กาญจน์เจอฝนตกหนัก2เขื่อนใหญ่ศรีนครินทร์-วชิราลงกรณ์ปรับแผนการระบายน้ำยันไม่กระทบชุมชน
นายบุญอินทร์ ชื่นชวลิต ผู้อำนวยการเขื่อนศรีนครินทร์ เผยว่า เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงที่มีฝนตกชุกทำให้ในหลายพื้นที่ที่อยู่ในเขตลุ่มน้ำแม่กลองได้รับผลกระทบกับปริมาณน้ำฝนจำนวนมาก เนื่องจากการระบายน้ำไม่ทัน ทั้งเขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ จึงได้มีการปรับแผนการระบายน้ำลดลง เพื่อลดผลกระทบกับชุมชนดังกล่าว โดยสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ ปัจจุบัน (วันที่ 4 ต.ค. 55) อยู่ที่ระดับ 174.81 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นปริมาณน้ำ 15,650.54 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 88.20% และปรับแผนการระบายน้ำลดลงเหลือวันละ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร และยังสามารถรองรับน้ำได้อีกถึง 2,094.56 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างวานนี้อยู่ที่ 48.20 ล้าน ลบ.ม.
ส่วนเขื่อนวชิราลงกรณ มีปริมาณน้ำปัจจุบัน (วันที่ 4 ต.ค. 55) อยู่ที่ระดับ 152.40 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง
คิดเป็น 7,881.09 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 88.96% สามารถรับน้ำได้อีก 978.11 ล้านลูกบาศกเมตร ระบายน้ำตามแผนการระบายน้ำวันละ 15 ล้าน ลบ.ม. โดยมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างวานนี้ 34.19 ล้าน ลบ.ม. โดยการระบายน้ำจะดำเนินการตามแผนการระบายน้ำที่ คณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ และคณะอนุกรรมการติดตาม วิเคราะห์สถานการณ์น้ำและจัดสรรน้ำ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัยแล้งและในสถานการณ์ที่มีปริมาณน้ำหลาก
อย่างไรก็ตามขอยืนยันว่าปริมาณน้ำที่เอ่อสูงขึ้นในลุ่มน้ำแม่กลองไม่ได้เกิดจากการระบายน้ำฉุกเฉินของเขื่อนทั้งสอง
แต่เกิดจากปริมาณน้ำฝน และปริมาณน้ำจากลำน้ำสาขาที่อยู่ท้ายเขื่อนลงไป และจากสถิติปริมาณน้ำฝนที่เกิดจากพายุจะพบว่า พายุ 1 ลูก ทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่าง ประมาณ 600 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้นทั้งสองเขื่อนยังสามารถรองรับน้ำได้อีกมาก
สำหรับการดูแลเรื่องความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อนนั้น เขื่อนศรีนครินทร์ มีการดำเนินการสำรวจ ออกแบบ และก่อสร้างตามกมาตรฐานสากล
และมีการดำเนินการในตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อนอยู่เป็นประจำอย่างต่อเนื่องมาตลอด โดยได้นำเอาระบบตรวจวัดข้อมูลแบบอัตโนมัติ มาติดตั้งใช้งานที่เขื่อน โดยเป็นระบบตรวจวัดข้อมูล ที่ครอบคลุมข้อมูลด้านพฤติกรรมเขื่อน ข้อมูลอุตุ-อุทกวิทยา และข้อมูลแผ่นดินไหว ระบบนี้จะสามารถประมวลผลข้อมูลเบื้องต้น แสดงผลเป็นรูปกราฟ และหากมีข้อมูลที่ผิดปกติ ก็สามารถแจ้งเตือนให้ตรวจสอบได้ทันที นับเป็นการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่
ด้านการสื่อสารข้อมูลมาประยุกต์ใช้อย่างได้ผล เพื่อจะช่วยให้งานด้านความปลอดภัย
สำหรับเขื่อนต่างๆ ของ กฟผ. มีประสิทธิภาพ ทัดเทียมมาตรฐานสากล โดยมีการดำเนินการตรวจสอบ และบำรุงรักษาเพื่อความปลอดภัยของเขื่อนอย่างมีระบบและต่อเนื่อง ทำให้มั่นใจได้ว่า เขื่อนทุกเขื่อนของ กฟผ. จะมีความมั่นคงปลอดภัยในการใช้งาน และมีความปลอดภัยต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ท้ายน้ำของเขื่อน จึงขอให้วางใจว่า ทั้ง 2 เขื่อนในจังหวัดกาญจนบุรี ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด.