ทำประวัติไอ้เคี่ยมสกัดทะลักลำน้ำ...อีสาน
"น้ำท่วมน่ากลัวน้อยกว่าจระเข้หลุดกรง" เป็นความรู้สึกของชาวบ้านในภาคอีสาน
พื้นที่ที่นับวันฟาร์มจระเข้จะเพิ่มมากขึ้น ในช่วง 10 ปีมานี้ มีเอกชนมาส่งเสริมเพื่อป้อนตลาดเฟอร์นิเจอร์และค่านิยมบริโภคเนื้อเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารเสริมจากจระเข้ที่ตลาดต่างประเทศนิยมมาก ทำให้ปัจจุบันมีฟาร์มที่ขออนุญาตอย่างถูกต้องกระจายอยู่ทุกจังหวัดหลายร้อยแห่ง รวมจระข้กว่าแสนตัว
เมื่อปี 2552 น้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมครั้งใหญ่ใน จ.ชัยภูมิ ทำให้ฟาร์มเลี้ยงจระเข้ขนาดใหญ่ ที่ ต.ภูแลนคา และ ต.ชีบน อ.บ้านเขว้า จ.ชัยภูมิ ได้รับความเสียหาย คอกกั้นบ่อเลี้ยงพัง จระเข้เกือบ 1,000 ตัว หลุดจากฟาร์มไปอยู่ในนาของชาวบ้าน นอกจากจะอาละวาดไล่กินเป็ดไก่แล้ว ยังไล่กัดทำร้ายชาวบ้านบาดเจ็บนับสิบคน ต้องใช้เวลานานกว่า 2 เดือน จึงจับคืนมาได้ แต่ไม่แน่ว่ามีกี่ตัวที่หลุดเข้าสู่ธรรมชาติ
สองปีที่แล้วจระเข้หลุดฟาร์มใน อ.พระยืน จ.ขอนแก่น เข้าไปในบึง ต้องใช้วิธีล่า "จับตาย" เพราะชาวบ้านกลัวว่า หากยังหลงเหลืออยู่ในหนองน้ำธรรมชาติจะทำอันตรายได้ เหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยเฉพาะช่วงน้ำท่วม
ว่าที่ ร.ต.นวรัตน์ จิตร์ภิรมย์ศรี ประมงจังหวัดขอนแก่น ซึ่งย้ายมาจาก จ.ชัยภูมิ บอกว่า ชัยภูมิมีผู้เลี้ยงจระเข้ทั้งเพื่อการค้าและมีกลุ่มผู้เลี้ยงจระเข้เพื่อการแสดง แต่ละรายมีจระเข้ครอบครอง 4-6 ตัว ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง เพราะจะต้องมีการเคลื่อนย้ายไปแสดงโชว์นอกพื้นที่ตลอดทั้งปี และเคยเกิดเหตุการณ์จระเข้หลุดขณะแสดงที่ จ.บุรีรัมย์ จึงต้องเข้มงวดกับกลุ่มนี้ ให้ขออนุญาตครอบครองเพื่อการแสดงโชว์อย่างละเอียด จะต้องส่งแผนการเคลื่อนย้ายจระเข้อย่างละเอียด เพราะจะต้องมีการประสานประมงและเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ที่จะไปแสดง นอกจากนี้ยังขอให้งดการแสดงและเดินทางโชว์ในช่วงหน้าฝนหรือประมาณช่วงเดือนกันยายนและตุลาคม
"เข้มงวดกับการเลี้ยงจระเข้มากขึ้น ให้เจ้าหน้าที่ออกสำรวจตรวจนับทำประวัติจระเข้เลี้ยงในพื้นที่ โดยเฉพาะในหน้าฝนจะต้องเข้มงวดเป็นพิเศษ ทั้งความแข็งแรงของคอก การนับจำนวนให้ละเอียด รวมทั้งต้องทำประวัติจระเข้ที่นำมาเลี้ยงเพื่อแสดง หรือเลี้ยง ให้ครบทั้งหมด แม้ว่าปีนี้จะไม่เกิดเหตุการณ์ฝนหนักน้ำท่วมอย่างรุนแรงก็ต้องไม่ประมาท ที่ต้องให้ความสำคัญอันดับแรกคือความปลอดภัยในการเลี้ยงจระเข้ ต้องได้รับอนุญาตให้เลี้ยงจึงจะเลี้ยงได้ ต้องเป็นไปตามขั้นตอนการขออนุญาต ต้องมีรายละเอียดประกอบทั้งพื้นที่ แบบคอก ต้องแข็งแรงจริง ทั้งเพื่อการค้า เพื่อครอบครอง และเพื่อการแสดง ซึ่งการเลี้ยงเพื่อการแสดงมีขออนุญาตเพียงแห่งเดียวในภาคอีสานคือที่ จ.ชัยภูมิ มีมากกว่า 10 ราย มีจระเข้ในครอบครองเกือบ 100 ตัว" ประมงจังหวัดขอนแก่นกล่าว
นายประเสริฐ ไชยศรีหา ประธานวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงจระเข้บ้านวังยาว อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม บอกว่า เลี้ยงจระเข้เพื่อการค้ามานานกว่า 10 ปี ต่อมามีผู้เลี้ยงมากขึ้น จึงได้จดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน เพื่อจะได้มีความเข้มแข็งต่อรองกับเอกชนได้มากขึ้น ซึ่งระยะหลังการแข่งขันสูงขึ้น มีเอกชนหลายรายมาทำธุรกิจแปรรูปจากจระเข้ นอกจากหนังแล้ว ยังมีตลาดรองรับเนื้อ เลือดและกระดูก ใช้ได้แทบทุกส่วน และจากนี้ไปตลาดอาเซียนจะเปิด ผลิตจากจระเข้จะกว้างขึ้น เชื่อว่าผู้เลี้ยงก็จะมีมากขึ้น เพราะราคาจระเข้ไม่ผันผวนเหมือนกับสัตว์ประเภทอื่นๆ
