กรมอุตุฯเตือน 26-27 มีนาคม ระวังพายุฤดูร้อน ปภ. ให้วิธีป้องกันเตรียมรับมือ
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ภัยพิบัติ กรมอุตุฯเตือน 26-27 มีนาคม ระวังพายุฤดูร้อน ปภ. ให้วิธีป้องกันเตรียมรับมือ
กรมอุตุฯเตือนฉบับที่ 14 พายุฤดูร้อน 40 จังหวัดระวังฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตก มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 26-27 มีนาคม 2562
วันที่ 26 มี.ค.2562 นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ระยะนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ช่วงฤดูร้อนหลายพื้นที่มักเกิดพายุฤดูร้อน ซึ่งมีลักษณะอากาศของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และฟ้าผ่า ส่งผลให้เกิดอันตรายต่อชีวิต และสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน จึงขอแนะข้อควรปฏิบัติในการเตรียมพร้อมรับมือและป้องกันอันตรายจากพายุฤดูร้อน ดังนี
การเตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อน ด้วยการติดตามพยากรณ์อากาศ หากมีประกาศเตือนพายุฤดูร้อนให้เตรียมพร้อมรับมือและปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ด้วยการตรวจสอบอาคารบ้านเรือนให้อยู่ในสภาพแข็งแรง โดยเฉพาะประตู หน้าต่าง และหลังคาบ้าน รวมถึงใช้วัสดุก่อสร้างที่แข็งแรงทนทาน และติดตั้งสายล่อฟ้า จัดเก็บสิ่งของที่ปลิวลมได้ในที่มิดชิด ป้องกันสิ่งของถูกพายุพัดเสียหายและได้รับอันตรายจากการถูกสิ่งของพัดกระแทก ปรับปรุงสิ่งปลูกสร้างบริเวณรอบบ้านให้อยู่ในสภาพปลอดภัย ตัดแต่งกิ่งไม้และต้นไม้ที่เสี่ยงต่อการหักโค่น หากพบเสาไฟฟ้าหรือป้ายโฆษณาอยู่ในสภาพไม่แข็งแรง ให้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาปรับปรุงแก้ไข ดูแลพืชผลทางการเกษตร โดยจัดทำที่ค้ำยันต้นไม้หรือที่กำบังปกคลุมผลผลิตทางการเกษตร เพื่อป้องกันความเสียหายจากพายุลมแรง
การปฏิบัติตนขณะเกิดพายุฤดูร้อน
กรณีอยู่ในอาคาร ไม่อยู่บริเวณดาดฟ้าหรือใกล้ระเบียง เพราะเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด เพื่อป้องกันแรงลมพัดสิ่งของเข้ามาในบ้าน ก่อให้เกิดอันตรายได้ ถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด เพื่อป้องกันกระแสไฟฟ้าจากฟ้าผ่า ทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าเสียหายและผู้ใช้งานได้รับอันตราย ไม่อยู่บริเวณที่เสี่ยงต่อการแตกหัก อาทิ หลังคาสกายไลท์ หน้าต่างกระจก เพื่อป้องกันลูกเห็บตกใส่ ทำให้ได้รับอันตราย
กรณีอยู่กลางแจ้ง อยู่ให้ห่างจากสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง อาทิ ต้นไม้ ป้ายโฆษณา เสาไฟฟ้า เพื่อป้องกันการถูกล้มทับ ไม่อยู่บริเวณพื้นที่โล่งแจ้ง อาทิ สระน้ำ สนามกอล์ฟ ทุ่งนา เพราะเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า ไม่อยู่ใกล้วัตถุที่เป็นสื่อนำไฟฟ้า เช่น รางรถไฟ เพิงสังกะสี เพราะเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า หลีกเลี่ยงการพกพาและสวมใส่เครื่องประดับที่เป็นสื่อนำไฟฟ้า อาทิ เงิน ทอง นาค ทองแดง และร่มที่มียอดเป็นโลหะ งดใช้เครื่องมือสื่อสารและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด เพราะแบตเตอรี่มีส่วนผสมของโลหะ จะเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้า ทำให้เสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า
กรณีอยู่ในรถ จอดรถในบริเวณที่ปลอดภัย ห่างจากต้นไม้ ป้ายโฆษณา เสาไฟฟ้า และสิ่งปลูกสร้างที่เสี่ยงต่อการถูกล้มทับ ปิดประตูและกระจกให้สนิท เพื่อป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่า ไม่สัมผัสส่วนที่เป็นโลหะ เพื่อป้องกันกระแสไฟฟ้าไหลผ่านตัวถังรถลงสู่พื้นดิน ทำให้ได้รับอันตราย ทั้งนี้ การเตรียมพร้อมรับมือ และเรียนรู้การปฏิบัติตนเมื่อเกิดพายุฤดูร้อน จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการได้รับอันตราย ทำให้การดำเนินชีวิตในช่วงที่เกิดภัยเป็นไปด้วยความปลอดภัย
" ประกาศ "
ร่วมแสดงความคิดเห็น