ที่ จ.น่าน ภายหลังฝนตกหนักตั้งแต่คืนวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา
ส่งผลให้น้ำไหลลงสมทบกับลำน้ำแก่น ลำน้ำเกี๋ยน อ.ภูเพียง จ.น่าน จนระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว กระทั่งเมื่อเวลา 15.30 น.วันที่ 26 สิงหาคม เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร ที่บ้านหนองเต่า หมู่ 3 ต.ม่วงตึ๊ด อ.ภูเพียง จ.น่าน 30 หลังคาเรือน ระดับน้ำสูงกว่า 50 เซนติเมตร ชาวบ้านต้องช่วยกันเร่งขนย้ายสิ่งของเพื่อหนีน้ำ ขณะที่บ้านบางหลังที่อยู่ต่ำกว่าถนนถูกน้ำทะลักเข้าท่วมอย่างรวดเร็วไม่สามารถเก็บของหนีน้ำได้ทันจึงได้รับความเสียหายทั้งหลัง
นอกจากนี้ น้ำยังได้ไหลเข้าท่วมตามถนนเส้นทางสัญจรในหมู่บ้านหนองเต่าหลายจุด
ทำให้รถทุกชนิดไม่สามารถผ่านสัญจรไปมาได้ เจ้าหน้าที่ต้องปิดกั้น และแจ้งให้ประชาชนงดใช้ถนน และเลี่ยงไปยังเส้นทางอื่นแทน รวมทั้งพื้นที่การเกษตรซึ่งส่วนใหญ่เป็นนาข้าวที่เพิ่งลงต้นกล้า ได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง ขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้เร่งเข้าช่วยเหลือชาวบ้านขนย้ายข้าวของ พร้อมกับเร่งสำรวจความเสียหายต่อไป
วันเดียวกัน นายคมสัน สุวรรณอัมพา หัวหน้าป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า
ได้แจ้งเตือนพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัย 243 หมู่บ้าน อาจเกิดน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม หลังข้อมูลระบบเตือนภัยดินถล่ม รายงาน ณ วันที่ 26 สิงหาคม ว่ามีปริมาณฝนตกกระจายทั่วพื้นที่มากกว่า 70% สำหรับพื้นที่เสี่ยงภัย ได้แก่ ต.เมืองก๋าย อ.แม่แตง ซึ่งเป็นพื้นที่เคยเกิดเหตุน้ำป่าไหลหลากจนมีผู้เสียชีวิตเมื่อปี 2554 มาแล้ว ด้วยปริมาณฝนมากที่สุดกว่า 90.2 มิลลิเมตร และที่บ้านแม่กำปอง อ.แม่ออน มีฝนกว่า 81.2 มิลลิเมตร
ส่วนพื้นที่เสี่ยงระดับรองลงมาอีกหลายแห่ง เช่น ต.อินทขิล อ.แม่แตง
มีฝนมากกว่า 55.8 มิลลิเมตร ต.ห้วยแก ต.ทาเหนือ อ.แม่ออน มีฝนมากกว่า 65 มิลลิเมตร บ้านม้งขุนกลาง อ.จอมทอง บ้านกองแขก อ.แม่แจ่ม มีฝนมากกว่า 48.8 มิลลิเมตร อย่างไรก็ดี มีการแจ้งเตือนไปยังอำเภอต่างๆ เพื่อเฝ้าระวัง อีกทั้งเตรียมอพยพประชาชน หากสถานการณ์ไม่เป็นที่วางใจ และยังมีฝนตกต่อเนื่อง
อีกด้านหนึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
กล่าวถึงกรณีที่ นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน ออกมาระบุว่ารัฐบาลบริหารจัดการน้ำผิดพลาด โดยเฉพาะเรื่องการระบายน้ำออกจากเขื่อนจนเกิดภาวะน้ำแล้ง ว่า คณะกรรมการระบายน้ำได้พิจารณาครบถ้วนแล้ว การบิรหารจัดการน้ำจะดูความสมดุลทั้งการเก็บกักน้ำในเขื่อนเพื่อใช้ในการเกษตร และการรองรับปริมาณน้ำฝน ในความเป็นจริงบางส่วนที่เกิดภัยแล้ง มีการประสานเรื่องของน้ำสำรอง และการขุดเจาะน้ำบาดาล รวมถึงการระบายน้ำจากเขื่อน ซึ่งดำเนินการควบคู่กันมาตลอด
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวต่อว่า การปล่อยน้ำจากเขื่อนมีการปล่อยระดับหนึ่งเนื่องจากมีการพยากรณ์ว่าถ้าไม่ระบายน้ำเลย
หากฝนมาก็จะเกิดปัญหาการระบายเหมือนครั้งที่ผ่านมา ขณะเดียวกันก็คำนึงถึงภัยแล้งด้วย ตอนแรกคณะกรรมการนโยบายน้ำ (กยน.) ก็มีความเห็นร่วมกัน ว่าเราควรจะระบายน้ำในปริมาณที่มากระดับหนึ่ง แต่เมื่อปริมาณน้ำฝนไม่ได้มากอย่างที่คาดการณ์ครั้งแรก ก็มีการปรับเพื่อเก็บสำรองน้ำในเขื่อน ยืนยันว่ามีการบริหารจัดการน้ำอยู่ตลอดเวลา