การลงทุนเริ่มแรกอยู่ที่ก่อสร้างคอก บ่อเลี้ยง และต้นทุนอาหารซึ่งเฉลี่ยแค่ 900 บาทต่อตัวต่อ 3 ปี ส่วนจระเข้ที่จะนำมาอนุบาลที่อีสานจะมี 2 บริษัทใหญ่ที่เพาะพันธุ์ป้อนตลาดอีสาน แต่ปัจจุบันความต้องการจระเข้มีหลายเจ้ามากขึ้น ผลประโยชน์จึงตกที่ผู้เลี้ยงที่จะเลือกขาย ราคาไม่ตก บริษัทที่ส่งเสริมจึงการันตีราคารับซื้อที่แน่นอน โดยคิดจากขนาดรอบหน้าอกหรือความยาว
"แม้ว่าจะต้องใช้เวลานาน 2-3 ปี ถึงจะได้ขาย ถือว่าเป็นเงินออม แต่ราคาที่ดีลงทุนไม่มาก อาหารใช้หัวไก่ ปัจจุบันกิโลกรัมละ 16 บาท ก็คุ้มค่าเลี้ยง 100 ตัวขายได้เกือบ 1 ล้านบาท และถ้าจัดการดีๆ อาจจะได้มากกว่า 1 ล้านบาท ถือว่าเป็นรายได้ที่ดี จากเดิมเคยเลี้ยง 30 ตัว ตอนนี้ขยับมาเลี้ยงเกือบ 500 ตัว เฉพาะใน จ.มหาสารคาม มีผู้เลี้ยงกว่า 80 ราย มีจระเข้กว่าหมื่นตัว เฉพาะกลุ่มสมาชิกวิสาหกิจผู้เลี้ยงจระเข้บ้านวังยาว ตอนนี้มีมากกว่า 7,000 ตัว แต่ถ้ารวมสมาชิกจังหวัดอื่นที่ซื้อจระเข้อนุบาลผ่านกลุ่ม ซึ่งซื้อจากบริษัทแห่งหนึ่งกว่า 16,000 ตัว ยังไม่รวมกลุ่มอื่นๆ ที่กระจายไปทั่วทุกจังหวัดภาคอีสาน"
นายประเสริฐ กล่าวว่า การเลี้ยงจระเข้จึงต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของคนอื่นด้วย หากอยู่ใกล้ชุมชนจะต้องจัดการบ่อและคอกเลี้ยงที่แข็งแรงมิดชิด ป้องกันได้แม้ว่าจะเกิดน้ำท่วมหรืออุทกภัย แม้ว่าจระเข้จะเป็นสัตว์ที่ดุร้าย แต่การเลี้ยงที่ดี การจัดการที่ดี ต้องเริ่มตั้งแต่สถานที่สร้างบ่อ จะต้องไม่อยู่ใกล้แหล่งน้ำธรรมชาติ ที่ชาวบ้านต้องใช้ร่วมกัน และไม่ใกล้แม่น้ำลำห้วย เพราะถ้าเกิดเหตุสุดวิสัย เมื่อหลุดลอดออกไปทำให้นอกจากจะเสียจระเข้ไปฟรีถ้าตามจับไม่ได้ ยังสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้าน และเมื่อไปอยู่ตามแม่น้ำที่ไหลก็จะจับตัวได้ยาก
ในอดีตประเทศไทยเคยมีจระเข้ตามแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่ถูกคุกคาม ถูกล่าหายไปจากแหล่งน้ำธรรมชาติจนหมด เนื่องจากความต้องการบริโภคของมนุษย์อันมีต่อหนังและเนื้อจระเข้มากขึ้น ประกอบกับสภาพความเป็นอยู่และแหล่งอาศัยหากินในธรรมชาติถูกทำลายด้วยการรุกล้ำของมนุษย์ จึงเห็นจระเข้ที่เกิดหรืออยู่ในที่เพาะเลี้ยงเท่านั้น
สำหรับการเพาะเลี้ยงจระเข้จะอยู่ภายใต้กฎระเบียบและตามกฎหมาย พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ซึ่งกำหนดให้จระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทย จระเข้น้ำเค็มและตะโขง เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมาย ห้ามล่า ห้ามค้า ห้ามครอบครอง ห้ามเพาะพันธุ์ ห้ามนำเข้า ห้ามส่งออกจระเข้และผลิตภัณฑ์จระเข้
แต่กฎหมายมีเจตนารมณ์ที่จะอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงและค้าขายสัตว์ป่าคุ้มครองได้ หากสัตว์ป่าชนิดนั้นสามารถทำการเพาะเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ได้ จึงได้มีการออกประกาศกฎหมายกระทรวง มาตรา 17 และมาตรา 18 ของ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535
กำหนดรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดเพาะพันธุ์ได้ กำหนดให้จระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทยและจระเข้น้ำเค็ม เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดเพาะพันธุ์ได้ ผู้ประกอบกิจการเพาะเลี้ยงและการค้าจระเข้ และผลิตภัณฑ์จระเข้ของไทยสามารถครอบครองเพาะพันธุ์และค้าจระเข้ได้ถูกต้องตามกฎหมาย
เครดิต : ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!