมิภาคอื่นของโลกมาก่อน ว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่นาซาจะย้อนกลับมาอีกครั้ง
ดร.นริศราวิเคาะห์ว่า นาซาคงจะทำโครงการนี้ต่อไป แต่ไม่รู้ว่าจะมาเมืองไทยหรือเปล่า เพราะปัญหาการเมืองวุ่นวายและซับซ้อนมาก สถานการณ์ไทยไม่ชัดเจน นาซากำลังจัดสรรงบประมาณใหม่เพื่อกลับมาทำวิจัยในปี 2013 มีข้อมูลว่าประเทศเวียดนามและสิงคโปร์พยายามใช้สรรพกำลังอย่างมากที่จะดึงโครงการไปทำที่เวียดนามแทน
"ผ่านไป 3 เดือนยังคงพูดเรื่องเดิมๆ ทั้งๆ ที่ชี้แจงข้อสงสัยทุกอย่างไปชัดเจนแล้ว เครื่องมือดังกล่าวมันใช้สำรวจน้ำมันไม่ได้ ต้องใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อนกว่านั้นเยอะ บางคนไม่พยายามฟังคำชี้แจง เอาความคิดเห็นของตัวเองเป็นที่ตั้งโดยหมายหัวว่าสิ่งนั้นผิด อยากให้ทุกฝ่ายเปิดใจเข้าหากัน ทำอะไรบนหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ อย่าเอาความเชื่อผิดๆ มาทำลายสิ่งดีๆ หันมาส่งเสริมทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อย่าทำลายมันเลย"
หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมรัฐสภานำเรื่องนี้กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง ทั้งๆ ที่นาซายังไม่ได้แสดงความเห็นเพิ่มเติมอะไร และไม่ได้แสดงท่าทีอยากกลับมา ที่สำคัญโครงการสำรวจอากาศต้องรอจังหวะในเดือนที่เหมาะสม ไม่ใช่ว่าง้อแล้วจะกลับมาได้ทันที !?!
ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ นักวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ผู้โด่งดังจากการเปิดโปงเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดจีที 200 แสดงความเห็นว่า ได้ติดตามข่าวเรื่องนี้อยู่ห่างๆ เป็นไปได้ที่จะกลับมาอีกครั้ง แต่ขึ้นกับนาซาว่าจะจัดสรรงบประมาณใหม่อย่างไร อาจต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปี ถึงจะเริ่มใหม่ได้ แต่สุดท้ายขึ้นกับทางการเมืองไทยด้วย ทางรัฐบาลไม่น่ามีปัญหาอะไร ถ้าดูผลโพลล์หรือผลสำรวจความเห็นประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย อยากให้นาซาทำในเมืองไทย แต่ต้องถามฝ่ายค้านและกลุ่มพันธมิตรว่าจะยอมหรือเปล่า
“ผมเห็นว่าส่วนหนึ่งของปัญหานี้ มาจากฝ่ายรัฐบาลและหน่วยงานรัฐไม่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง นาซาขออนุญาตมานานหลายปีแล้ว เรื่องถูกดองไว้จนกระทั่งใกล้วันกำหนดการ ค่อยมาพูดกันและไม่ได้พูดคุยอย่างเปิดเผย ไม่ได้ให้ข้อมูลกับประชาชนที่รู้สึกเป็นกังวลว่าข้อเท็จจริงต่างๆ เป็นอย่างไร มัวแต่เถียงกันประเด็นการเมืองมากกว่า เช่น กลัวมาตรา 190 และควรรีบหาเจ้าภาพให้ชัดเจน ใครจะดูแลเรื่องนี้กันแน่ เช่น กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ หรือหน่วยงานไหน ต้องประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้ละเอียดที่สุด ว่า นาซาจะเข้ามาวันไหน จะทำอะไร มีเครื่องมืออะไรบ้าง มีคนไทยเข้าร่วมหรือเปล่า ฯลฯ”
ดร.เจษฎา แนะนำทิ้งท้ายอีกว่า เอกสารเหล่านี้นาซาเผยแพร่ไว้หมดในเว็บไซต์เป็นภาษาอังกฤษ ควรแปลเป็นภาษาไทยให้หมด ขึ้นเว็บไซต์ให้คนไทยอ่าน พร้อมจัดเสวนาหรือทำสารคดีให้ความรู้ประชาชนว่าโครงการนี้ มีข้อดีอย่างไร มีประวัติความเป็นมานานแค่ไหน ที่สำคัญคือตอบคำถามฝ่ายคัดค้านหรือผู้กังวลเรื่องนี้ให้ครบถ้วน เช่น มาสอดแนมหรือเปล่า มีผลประโยชน์ทางทหารหรือไม่ มีเรื่องทรัพยากรน้ำมันแอบแฝงหรือไม่อย่างไร ฯลฯ