"คิดว่ารัฐบาลน่าจะเอาอยู่ค่ะ น่าจะป้องกันได้ค่ะ"...ประโยคนี้ กลายเป็นคำบาดลึกกลางใจ ไล่ตั้งแต่นักลงทุนทั้งไทย และต่างประเทศ ไล่ลงมาจนถึงชาวบ้านตาดำ ๆ เพราะ ณ เวลานี้ทุกพื้นที่ที่รัฐบาลพูดประโยคนั้น แทบจะท่วมทั่วทุกพื้นที่แล้ว
หลายคนเริ่มหวาดผวา ตั้งแต่นิคมอุตสาหกรรม ซึ่งถือเป็นพื้นที่สำคัญที่รัฐบาลควรป้องกันไว้สุดชีวิต
เพราะถือเป็นเม็ดเงินลงทุนมูลค่าหลายแสนล้านบาท จะละลายไปกับสายน้ำ รวมทั้งจะต้องมีคนตกงานอีกหลายแสนคน แต่สุดท้ายแผนการป้องกันต้องคว้าน้ำเหลว ส่งผลให้นิคมอุตสาหกรรมจมอยู่ในบาดาลกว่า 7 แห่ง
งานนี้ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ เพราะเหตุการณ์ครั้งนี้ได้สั่นสะเทือนไปทั่วโลก ไล่ตั้งแต่ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่อย่างโตโยต้า, ฮอนด้า ต้องหยุดการผลิตชั่วคราวในบางประเทศ เพราะโรงงานผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ในไทยกลายเป็นทะเลสาบ
รวมทั้งบริษัทคอมพิวเตอร์รายใหญ่อย่าง แอปเปิ้ล อิงค์ และหลายค่ายทั่วโลกต้องน็อก หยุดการผลิตสินค้าเช่นกัน เนื่องจากนิคมอุตสาหกรรมของไทย ถือเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของโลก และช่วงนี้ถือเป็นช่วงเร่งการผลิต เพราะเป็นช่วงไฮซีซั่น ที่จะดูดเงินลูกค้าได้มากมาย เนื่องจากใกล้เข้าสู่เทศกาลสำคัญต่าง ๆ ทั้งคริสต์มาส และปีใหม่ สุดท้ายก็ได้แต่กุมขมับไปตาม ๆ กัน
แล้ว ณ เวลานี้ ยังมีที่ไหนอีกที่ทั่วโลกต่างเฝ้าจับตาว่า รัฐบาลไทยภายใต้การนำของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทยเอาอยู่หรือไม่
คงหนีไม่พ้น สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ เพราะหากครั้งนี้รัฐบาลเอาไม่อยู่ น้ำทะลักเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ เท่ากับว่า ไทยจะกลับมาปิดประเทศอีกรอบ หลังจากเคยถูกปิดมาแล้วในปี 2551 เนื่องจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย บุกยึดสนามบิน ทำเอาต่างชาติต้องโกลาหลอับอายขายขี้หน้ามาแล้วทั่วโลก
ณ เวลานี้หลายคนคงบอกว่า สนามบินสุวรรณภูมิ เอาอยู่!! เพราะดูจากแผนป้องกันหนาแน่นหลายชั้นของบริษัท ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) ทั้งสร้างเขื่อนดินล้อมรอบพื้นที่สนามบิน ระยะทางยาว 23.5 กิโลเมตร ตัวเขื่อนมีฐานกว้าง 37 เมตร และสูง 3.5 เมตร จากระดับน้ำทะเล
จี้รัฐเฝ้าระวัง สนามบินสุวรรณภูมิหวั่นน้ำท่วมซ้ำรอยนิคมอุตสาหกรรม
รวมทั้งในพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิยังมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ สามารถกักเก็บน้ำได้มากถึง 4 ล้านลูกบาศก์เมตร
ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณน้ำในพื้นที่อยู่เพียง 1 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 25%เท่านั้น ทำให้ในพื้นที่สนามบินสามารถรับน้ำได้อีก 3 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมทั้งมีสถานีสูบน้ำ 2 สถานี ซึ่งมีเครื่องสูบน้ำรวมกันจำนวน 8 เครื่อง สามารถสูบน้ำออกจากสนามบินได้ปริมาณ 12 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หรือประมาณ 1 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวันนอกจากนี้ยังตั้งศูนย์ประสานงานเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชั่วโมง โดยประสานงานกับกรมชลประทาน และกรุงเทพมหานคร อย่างใกล้ชิด รวมทั้งเฝ้าติดตามการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างต่อเนื่อง และจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าตรวจโดยรอบ ทั้งด้านในและด้านนอกของเขื่อน เพื่อรักษาสภาพเขื่อนให้มีศักยภาพแข็งแกร่งเตรียมพร้อมป้องกันมวลน้ำที่จะไหลมาจากด้านทิศเหนือด้วย
แต่ก่อนหน้านี้ สนามบินดอนเมืองที่ว่าเอาอยู่ ๆ ก็กลายเป็นทะเลสาบมาแล้ว ทำเอาสายการบินทั้งนกแอร์ และโอเรียนท์ ไทย ต้องหนีเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ไปตั้งหลักที่สนามบินสุวรรณภูมิ ทั้งที่พื้นที่สนามบินดอนเมือง ชื่อก็บ่งบอกอยู่แล้วว่า เป็นที่ดอนของเมือง สุดท้ายก็เอาไม่อยู่
