เวลา 10.00 น. วันที่ 5 ก.ค. ที่กระทรวงการต่างประเทศ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเซอิจิ โคจิมะ เอกอัคราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย พร้อมนายพิรุณ ลายสมิตร ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนา กระทรวงการต่างประเทศ
ร่วมลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านการมอบเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า เพื่อฟื้นฟูความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ 3 ฉบับ ได้แก่
โครงการมอบเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า สำหรับบรรเทา จัดการอุทกภัย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ
โครงการป้องกันอุทกภัยบริเวณฝั่งตะวันออก ของแม่น้ำป่าสัก จ.พระนครศรีอยุธยา โดยสร้างประตูระบายน้ำเพื่อป้องกันอุทกภัยแก่นิคมอุตสาหกรรม โดยกรมชลประทานเป็นหน่วยงานดำเนินโครงการ
และโครงการปรับปรุงถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออก เส้นทางหมายเลข 9 การบูรณะสิ่งก่อสร้างสำหหรับป้องกันอุทกภัย โดยกรมทางหลวงเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งทั้ง 3 โครงการรวมมูลค่าความช่วยเหลือ 8,830 ล้านเยน หรือประมาณ 3,532 ล้านบาท เพื่อเพิ่มพูนศักยภาพของไทยในด้านการบริหารจัดการน้ำ และการป้องกันอุกภัยอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเขตนิคมอุตสาหกรรมซึ่งมีการลงทุนของญี่ปุ่นอยู่เป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ โครงการที่ 2 และ3 เป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือทางวิชาการ การจัดทำแผนแม่บท จัดการอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยา ขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ ไจก้า ร่วมกับกรมชลประทาน และกรมทรัพยากรน้ำของไทย ซึ่งทั้ง 3โครงการเริ่มดำเนินการแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2559 เป็นโครงการป้องกันอุทกภัยในระยะยาว เพื่อสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนต่างชาติ
ด้านเอกอัคราชทูตญี่ปุ่น กล่าวถึงกรอบระยะเวลาในการดำเนินการดังกล่าว จะใช้เวลาใน3-4 เดือนนี้ แต่อาจจะยังไม่แล้วเสร็จ สิ่งที่สำคัญ คือ โครงการต้องมีความโปร่งใสในขั้นตอนการประเมิน โดยเฉพาะการออกแบบก่อสร้างเป็นสิ่งที่สำคัญมากในระยะยาว ขณะที่ในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมแต่ละแห่ง รัฐบาลไทย ทุกองค์กร และบริษัทเอกชน ก็พยายามสร้างมาตรการป้องน้ำท่วมและกำลังดำเนินมาตรการเท่าที่จะทำได้
สำหรับมาตรการป้องกันน้ำท่วม นายเซอิจิ มองว่าควรมี 3 ระยะด้วยกันคือ ระยะสั้น กลางและยาว ส่วนผู้ที่มีบทบาทสำคัญ คือ รัฐบาลและบริษัทเอกชนต้องร่วมกันวางแผน และประสานงานการป้องกันน้ำท่วมอย่างมีระบบ โดยหวังว่าโครงการทั้งหมดนี้จะเป็นศูนย์กลางความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย-ญี่ปุ่นและบริษัทเอกชน ซึ่งขณะนี้นักลงทุนญี่ปุ่นกำลังจับตามองความพยายามของรัฐบาล ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในการจัดทำแผนป้องกันอุทกภัย และเข้าใจว่าแผนต่างๆ กำลังมีความคืบหน้า
ในสายตาของนักลงทุนญี่ปุ่นแล้วมองว่ารัฐบาลญี่ปุ่นและไจก้า ควรมีบทบาทจัดทำแผนแม่บทป้องกันน้ำท่วมในประเทศไทย ซึ่งเมื่อ 13 ปีที่ผ่านมา ไจก้าเคยมีแผนแม่บทสำหรับป้องกันน้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยา แต่หลังจากปี 2554 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ในไทย ไจก้าจึงเขียนแผนแม่บทขึ้นใหม่เป็นฉบับที่ 2 อยู่ระหว่างปรับปรุงและเตรียมเสนอให้รัฐบาลไทย ซึ่งนักลงทุนญี่ปุ่นสนใจมากและวางใจในแผนของไจก้า พร้อมต้องการให้รัฐบาลไทยใช้แผนแม่บทป้องกันน้ำท่วมของไจก้าด้วย เพื่อช่วยสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนมากขึ้น
ขณะที่นายพิรุณ ลายสมิตร ผู้อำนวยการสำนักความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า จากการสอบถามไจก้า ยืนยันว่านักลงุทุนญี่ปุ่นจะยังไม่ย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศไทยแน่นอน