นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า แม้สถานการณ์อุทกภัยจะคลี่คลาย แต่จังหวัดปลายน้ำก็เริ่มเกิดอุทกภัยขึ้นแล้ว โดยเฉพาะที่ จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นจุดรวมแม่น้ำมูลและแม่น้ำชีก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขง
ทั้งนี้ แม่น้ำมูลล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมชุมชนสองฝั่งแม่น้ำในเขตเทศบาลเมืองวารินชำราบและเทศบาลนครอุบลราชธานี โดยระดับน้ำมีแนวโน้มสูงขึ้น มีชุมชนต้องอพยพแล้ว 266 ครอบครัว กว่า 900 คน
ด้าน จ.นครพนม สถานการณ์น้ำท่วมยังอยู่ในช่วงเฝ้าระวัง เนื่องจากยังมีฝนตกลงมาซ้ำอีก โดยเฉพาะลำน้ำสงครามและลำน้ำอูนยังอยู่ในภาวะวิกฤต เนื่องจากมีระดับน้ำสูงประมาณ 11-12 เมตร เป็นจุดวิกฤตเกินความจุลำน้ำประมาณ 1 เมตร ล่าสุด จ.นครพนม ได้ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติเพิ่มจากเดิม 7 อำเภอ เป็น 10 อำเภอ
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ยังคงมี 10 จังหวัดที่ประสบปัญหาน้ำท่วม ประกอบด้วย จ.สกลนคร กาฬสินธุ์ นครพนม ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี หนองคาย และพระนครศรีอยุธยา ประชาชนได้รับผลกระทบ 409,303 ครัวเรือน 1,267,372 คน