ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า น้ำท่วมในกรุงเทพฯ ขณะนี้อาจเป็นเพียงเป็นสัญญาณเบื้องต้นของอนาคตที่น่ากลัวสำหรับเมืองหลวงของไทย ซึ่งตั้งอยู่บนที่ลุ่มต่ำและจมลงช้า ๆ อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ตั้งอยู่อยู่เหนืออ่าวไทยเพียง 30 กิโลเมตร ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า ระดับน้ำทะเลในอ่าวไทยจะสูงขึ้น 19-29 เซนติเมตร ภายในปี 2050 เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระดับน้ำที่สูงขึ้นจะทำให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักผ่ากลางกรุงเทพฯ สูงขึ้นตามไปด้วยจากปกติที่น้ำล้นฝั่งอยู่เป็นประจำ
ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เตือนว่า หากไม่มีการดำเนินการใด ๆ พื้นที่ส่วนใหญ่ของกรุงเทพฯ จะต่ำกว่าระดับน้ำทะเลภายใน 50 ปี
รายงานที่ธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาเอเชียและธนาคารญี่ปุ่นเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศเผยแพร่เมื่อปีก่อนระบุว่า กรุงเทพฯ จมลงปีละ 10 เซนติเมตร
ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษหลังปี 1970 เป็นผลจากการสูบน้ำบาดาลจำนวนมากรองรับความต้องการของคนในเมืองหลวง 12 ล้านคน และโรงงานต่าง ๆ ปัจจุบันอัตราดังกล่าวลดลงเหลือน้อยกว่าปีละ 1 เซนติเมตร หลังจากรัฐบาลออกมาตรการควบคุมการสูบน้ำบาดาล แต่ ดร.อานนท์ แย้งว่า กรุงเทพฯ ยังคงจมลงปีละ 1-3 เซนติเมตร
ธนาคารโลกทำนายว่า ภายในปี 2050 กรุงเทพฯ จะเสี่ยงน้ำท่วมเพิ่มขึ้น 4 เท่า จากปัจจุบัน เพราะแผ่นดินทรุดลง
ประกอบกับระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ขณะที่องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ระบุว่า กรุงเทพฯ เป็นหนึ่งใน 10 เมืองของโลกที่เสี่ยงได้รับผลกระทบมากที่สุดจากปรากฏการณ์น้ำท่วมชายฝั่งภายในปี 2070
ผู้เชี่ยวชาญชี้ตรงกันว่า การขยายตัวของความเป็นเมืองอย่างรวดเร็วคือปัจจัยหนึ่งที่ทำให้น้ำท่วมสร้างความเสียหายรุนแรงแก่กรุงเทพฯ
เพราะเหลือทางให้น้ำไหลน้อยมาก ทางการไทยจะต้องแก้ปัญหาการใช้ที่ดินในกรุงเทพฯ ปัญหาการวางผังเมือง และอาจต้องพิจารณาเรื่องย้ายโรงงานและนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม หรืออาจถึงขั้นต้องพิจารณาย้ายเมืองหลวง