สภาพดินฟ้าอากาศของโลกที่แปรปรวนอย่างหนักจนส่งผลกระทบต่อระบบชลประทานหรือการจัดเก็บน้ำของไทย จนกำลังจะเกิดเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ขึ้น เ
ช็อค!! เขื่อนภูมิพล – สิริกิติ์ เหลือน้ำใช้ไม่เกิน 40 วัน??
นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า การบริหารน้ำใน 4เขื่อนหลัก ทำให้ตรงตามแผนได้ยาก เพราะใช้ถึง 22 จังหวัดต่างจากบางอ่างที่เป็นโครงการพื้นที่เฉพาะซึ่งในการบริหารน้ำของเขื่อนหลักนั้นเมื่อปล่อยลงมาเพื่อการอุปโภคบริโภคการทำประปา เกษตรกรเห็นมีน้ำก็สูบน้ำทำการเกษตรกันไม่เชื่อว่าจะไม่มีน้ำ ดังนั้นการทำงานต้องทำความเข้าใจกับประชาชนจำนวนมาก เพราะห้ามไม่ได้
ทั้งนี้ปัจจุบันเหลือปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 1.3 พันล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) ระบายวันละ 30-35 ล้าน ลบ.ม.
ขณะที่ข้อมูลการตรวจสอบ สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ และป่าสักฯประจำวันที่ 15 มิถุนายน 2558 ก็พบว่า
อ่างเก็บน้ำ ภูมิพล ปริมาตรน้ำในอ่างฯ 4,180 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 31 (ปริมาตรน้ำใช้การได้ 380 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 4) ขณะที่ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ ในวันนี้พบว่ามีค่าเฉลี่ยเป็น 0.00 หลังจากที่เมื่อวานนี้ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ 2.86 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่ปริมาณน้ำระบายในวันนี้อยู่ที่ 10.00 ล้าน ลบ.ม.เมื่อวานนี้ 10.00 ล้าน ลบ.ม.
อ่างเก็บน้ำ สิริกิติ์ ปริมาตรน้ำในอ่างฯ 3,581ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 38 (ปริมาตรน้ำใช้การได้ 731 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 11) ขณะที่ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ ในวันนี้ 6.56 ล้าน ลบ.ม. เมื่อวานนี้ 6.41 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่ปริมาณน้ำระบายในวันนี้อยู่ที่ 22.19 ล้าน ลบ.ม.เมื่อวานนี้ 22.10 ล้าน ลบ.ม.
อ่างเก็บน้ำ แควน้อยฯ ปริมาตรน้ำในอ่างฯ 131 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 14 (ปริมาตรน้ำใช้การได้ 88 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 10)ขณะที่ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ ในวันนี้ 3.72 ล้าน ลบ.ม. เมื่อวานนี้ 0.00 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่ปริมาณน้ำระบายในวันนี้อยู่ที่ 1.73 ล้าน ลบ.ม.เมื่อวานนี้ 1.73 ล้าน ลบ.ม.
อ่างเก็บน้ำ ป่าสักฯ ปริมาตรน้ำในอ่างฯ 86 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 9 (ปริมาตรน้ำใช้การได้ 83 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 9)ขณะที่ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ ในวันนี้ 0.26 ล้าน ลบ.ม. เมื่อวานนี้ 0.26 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่ปริมาณน้ำระบายในวันนี้อยู่ที่ 1.77 ล้าน ลบ.ม.เมื่อวานนี้ 1.78 ล้าน ลบ.ม.
