เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลายพื้นที่ใน จ.กาฬสินธุ์ ยังคงได้รับผลกระทบจากพายุเซินกาอย่างต่อเนื่อง โดยจากประมาณน้ำฝนจำนวนมากที่ตกลงมาทำให้อ่างเก็บน้ำ และแหล่งน้ำต่างๆมีระดับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเอ่อเข้าท่วมพื้นที่นาข้าว บ้านเรือนประชาชนและทำให้ถนนหลายสายถูกตัดขาด โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำ ทั้ง อ.เมือง อ.ยางตลาด อ.กมลาไสย อ.ร่องคำ อ.ฆ้องชัย เนื่องจากปริมาณน้ำจากลำน้ำปาว ลำน้ำพาน และแม่น้ำชีหนุนสูง ทำให้น้ำเอ่อเข้าท่วมพื้นที่นาข้าวเสียหายเป็นวงกว้าง
นอกจากนี้ปริมาณน้ำฝนจำนวนมากจากเทือกเขาภูพานยังคงไหลลงมาพื้นที่ต่ำอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ส่งผลให้พื้นที่นาข้าว และบ้านเรือนประชาชนบางส่วนใน อ.กุฉินารายณ์ อ.เขาวง อ.นาคู อ.สมาชัย อ.สมเด็จ อ.สหัสขันธ์ อ.คำม่วง ซึ่งอยู่ติดเชิงเขาถูกน้ำท่วมสูงและขยายวงกว้างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจากกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวยังทำให้ถนนสายหลักระหว่าง อ.ห้วยผึ้ง- อ.กุฉินารายณ์ ต่อไปยัง จ.มุกดาหาร บริเวณสะพานข้ามลำพะยัง ช่วงบ้านมะนาว-บ้านจอมทอง ต.เหล่าใหญ่ อ.กุฉินารายณ์ ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างจำนวน 2 จุด ถูกกระแสน้ำพัดและเอ่อท่วมสูงทำให้รถไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้ ซึ่งนายโสภณ เจริญพร หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.กาฬสินธุ์ สาขากุฉินารายณ์ พร้อมเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำแผงเหล็กไปกั้นปิดเส้นทางเพื่อความปลอดภัย และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเลี่ยงไปใช้ถนนสาย อ.ห้วยผึ้ง - อ.นาคู อ้อมไปยัง อ.เขาวง จนไปถึง อ.กุฉินารายณ์ โดยจากสถานการณ์ดังกล่าวหนักสุดในรอบ 40 ปี ทำให้หลายหน่วยงานที่เร่งให้การช่วยเหลือ
ล่าสุดที่ห้องประชุมศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ ชั้น 7 นายสุวิทย์ คำดี ผวจ.กาฬสินธุ์ ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมผ่านวีดีโอคอนเฟอร์เรนท์ทางไกลกับอำเภอ ทั้ง 18 อำเภอ เพื่อติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำท่วมจากพายุเซินกาจากทุกพื้นที่ และเพื่อร่วมกันวางแนวทางการให้ช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาอุทกภัย โดยมีนายวิชาญ แท่นหิน หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.กาฬสินธุ์รายให้สถานการณ์ พร้อมกำชับให้พื้นที่เสี่ยงภัย พื้นที่ลุ่มน้ำเตรียมรับมือมวลน้ำที่จะไหลลงมาจากพื้นที่สูง และกำชับการบริหารจัดการน้ำให้มีความเหมาะสมตามหลักชลประทาน โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำเขื่อนลำปาว ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 1,386 ล้าน ลบ.ม.จากความจุ 1,980 ล้านลบ.ม.หรือ 70 % และที่ผ่านมามีการระบายน้ำ 6.5 ล้าน ลบ.ม./วัน เพิ่มเป็น 10 ล้าน ลบ.ม./วัน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่พื้นที่ลุ่มต่ำและพื้นที่ทางการเกษตรเสียหายได้ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ อ.เมือง อ.ยางตลาด อ.ฆ้องชัย อ.กมลาไสย และ อ.ร่องคำ ซึ่งจะต้องประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนให้ทราบเป็นระยะๆตามสื่อทุกช่องทางโดยเฉพาะเสียงตามสาย
ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ซึ่งมีฝนตกหนักถึงหนักมากในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา รวมถึงพื้นที่โดยรอบ ประกอบกับปริมาณน้ำที่ล้นจากอ่างเก็บน้ำห้วยสีทน อ่างเก็บน้ำแก่งดอนกลาง และลำน้ำปาวหนุนสูงจึงทำให้เกิดน้ำท่วมขังบ้านเรือนประชาชน 11 ชุมชน มีผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน 520 ครัวเรือน เจ้าหน้าที่ได้อพยพประชาชนบางส่วนไปศูนย์พักพิงที่ปลอดภัย 30 ครัวเรือน ซึ่งเหล่ากาชาด จ.กาฬสินธุ์ ร่วมกับ เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.กาฬสินธุ์ ได้ตั้งโรงครัวเพื่อให้ความช่วยเหลือ และได้นำสิ่งของบรรเทาทุกข์ไปปลอบขวัญในเบื้องต้นแล้ว
ขณะที่ พล.ต.ต.มนตรี จรัลพงศ์ ผบก.ภ.จว.กาฬสินธุ์ ได้ระดมเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดออกให้ความช่วยเหลือประชาชนทั้งด้านความปลอดภัย ด้านการจราจร และนำสิ่งของอุปโภค บริโภคออกแจกจ่ายให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเบื้องต้น ส่วนนายชีพ น้อมศรี ขนส่ง จ.กาฬสินธุ์ พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงานขนส่ง จ.กาฬสินธุ์ได้นำรถบรรทุก 6 ล้อ ออกให้บริการรับส่งประชาชนฟรีภายในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์
สำหรับสถานการณ์ล่าสุดขณะนี้ จ.กาฬสินธุ์เกิดน้ำท่วมและขยายวงกว้างคลอบคลุม 15 อำเภอ 70 ตำบล 439 หมู่บ้าน มีประชาชนได้รับผลกระทบ 11,976 ครัวเรือน โดยทางจังหวัดได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมในเบื้องต้นแล้ว 11 อำเภอ และอยู่ระหว่างดำเนินการอีก 4 อำเภอ สำหรับด้านความเสียหายมีพื้นที่นาข้าวถูกน้ำท่วมแล้ว 61,165 ไร่ พืชสวน 25 ไร่ บ่อปลา 105 บ่อ ถนนชำรุดเสียหาย 69 สาย