บทเรียนจากภาวะน้ำท่วมใหญ่ในจ.กาญจนบุรี เมื่อสิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา ถือเป็นครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในพื้นที่นี้ กระทั่งกลายเป็นโมเดลหนึ่งในการนำมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนใหญ่อย่างน่าศึกษายิ่ง
ปัญหาน้ำท่วมครั้งนั้นส่วนหนึ่งเป็นผลพวงมาจากแหล่งผลิตก๊าซบงกชในอ่าวไทยมีปัญหาต้องลดการผลิตลงที่ 650 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อมาแหล่งผลิตก๊าซยาดานา ในสหภาพพม่า มีปัญหาเช่นกันทำให้ก๊าซหายไป 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตรวมทั้ง 2 แหล่งหายไป1,750 ล้านลูกบาศก์ฟุตหรือคิดเป็นกำลังผลิตรวม 10,000 เมกะวัตต์ซึ่งเกินความสามารถของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนและพลังความร้อนร่วมที่ขนานอยู่ในระบบในการจะผลิตกระแสไฟฟ้า
เพื่อให้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ดังนั้น เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี จึงต้องเดินเครื่องทั้ง 5 เครื่องตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม2552 ในช่วงดังกล่าวประชาชนที่อยู่ท้ายน้ำทั้งเขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนท่าทุ่งนา ตลอดจนถึงตัว จ.กาญจนบุรี จึงต้องเผชิญกับภาวะน้ำมากในช่วงนั้น
กล่าวคือท้ายน้ำเขื่อนที่จ.กาญจนบุรีจะสูงขึ้นกว่าเดิม 2.70 เมตรสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นเป็นช่วงระยะเวลาอันสั้น โดยไปสิ้นสุดในวันที่ 19 สิงหาคม แต่ก็ทำให้พื้นที่ท้ายน้ำของเขื่อนศรีนครินทร์ ได้รับความเสียหายทางด้านที่อยู่อาศัย เกษตรกรรมใน 14 ตำบล รวม 2 อำเภอคือ อ.ศรีสวัสดิ์อ.เมืองคิดเป็นมูลค่า 16.5 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ครั้งนั้นได้ทำให้ กฟผ. ต้องออกมาขอโทษประชาชนในพื้นที่ริมน้ำ หลังได้รับผลกระทบจากการปล่อยน้ำดังกล่าว และขอบคุณการเสียสละที่ช่วยให้ระบบไฟฟ้าของทั้งประเทศ สามารถรักษาระบบไว้ได้
ทว่าเหตุการณ์ครานั้นได้กลายเป็นที่มาของการตื่นตัวต่อการบริหารและจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพประเด็นที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันก็คือลุ่มน้ำแม่กลองเป็นลุ่มน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคตะวันตก ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของ จ.สุพรรณบุรี นครปฐม สมุทรสาคร อุทัยธานี และตาก มีเขื่อนแม่กลองของกรมชลประทาน เป็นเขื่อนทดน้ำขนาดใหญ่ สำหรับผันน้ำเข้าพื้นที่การเกษตรของลุ่มน้ำ และเขื่อนวชิราลงกรณ์ จ.กาญจนบุรี ทำหน้าที่แหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงพื้นที่การเกษตร การอุปโภค-บริโภค