ด้าน นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ แถลงว่าได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่กรมชลประทานกรมส่งเสริมการเกษตรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกระทรวงมหาดไทยเพื่อทำความเข้าใจกับเกษตรกรในพื้นที่ชลประทานและนอกชลประทานในลุ่มเจ้าพระยาทั้ง22 เพื่อสร้างความเข้าใจต่อการใช้น้ำและร่วมกันประหยัดน้ำเนื่องจากปริมาณน้ำใน4 เขื่อนหลักของประเทศคือเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีน้ำอยู่ในปริมาณน้อยจำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำอย่างเคร่งครัด และเพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความวิตกหรือรู้สึกว่าทำไมอีกฝั่งปลูกได้และอีกฝั่งปลูกไม่ได้
"รัฐบาลไม่อยากเห็นภาพสงครามการแย่งน้ำของประชาชนซึ่งขณะนี้พบว่าในพื้นที่ชลประทาน ขณะนี้มีการปลูกข้าวนาปีแล้วทั้งสิ้น3.44 ล้านไร่ จากแผนการเพาะปลูกที่วางไว้ 8.73 ล้านไร่ เป็นแผนปลูกข้าว 7.45 ล้านไร่ นอกนั้นคือพืชอื่น ซึ่งเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายขอความร่วมมือเกษตรกรที่ยังไม่ปลูกชะลอออกไปตามที่กรมชลประทานขอถึงสิ้นเดือน ก.ค. ส่วนที่ปลูกแล้ว 3.4 ล้านไร่ จะพยายามดูแลไม่ให้เกิดความเสียหาย"
รมว.เกษตรฯกล่าวว่า การที่กรมชลฯออกมาแจ้งเลื่อนการทำนาปีออกไปเมื่อต้นเดือนมิ.ย.ทั้งที่ควรจะประกาศตั้งแต่ต้นฤดูการผลิต พ.ค. 2558 นั้นไม่ได้เป็นการแจ้งเตือนที่ช้าเกินไป และไม่ใช้กรมชลฯทำงานล้มเหลว แต่เพราะต้องรอการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดรอบด้านเพื่อพบเหตุจึงแจ้งเตือนซึ่งในเรื่องนี้ต้องยอมรับปริมาณน้ำต้นทุนที่ลดลงของกรมชลฯนั้นเป็นผลสืบเนื่องของการทำนาของเกษตรกรที่มีผลจากนโยบายของรัฐที่ต่อเนื่องมาในการส่งเสริมการปลูกข้าวทำให้เกษตรกรปลูกทั้งนาปีนาปรังการบริหารจัดการน้ำของกรมชลฯบางครั้งจึงอยู่ภายใต้การชี้นำของการเมืองด้วย
ขณะเดียวกัน ได้ขอให้เจ้าหน้าที่ทหารมาช่วยควบคุมการหมุนเวียนรอบส่งน้ำ ให้เป็นไปตามแผน หากเกษตรกรไม่เชื่อฟังอาจเกิดปัญหาขัดแย้งได้ และขอความร่วมมือเกษตรกรและประชาชนติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้หากเดือน ก.ค.ไม่มีฝนตก จะต้องมีปรับแผนการใช้น้ำ และวางมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรอีกครั้ง
ด้าน นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่าสำหรับการช่วยเหลือเกษตรกรที่ไม่สามารถเพาะปลูกได้ในช่วงเวลาดังกล่าวกระทรวงเกษตรฯได้ให้เจ้าหน้าที่ที่ลงพื้นที่สำรวจความต้องการของประชาชนว่าต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลืออะไรอย่างไร
สถานการณ์ดังกล่าวนั้นเรียกได้ว่าเป็นวิกฤติการณ์ภัยแล้งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทยแสดงให้เห็นถึงสภาพดินฟ้าอากาศของโลกและประเทศไทยที่แปรปวนอย่างหนัก
เพราะฉะนั้นการคิดในรูปแบบเดิมด้วยวิธีการเดิมจึงไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ทางด้านการเพาะปลูกของประเทศไทยอีกต่อไป
ล่าสุดทางด้านของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมนำเสนอคระรัฐมนตรีเพื่อที่จะผลักดันเมกะโปรเจคซึ่งมีมูลค่าสูงถึง2.2ล้านล้านบาทเพื่อหาน้ำมาใช้สำหรับพื้นที่ทางการเกษตรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและเขื่อนภูมิพล
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้ากรมชลประทานจะเสนอโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในพื้นที่ทำการเกษตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือและเขื่อนภูมิพล ต่อนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เพื่อเสนอเรื่องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาเป็นการเร่งด่วน
ประกอบด้วย
1.โครงการเติมน้ำในเขื่อนภูมิพล 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)
2.โครงการเติมน้ำโขง เลย ชี มูล เพื่อเติมน้ำมาใช้ในภาคอีสาน 4 หมื่นล้าน ลบ.ม. มูลค่าโครงการรวม 2.2 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ จากการประเมินจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นและการขยายตัวของชุมชนเมือง หากไทยไม่สามารถจัดหาแหล่งน้ำกินน้ำใช้มาได้เพิ่มเติมในอีก 10 ปีข้างหน้า จะขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้แน่นอน
นายสมเกียรติ กล่าวว่า ทั้งสองโครงการจะใช้ระบบการผันน้ำ โดยสูบน้ำในภาคเหนือและภาคอีสานมาเก็บไว้ในระบบท่อ และมีการหมุนเวียนเหมือนโลหิต โดยโครงการโขง เลย ชี มูล จะสูบน้ำจากจังหวัดเลยมาใช้ในภาคอีสานผ่านท่อขนาดใหญ่กว้าง 10 เมตร ยาว 50 กิโลเมตร 1 ท่อ และท่อกว้าง 10 เมตร ยาว 80 กิโลเมตร 1 ท่อ โดยในปี 2558-2559 จะดำเนินการเฟสแรก 1 แสนล้านบาท
หากทำเสร็จจะทำให้เพิ่มพื้นที่ชลประทานในภาคอีสานได้ 30 ล้านไร่ มีน้ำเพียงพอมาพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
นายสมเกียรติ ชี้แจงว่า จากสมมติฐานปริมาณน้ำฝนกับความต้องการใช้และความสามารถในการเก็บกักน้ำในอนาคต พบว่า ปี 2557 มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 285,230 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณความต้องการใช้น้ำรวม 151,750 ล้าน ลบ.ม. แต่เก็บกักไว้ได้เพียง 102,140 ล้าน ลบ.ม. มีความต้องการน้ำที่รัฐบาลไม่สามารถจัดหาได้ 49,610 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ปี 2570 ปริมาณน้ำฝนเท่ากับปี 2557 แต่ความต้องการใช้น้ำเพิ่มเป็น 156,820 ล้าน ลบ.ม. เก็บกักได้ 111,620 ล้าน ลบ.ม. และมีความต้องการน้ำที่รัฐบาลไม่สามารถจัดหาได้ 45,200 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับโครงการเติมน้ำเขื่อนภูมิพลและโครงการโขง เลย ชี มูล เป็นเรื่องเร่งด่วน ที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กรมชลประทานเร่งทำเป็นยุทธศาสตร์ให้ได้ภายในรัฐบาลนี้ โดยตั้งงบปกติ งบเพิ่มเติมและเงินกู้ในช่วงปี 2558-2559 ไว้แล้วรวม 1.1 แสนล้านบาท
วิธีคิดดังกล่าวนั้นก็ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจเพราะหากไล่เรียงสถานการณ์น้ำในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้นจะพบว่าเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูฝนนั้นก็จะมาน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่แต่พอเข้าถึงช่วงฤดูแล้งกลับพบว่าเกิดวิกฤตการณ์ภัยแล้งอย่างหนัก
เพราะฉะนั้นการจัดวางระบบเรื่องชลประทานของประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องเพราะสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้นโดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาถือว่ากำลังจะเข้าสู่ช่วงวิกฤติมากกว่านี้หากในช่วง 1-2 สัปดาห์นี้ไม่มีฝนตกในช่วงเหนือเขื่อน
จนเริ่มมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าท้ายสุดน้ำในเขื่อนภูมิพลกับเขื่อนสิริรกิติ์อาจจะแห้งขอดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
เพราะฉะนั้นจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่สิ่งที่จะสามารถช่วยบรรเทาสถานการณ์ให้ดีขึ้นก็คือการเฝ้าภาวนาให้ฝนได้ตกในปริมาณที่มากขึ้นและที่สำคัญต้องตกให้ถูกจุด โดยเฉพาะพื้นที่เหนือเขื่อน
พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 15 มิถุนายน 2558 - 21 มิถุนายน 2558 มีการคาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 15-16 มิ.ย. มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยมีกำลังค่อนข้างแรง ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้นกับมีฝนตกหนักบางแห่ง
ในช่วงวันที่ 17-21 มิ.ย.มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยมีกำลังแรงขึ้นอีก ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนตกหนาแน่นกับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่ง
ภาคเหนือ
-ในช่วงวันที่ 15-16 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่
-ในช่วงวันที่ 17-21 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง
ภาคกลาง
มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง
ภาคตะวันออก
มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และในช่วงวันที่ 16-18 มิ.ย. จะมีฝนตกหนักบางแห่ง
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)
ในช่วงวันที่ 15-18 มิ.ย.มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนบนของภาค
ในช่วงวันที่ 19-21 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)
มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ ตลอดช่วง
ขณะที่จากวิกฤตการขาดแคลนน้ำที่เกิดขึ้น ได้ส่งผลกระทบกับประชาชนในหลายพื้นที่ของประเทศไทย
ที่จังหวัดเชียงใหม่ สถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ยังเข้าขั้นวิกฤติ โดยนายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำ และปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการชลประทานเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบปริมาณน้ำของเขื่อนขนาดใหญ่ คือ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล และเขื่อนแม่กวงอุดมธารา และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางอีก 12 แห่ง พบว่ามีปริมาณน้ำที่เหลือใช้ได้ถึงช่วงเดือนกรกฏาคมนี้เท่านั้น จึงอยากให้เกษตรกรใช้น้ำอย่างประหยัด โดยเฉพาะชาวนาให้เลื่อนระยะเวลาการเพาะปลูกออกไปประมาณครึ่งเดือน หรือต้นเดือนกรกฏาคม เนื่องจากคาดว่าจะมีฝนตกลงมามากขึ้น ส่วนการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค ยืนยันว่ามีเพียงพอสำหรับการผลิตน้ำประปาอย่างแน่นอน
ด้านนายสุเทพ เลิศศรีมงคล ผู้อำนวยการเขื่อนสิริกิติ์ เปิดเผยว่าขณะนี้เหลือน้ำในเขื่อนที่สามารถใช้ได้เพียง 811.60 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือจะมีน้ำใช้อีกแค่ 40 วัน เท่านั้น หากฝนไม่ตกลงมาจะประสบภัยแล้งอย่างหนัก พร้อมเตือนประชาชนให้ใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อลดความเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำ
ทั้งนี้ จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติแล้งแล้ว 8 อำเภอ จากการสำรวจพบว่า มีประชาชนขาดแคลนน้ำ 62,648 ครัวเรือน เบื้องต้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้นำน้ำออกแจกจ่ายให้แก่ผู้ประสบภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแล้ว จำนวน 6,312,000 ลิตร
ที่จังหวัดลำปาง นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ นายอำเภอวังเหนือ นำชาวบ้าน ทั้ง 8 ตำบล จำนวนกว่า 1 พันราย ร่วมจัดขบวนแห่เครื่องสักการะ หมากสุ่ม หมากเบ็ง ตามประเพณีล้านนา เพื่อทำพิธีบวงสรวง ศาลเจ้าพ่อพญาวัง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวลำปาง เพื่อขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล หลังประสบปัญหาภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วงมาอย่างยาวนาน
ขณะที่ จ.บุรีรัมย์ เกษตรกรบ้านโสกคลอง ต.ร่อนทอง อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ กำลังประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก เนื่องจากฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้ต้นข้าวที่เกษตรกรไถหว่านไปแล้ว ในช่วงปลายเดือนเมษายน ที่ผ่านมา กว่า 1,100 ไร่ เริ่มประสบปัญหาเหี่ยวเฉาและแห้งตายเสียหายแล้วกว่า 700 ไร่
ด้านเกษตรกรเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐ เร่งทำฝนหลวงช่วยเหลือก่อนที่ข้าวจะแห้งตายเสียหายทั้งหมด ซึ่งคาดว่าหากฝนไม่ตกภายใน 1 สัปดาห์ ต้นข้าวจำนวน 400 ไร่ ที่เหลืออยู่จะแห้งตายเสียหายอย่างแน่นอน
ด้าน นายสินชัย พึ่งตำบล นักวิทยาศาสตร์ ชำนาญการพิเศษ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ ได้ลำเลียงสารเคมีที่ใช้ทำฝนหลวง ขึ้นบนเครื่องบิน AU-23 เพื่อบินปฏิบัติการณ์สร้างฝนหลวง ในพื้นที่เพาะปลูก อ.ปากช่อง อ.สีคิ้ว และ อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา หลังประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงมาเป็นเวลานาน โดยเจ้าหน้าที่ได้ใช้ เทคนิคพิเศษให้เกิดการยกตัวของเมฆที่มีความชื้นลอยข้ามเขาใหญ่ เพื่อให้ฝนตกในพื้นที่เป้าหมาย โดยจะใช้เครื่องบิน AU-23 จำนวน 2 ลำ และเครื่องบิน BT-67จำนวน 1 ลำ ขึ้นปฏิบัติการโจมตีกลุ่มเมฆ เฉลี่ยวันละ 6 เที่ยวบิน ไปจนถึงกลางเดือนตุลาคมนี้
เพราะฉะนั้นจากสภาพปัญหาที่เป็นไปก็เป็นที่ชัดเจนว่าประเทศไทยต้องมียุทธศาสตร์ในการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ซึ่งสำนักข่าวทีนิวส์จะได้นำเสนอให้กับคุณผู้ชมได้รับทราบในตอนต่อไป
tnews.co.th