และถือเป็นครั้งแรกที่สนามบินดอนเมือง ซึ่งเปิดให้บริการมากว่า 97 ปี ประสบเหตุอุทกภัย ที่สำคัญไม่ใช่แค่ว่าท่วมบริเวณสนามบินเท่านั้น แต่ทะลักเข้าสู่รันเวย์ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่วิกฤติมาก ทำเอานานาชาติต่างตกใจกับสถานการณ์นี้เป็นอย่างมาก
แล้วสนามบินสุวรรณภูมิเล่า ต่างเป็นที่รู้กันว่า ที่มาที่ไปมาจากหนองงูเห่า และเช่นกัน ชื่อก็บ่งบอกอยู่แล้วว่ามาจากที่หนอง แปลง่าย ๆ ว่า เป็นพื้นที่มีน้ำ
เพราะฉะนั้นความเสี่ยงจึงมีมากกว่าที่ดอนอยู่แล้ว และรัฐบาลกำลังเร่งผันน้ำออกสู่ทางตะวันออก และตะวันตก เพื่อไม่ให้น้ำทะลักเข้าท่วมกรุงเทพฯ ชั้นใน ซึ่งถือเป็นไข่แดงทางเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของการผันน้ำ ถือเป็นพื้นที่หวาดเสียวเช่นกัน เพราะขณะนี้มวลน้ำมหาศาลที่หลายฝ่ายกังวลกันยังมาไม่ถึง และไม่รู้ว่าจะมาเมื่อไหร่ รวมทั้งปริมาณเท่าไรกันแน่
จึงเป็นสาเหตุให้ ณ เวลานี้ ฝ่ายบริหาร ทอท. ต้องประชุมติดตามสถานการณ์เกาะติดทุกวัน เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ซ้ำรอยสนามบินดอนเมือง
ที่ ณ เวลานี้น้ำทะลักเข้าท่วมเป็นเมตรแล้ว และที่สำคัญการให้บริการสนามบินในทั่วโลก จะมีสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาต้า) และองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) ซึ่งเป็นองค์กรที่ดูแลเรื่องการบินระหว่างประเทศ เข้มงวดในเรื่องความปลอดภัยอย่างมาก เพราะฉะนั้นหากมีความเสี่ยง หรือเกิดเหตุการณ์อะไรที่เสี่ยงต่อความปลอดภัย แม้เพียงเล็กน้อย ก็อาจโดนหยุดให้บริการทันที
อย่างไรก็ตามหากสนามบินสุวรรณภูมิ เกิดวิกฤติมวลน้ำมหาศาลไหลทะลักเข้าท่วมจน ทอท. ไม่สามารถต้านทานอยู่ อะไรจะเกิดขึ้น ความเสียหายที่ได้รับจะเป็นอย่างไร
หากเปรียบเทียบกับการปิดสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อปี 2551 เหตุการณ์น้ำท่วม คงจะได้รับผลกระทบมากกว่า เพราะมวลน้ำจะไหลเข้าท่วมอุปกรณ์ต่าง ๆ จะเสียหายมากกว่า ส่วนมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ คงจะยิ่งติดลบกว่าเดิม
เพราะทุกกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบิน การขนส่งสินค้าทางอากาศและการท่องเที่ยว จะกลายเป็นอัมพาต เที่ยวบินนับร้อยเที่ยวบินไม่สามารถทำการบินขึ้น-ลงได้ ต้องกลับมาเหมือนเป็นการปิดประเทศอีกครั้ง แม้จะใช้สนามบินภูมิภาคอื่นได้ แต่คงไม่มีพื้นที่ใดรองรับได้ทั้งหมด
เมื่อครั้งปิดสนามบินในปี 2551 เพียงแค่สัปดาห์เดียว ที่สนามบินทั้งสุวรรณภูมิ และดอนเมือง ถูกปิดตาย ฉุดรั้งให้เศรษฐกิจของประเทศพังยับจนไม่อาจจะประเมินความเสียหายที่แท้จริงได้ ไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาท เพราะสนามบินสุวรรณภูมิ มีปริมาณเที่ยวบินขึ้น-ลง วันละกว่า 750-800 กว่าเที่ยวบินต่อวัน มีผู้โดยสารเดินทางเข้าออกไม่ต่ำกว่าแสนคนต่อวันทั้งชาวไทยและต่างชาติ
นอกจากนี้ยังมีธุรกิจเกี่ยวเนื่องในสนามบิน ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าปลอดภาษี ร้านอาหาร เครื่องดื่ม นวดสปา
ร้านขายของที่ระลึกตลอดจนกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการบิน การให้บริการภาคพื้นทั้งมวล พลอยได้รับผล กระทบ รวมทั้งผลกระทบภาคท่องเที่ยว ซึ่งเวลานี้ถือเป็นช่วงไฮซีซั่น รวมทั้งธุรกิจนำเข้า-ส่งออก ก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน และยิ่งตอกย้ำภาพการบริหารงานที่ไร้ประสิทธิภาพการควบคุมสถานการณ์ของรัฐบาลในสายตาทั่วโลกให้ตกต่ำไปกว่าเดิม
ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ ไม่ได้ต้องการฉายภาพซ้ำให้ดูซ้ำเติมประเทศให้แย่ไปกว่าเดิม
แต่อยากเตือนให้รัฐบาลจับตาสถานการณ์เฝ้าระวังสนามบินสุวรรณภูมิ ให้ยิ่งกว่าไข่ในหิน เพราะหากเกิดอะไรขึ้นอีกแห่ง คงไม่ต้องพูดถึงความเสียหายแล้วว่า จะมากมายมหาศาลเท่าไร เพราะเหตุการณ์ปิดสนามบินครั้งที่ผ่านมา ยังตามหลอกหลอนคนไทยไม่รู้ลืม