วันนี้( 12 ก.พ.) นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการชลประทานขนาดใหญ่ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรฯ ได้สั่งการให้กรมชลประทานในแต่จังหวัดลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา 11 จังหวัดโดยเฉพาะพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ลงเอ็กซเรย์พื้นที่เพื่อทำเป็นแก้มลิง รับน้ำหลากให้ทันในฤดูฝนที่จะถึงก่อนเดือนพ.ค.นี้ โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่สำนักงานชลประทานในจังหวัดต่างๆได้เข้าพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น เพื่อสรุปข้อมูลเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัด นำรายงานต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในระหว่างเดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบความคืบหน้าการเตรียมรับมือกับปัญหาอุกทภัยในปี 55 หรือทัวร์นกขมิ้น เพื่อให้นายกฯรับทราบและมีส่วนในการตัดสินใจว่าจะใช้พื้นที่ใดเป็นพื้นที่แก้มลิงรับน้ำเหนือให้ได้ 5 พันล้านลูกบาศ์กเมตร ที่ผ่านมาทุกปีพื้นที่ลุ่มต่ำในทุ่งเจ้าพระยา ทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก มีศักยภาพรับน้ำได้เพียง 2 พันล้านลูกบาศ์กเมตร โดยในปี 55 คณะกรรมการ กยน.มีนโยบายให้ กระทรวงเกษตรฯตั้งคณะทำงานหาพื้นที่รับน้ำนองหรือแก้มลิง อีก 3 พันล้านลูกบาศ์กเมตร โดยต้องหาพื้นที่มีลักษณะกายภาพทางธรรมชาติเป็นแก้มลิงได้ มีทางน้ำเข้าและทางน้ำออกและควบคุมให้น้ำอยู่ในพื้นที่ได้ในระยะเวลาที่กำหนดเพื่อเป็นการชะลอปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ให้สูงเกินจนล้นตลิ่ง
“โดยลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำที่ท่วมทุกปี มีทางน้ำเข้าไปเองโดยไม่ต้องบังคับเป็นลักษณะแรกของพื้นที่ที่ต้องเลือกเป็นแก้มลิง แน่นอนเช่นทุ่งบางระกำ ทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งอยุธยา อ่างทอง เป็นส่วนใหญ่ ส่วนพื้นที่อื่นที่ต้องพาเพิ่มจะต้องบังคับเอาน้ำเข้าไปและต้องไปสร้างประตูน้ำเพื่อควบคุมน้ำ รวมทั้งใช้ถนนเป็นแนวคันกั้นไม่ให้น้ำออก พื้นที่เหล่านี้จะมีปัญหาเรื่องค่าชดเชย ระยะเวลาการท่วม ความลึกและการปรับระบบเพาะปลูก ตรงจุดนี้เป็นเรื่องที่นำมาสรุปภายหลังจากที่นายกฯลงพื้นที่รับฟังปัญหาข้อเท็จจริงรอบด้าน หากดูให้แผนที่อย่างเดียวจะไม่ได้เห็นสภาพพื้นที่จริง ในขณะนี้มีการทำเป็นแบบจำลอง พื้นที่ทั้งหมดที่ใช้เป็นแก้มลิง 2 ล้านไร่ ให้นายกฯได้พิจารณาก่อนลงพื้นที่แล้วล่วงหน้า 1 วัน โดยเฉลี่ยความลึกที่จะเอาน้ำเข้าไปเก็บไว้ 1.50 เมตร ระยะเวลานาน 1-2 เดือน โดยอยู่บนเงื่อนไขว่าจะไม่ให้เข้าท่วมพื้นที่ชุมชนและพื้นที่เศรษฐกิจ ที่เคยถูกน้ำท่วมเมื่อปี 54 ”นายสมเกียรติ กล่าว