นักวิชาการหวั่นน้ำนครปฐม-อิทธิพลพายุทำกทม.หลายจุดเสี่ยงท่วมขังย้ำชัดฤดูฝนเพิ่งเริ่มต้น
วันที่ 3 ต.ค.ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายสุจริต คูณธนกุลวงศ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ต้องเฝ้าจับตาปริมาณฝนในช่วงเดือนต.ค. ถึงเดือนพ.ย.ให้ดี เนื่องจากปริมาณน้ำฝนมีปริมาณมากขึ้น และพายุโซนร้อนเกมี มีแนวโน้มที่จะพัดผ่านเข้ามายังกทม.โดยตรง ซึ่งจากการศึกษาพบว่าขณะนี้เพิ่งจะเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ ทำให้กทม.มีความเสี่ยงที่จะมีปริมาณน้ำท่วมขัง เนื่องจากไม่สามารถระบายน้ำฝนที่ท่วมขังออกได้ทัน โดยบริเวณที่มีจุดเสี่ยงของกทม.ได้แก่ บริเวณคลองสองวา และคลองสามวา รวมถึงฝั่งตะวันออกของสนามบินสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ ติดคลองจระเข้ใหญ่ และคลองบางโฉลง ส่วนพื้นที่ฝั่งตะวันตกนั้น ต้องเฝ้าระวังบริเวณบางแค และถ.เพชรเกษม ใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งน่าจะมีน้ำขังอย่างแน่นอน ทั้งนี้ พื้นที่ดังกล่าวนอกจากจะเป็นจุดรับน้ำฝนแล้ว ยังจะมีน้ำจากบริเวณอ.บางเลน จ.นครปฐมเข้ามาสมทบ และเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ทำให้ไม่สามารถระบายน้ำลงคลองภาษีเจริญได้ทัน ทั้งนี้ระดับน้ำอาจท่วมขังในระดับ 30 ซม. เป็นเวลาประมาณ 2 สัปดาห์
“กทม.อาจต้องเพิ่มปั๊ม เครื่องผลักดันน้ำจากบริเวณด้านเหนือ และคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ลงสู่คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิตเพียงทางเดียว เนื่องจากบริเวณแม่น้ำบางปะกง ซึ่งเป็นช่องทางลงอ่าวไทยอีกเส้นทางนั้น ยังคงมีปริมาณน้ำจากด้านเหนือลงมามากพอสมควร ส่วนด้านตะวันตกนั้นต้องเร่งระบายน้ำลงคลองภาษีเจริญ เพื่อให้สามารถระบายน้ำได้เร็วที่สุด ไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนที่อาศัยอยู่หนาแน่นทั้ง 2 เขต อย่างไรก็ตามน้ำคงไม่ท่วมสูงเท่าปี 2554 ที่ผ่านมา” นายสุจริตกล่าว
ส่วนนายกังวาฬ ดีสุวรรณ ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบหลัก สำนักการระบายน้ำ กล่าวว่า สาเหตุที่น้ำท่วมขังกทม.ทุกครั้งที่เกิดฝนตกหนัก
เนื่องจาก ระดับของถนน อยู่ต่ำกว่าตัวอาคาร หรือบ้านเรือนของประชาชน ที่ทุกฝ่ายต่างถมสูงขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำท่วมบ้านของตัวเอง น้ำฝนทั้งหมดจึงไหลลมาสู่ถนน ทำให้การจราจรติดขัดในเวลาเลิกงาน ส่วนระบบการรองรับน้ำฝนนั้น ที่ทำไว้รองรับที่ 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมงนั้น สามารถทำได้เต็มที่แล้ว ซึ่งตอนออกแบบ ไม่ได้คาดคิดว่าจะมีปริมาณฝนตกที่ต่อเนื่องและรุนแรงในระดับนี้ โดยในอนาคต อาจเพิ่มปริมาณรองรับน้ำฝนให้เป็น 80 มิลลิเมตรแทน เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน
นอกจากนี้นายกังวาฬยังกล่าวอีกว่า ค่อนข้างเป็นห่วงผลกระทบจากพายุโซนร้อนมี เพราะมีแนวโน้มว่ากทม.จะได้รับผลกระทบโดยตรง จากพายุลูกนี้
ซึ่งคาดว่าอีก 2 วันจะสามารถรู้ได้แน่นอน โดยกทม.ได้เร่งพร่องน้ำในคลองต่างๆ ให้รองรับปริมาณน้ำฝนไว้แล้ว อย่างไรก็ตามยังมีผลกระทบที่ควบคุมไม่ได้ จากกรณีที่ชาวบ้านบริเวณประตูระบายน้ำคลองสองสายใต้ ประท้วงให้เปิดบานประตูเพิ่มขึ้น ทำให้น้ำในคลองลาดพร้าวมีระดับที่สูงขึ้น และยังระบายน้ำเข้าสู่อุโมงค์ยักษ์ไม่ทัน โดยจุดนี้ น่าเป็นห่วงว่าหากฝนตกหนักมาก ปริมาณน้ำในคลองลาดพร้าวอาจเพิ่มสูงขึ้นจนไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน