ลพบุรีวิกฤตอ่างแตก ทะลักท่วม “โคกสำโรง” จี้ประกันจ่ายรถกรุงจม
เมื่อวันที่ 18 ต.ค. พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ขึ้นเฮลิคอปเตอร์บินสำรวจสถานการณ์น้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วง อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา-อ.เมือง จ.นครสวรรค์ จากนั้นให้สัมภาษณ์ว่าปี 2560 มีปริมาณฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 30 ทำให้มีน้ำในเขื่อน และลำน้ำมากกว่าปกติ แต่สถานการณ์ความรุนแรงน้อยกว่าปี 2554 มาก ทั้งนี้ได้บริหารจัดการน้ำตามแผนที่วางไว้ ในส่วนพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา งดการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ผันน้ำออกฝั่งซ้ายและฝั่งขวาเข้าแก้มลิงที่เตรียมไว้ และผันน้ำ เข้าทุ่งรับน้ำหลาก
แบ่งเป็นพื้นที่เหนือ จ.นครสวรรค์-อ.บาง ระกำ จ.พิษณุโลก พื้นที่ 265,000 ไร่ เก็บเกี่ยวแล้วเสร็จปลายเดือนส.ค.2560 รับน้ำได้ 400 ล้านลบ.ม. รับน้ำแล้ว 450 ล้าน ลบ.ม. และพื้นที่ใต้ จ.นครสวรรค์ 12 ทุ่ง พื้นที่ 1,149,898 ไร่ เก็บเกี่ยวแล้วเสร็จกลางเดือนก.ย.2560 รับน้ำได้ 1,514 ล้านลบ.ม. รับน้ำแล้ว 1,183 ล้าน ลบ.ม.
กระทรวงเกษตรฯ เร่งช่วยเหลือและเร่งผลักดันน้ำหากไม่มีฝนมาเพิ่ม โดยลดการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาลงภายใน 7 วัน หากไม่มีฝนตกเพิ่ม และจะสามารถลดปริมาณน้ำให้อยู่ในระดับปกติภายในระยะเวลา 1 เดือนตามลำดับ ดังนี้ ภายใน 10 วันเขื่อนเจ้าพระยาปรับลดการระบายน้ำลงไม่เกิน 2,400 ลบ.ม. ต่อวินาที 15 วัน ระบายน้ำลงไม่เกิน 2,200 ลบ.ม.ต่อนาที 20 วัน ไม่เกิน 2,000 ลบ.ม. ต่อวินาที และ 30 วัน ไม่เกิน 700 ลบ.ม. ต่อวินาที ในระหว่างนี้ ส่วนที่เกี่ยวต้องให้ความช่วยเหลือประชาชนและลดผลกระทบให้เหลือน้อยที่สุด
วันเดียวกัน นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า จากการที่ฝนตกหนักในพื้นที่กรุงเทพฯ ช่วงวันที่ 13-14 ต.ค.ที่ผ่านมา มีรถยนต์ถูกน้ำท่วมเป็นจำนวนมาก คปภ.ประสานงานกับบริษัทประกันภัยที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงาน คปภ. ติดตามให้ความช่วยเหลือ และเร่งรัดให้มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนกรณีรถยนต์ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม จากรายงานล่าสุดมีรถยนต์ในพื้นที่กรุงเทพฯ ถูกน้ำท่วมจำนวน 3,184 คัน ทำประกันภัยไว้กับบริษัทประกันวินาศภัย 41 บริษัท คิดเป็นมูลค่าความเสียหายเบื้องต้น 45,598,009 บาท
การจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับรถยนต์ ที่ถูกน้ำท่วมแบ่งเป็น 5 ระดับ คือ ระดับเอ น้ำท่วมถึงพื้นรถยนต์ ประเมินค่าซ่อม 8,000-10,000 บาท มีรายการที่ต้องดำเนินการ 15 รายการ ระดับบี น้ำท่วมถึงเบาะนั่ง ประเมินค่าซ่อม 15,000-20,000 บาท มีรายการที่ต้องดำเนินการ 26 รายการ ระดับซี น้ำท่วมถึงส่วนล่างของคอนโซลหน้า ประเมินค่าซ่อม 25,000-30,000 บาท มีรายการที่ต้องดำเนินการ 39 รายการ
