ช่วงนี้เริ่มมีภาพปรากฎรถที่ไปจอดตามสะพานคู่ขนานลอยฟ้า สะพานโทลเวย์ ทางด่วนและสะพานข้ามคลองต่างๆ ได้รับความเสียหายหลายคัน เนื่องจากถูกขูดหรือถูกชน จากอุบัติเหตุที่จอดกันทำให้ถนนแคบลงหรือถูกเฉี่ยวชนจากรถวิ่งกันเร็ว
คำถามที่ตามมาคือ กรณีเช่นนี้ "ใครผิด"?
พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาลในสถานการณ์อุทกภัย ให้สัมภาษณ์ "ประชาชาติธุรกิจออนไลน์"ว่า ต้องพิจารณาตามกฎหมาย 2 ฉบับคือ พ.ร.บ.การจราจรทางบก และ พ.ร.บ.การทางพิเศษ ซึ่งรถที่จอดเป็นหมื่นคันบนสะพานและทางด่วนเวลานี้ถือว่าจอดในที่ห้ามจอด ซึ่งผิดกฎหมาย แต่ขณะนี้ถือว่าเป็นการเอื้ออาทรในการให้จอด ดังนั้นเมื่อมีเหตุการณ์รถเฉี่ยวชน การทางพิเศษจึงไม่เกี่ยวข้องในการรับมารับผิดชอบ ต้องเป็นเรื่องคู่กรณี แต่ข้อเท็จจริงคือกรณีเช่นนี้จะเป็นการชนแล้วหาคู่กรณีไม่ได้
พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวต่อว่า รถที่ขึ้นมาจอดตามสะพาน และทางด่วนขณะนี้มีหลักหมื่นคัน กรณีที่ถูกเฉี่ยวชนได้รับความเสียหายจากการจอดขณะนี้ยังไม่มีใครเข้าแจ้งความ แต่เมื่อน้ำลด ขั้นตอนคือ เมื่อเจ้าของรถทราบว่ารถตัวเองถูกเฉี่ยวชนจะต้องมาแจ้งความ ซึ่งกรณีนี้จะหาคู่กรณีได้ยาก ถ้าจอดในจุดที่มีกล้องวงจรปิดก็สามารถเปิดภาพดูได้และหากตามตัวคู่กรณีมาดำเนินคดีได้ก็จะดำเนินการไปตามคดีอาญาได้ อย่างไรก็ตามเมื่อยังไม่ทราบคู่กรณีก็สามารถแจ้งความถูกชนโดยไม่ทราบฝ่าย ซึ่งส่วนนี้จะต้องดูควบคู่ไปกับ พ.ร.บ.ประกันภัยว่าครอบคลุมรับประกันความเสียหายของรถหรือไม่
กรณีรถที่ทำประกันชั้น 1 ไว้ ก็สามารถเคลมได้ ขณะที่ประกันชั้น 3 ก็จะต้องพิจารณาตามพ.ร.บ.ประกันภัย เพราะถือว่าจอดผิดกฎหมาย หากจะแจ้งความก็ถือว่าเป็นการแจ้งความทางแพ่งเท่านั้น
"การจอดรถผิดกฎหมาย และถูกอุบัติเหตุสามารถดำเนินคดีอาญาได้ หากบริเวณดังกล่าวมีกล้องวงจรปิดและสามารถเห็นรถคู่กรณีกระทั่งดำเนินคดีกันได้ ซึ่งตำรวจก็พยายามดูแลความปลอดภัย แต่รถที่จอดมีมากหลักหมื่นคัน ขณะที่รถในกรุงเทพฯอีกกว่า 5 ล้านคันก็ยังขับขี่อยู่บนถนน"