ระดับดี น้ำท่วมถึงส่วนบนของคอนโซลหน้า ประเมินค่าซ่อมเริ่มต้นที่ 30,000 บาทขึ้นไป มีรายการที่ต้องดำเนินการ 40 รายการ และระดับอี รถยนต์จมน้ำทั้งคัน ซึ่งในกรณีนี้บริษัทผู้รับประกันภัยจะคืนทุนประกันภัยให้กับผู้รับประกันภัยสถานเดียว พบว่ารถยนต์ส่วนใหญ่ร้อยละ 70 ถูกน้ำท่วมในระดับเอ-บี จึงกำชับให้บริษัทประกันภัยรถยนต์เร่งรัดจ่ายค่าสินไหมทดแทน
สถานการณ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยาในพื้นที่ จ.ปทุม ธานี ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยายังคงเพิ่มสูงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมวลน้ำจากทางภาคเหนือได้ไหลมาสมทบอย่างต่อเนื่องรวมทั้งฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก ส่งผลให้สถานการณ์น้ำท่วมเอ่อล้นตลิ่ง ที่วัดชินวราราม อ.เมือง จ.ปทุมธานี น้ำเอ่อเข้าท่วมลานวัดสูงประมาณกว่า 50 ซ.ม. ชาวบ้านต่างเร่งช่วยกันกั้นกระสอบทรายป้องกันน้ำเข้าตัวโบสถ์ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เจ้าหน้าที่ อบจ.ปทุมธานี นำเครื่องสูบน้ำมาติดตั้งไว้เพิ่มเติม พร้อมทั้งชาวบ้านต่างเปลี่ยนผลัดเวรเฝ้าระวังดูสถาน การณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตลอด 24 ชั่วโมง
ส่วนบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงก็ได้รับผลกระทบจากน้ำเอ่อล้นชาวบ้านที่อยู่ริมฝั่งเจ้าพระยาตั้งแต่ อ.เมืองปทุมธานี ขึ้นไปถึงอ.สามโคก ได้รับผลกระทบจากน้ำเอ่อเข้าท่วมบ้านเรือน ทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก โดยชาวบ้านต่างเฝ้าระวังดูระดับตลอดเวลาในช่วงนี้เช่นกัน เพื่อเตรียมขนย้ายข้าวของขึ้นที่สูงเพื่อหนีน้ำ ไม่ให้เกิดความเสียหาย
ขณะเดียวกันเกษตรกรเลี้ยงปลากระชัง ในแม่น้ำเจ้าพระยา อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท เดือดร้อนหนัก หลังได้รับผลกระทบ น้ำเหนือไหลแรง ปลาตายเป็นจำนวนมาก นายสนั่น ล้อมวงษ์ อายุ 75 ปี เกษตรกรผู้เลี้ยงปลา กระชัง ม.1 ต.ศิลาดาน เปิดเผยว่า น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลมาจาก จ.นครสวรรค์ มีปริมาณ มากและไหลแรง ทำให้ปลาในกระชังที่เลี้ยงไว้ตายเป็นจำนวนมาก และบางส่วนถูกกระแส น้ำที่ไหลแรงพัดไปกระแทกกับกระชังปลาทำจนเป็นแผลถลอก นำไปขายต่อไม่ได้ เบื้องต้น ได้แก้ปัญหาโดยการนำกระสอบทรายมาถ่วงไว้ในกระชัง และใช้ผ้าสแลนขึงหน้ากระชัง ลดความรุนแรงของกระแสน้ำ บริเวณต.ศิลาดาน มีผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงปลาในกระชัง 24 ราย ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน
วันเดียวกันอ่างเก็บน้ำบ้านห้วยยาง ต.เพนียด อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาด กลางตามโครงการพระราชดำริ เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัย และกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง กว้าง 1 กิโลเมตร ยาว 2 กิโลเมตร ลึก 20 เมตร ปริมาณน้ำ 100,000 ลบ.ม. เกิดแตกเมื่อเวลา 04.00 น.ที่ผ่านมา มวลน้ำจำนวนมากไหลลงสู่พื้นที่ราบต่ำ ในหลายตำบลในเขตพื้นที่ อ.โคกสำโรง
เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบว่ามีรอยแตกที่อ่างประมาณ 3 เมตร ระดับน้ำไหลออกมาจากอ่าง เก็บน้ำระดับความสูงประมาณ 1 เมตร และอีก 1 เมตรจะเสมอพื้นถนน มวลน้ำจะกระจาย ไปในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะบ้านหนองบัว ซึ่งอยู่ใกล้อ่างเก็บน้ำ แต่ไม่มีผลกระทบต่อบ้านเรือนประชาชนมากนัก รวมถึง พื้นที่การ เกษตรที่มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว
นายศักดิ์ศิริกล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าว ที่เกิดขึ้นเนื่องจากคุณภาพของดินสันอ่างที่มีทรายผสมอยู่มาก และไม่มีการบดอัด ทำให้ต้านแรงดันของน้ำไม่ไหว และมีรอยรั่วหลายจุด ซึ่งจะต้องพิจารณาถึงอนาคตที่ต้องมีการปรับปรุงทั้งแนว แต่อ่างเก็บน้ำห้วยยางแห่งนี้มีปริมาณการกักเก็บน้ำที่น้อยมากไม่ถึง 1 ล้าน ลูกบาศก์เมตร โดยไม่มีผลกระทบต่อการเกิดอุทกภัย และทำให้ขาดน้ำในช่วงฤดูแล้ง เพราะ สร้างไว้เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในพื้นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตลพบุรี เท่านั้น
ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณีอ่างเก็บน้ำบ้านห้วยยางรั่วว่า เป็นอ่างเก็บน้ำของ ม.เกษตรศาสตร์ มีความจุไม่กี่แสน ลูกบาศก์เมตร ไม่น่ากังวลเพราะไม่ใช่พนังกั้นน้ำขนาดใหญ่ ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสาเหตุที่เกิดขึ้น เชื่อว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ทั้งหมดทั้งนี้ เชื่อว่าปริมาณน้ำที่ไหลออกมาจากอ่างเก็บน้ำจะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เขตเศรษฐกิจสำคัญ ของ จ.ลพบุรี แต่อาจมีไร่นาของชาวบ้านถูกน้ำท่วมเสียหาย ซึ่งรัฐบาลจะเยียวยาค่าเสียหาย ตามหลักเกณฑ์ต่อไป
ส่วนที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผบ.ตร. ในฐานะโฆษก ตร. เปิดเผยถึงกรณีเดียวกันว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานความเสียหายหรือ ผู้เสียชีวิต เชื่อว่าระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นไม่ส่งผล กระทบทำให้น้ำท่วมสูงในพื้นที่แต่อย่างใด และ จากนั้นระดับน้ำจะลดลงอย่างรวดเร็ว ทางรัฐบาลโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กำชับให้ตำรวจช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่
"พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. จึงสั่งการให้ทุกโรงพักที่ประสบเหตุอุทกภัย ให้ดำเนินการเข้าช่วยเหลือประชาชนโดย เร่งด่วน ให้จัดหาที่พักให้พี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนขาดแคลนที่พักโดยเปิดสถานที่บริเวณ โรงพักให้ประชาชนเข้ามาพักได้ชั่วคราว รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อลงพื้นที่เพื่อนำสิ่งของจำเป็นไปช่วยเหลือประชาชน" โฆษก ตร. กล่าว
ล่าสุดศูนย์ปฏิบัติการพิเศษสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รายงานสถานการณ์น้ำท่วมว่า ขณะนี้ มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 12 จังหวัด 50 อำเภอ 318 ตำบล 1,820 หมูบ้าน 80,223 ครัวเรือน มีประชาชนได้รับผลกระทบ 195,825 ราย และเสียชีวิต 6 ราย
Cr:::khaosod.co.th