แก้กฏหมายชุดนร. คุมไม่ถึงนศ.นุ่งสั้น-รัดติ้ว

ราชภัฏวันนี้


กระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมของเครื่องแบบนักเรียน นักศึกษา ที่นับวันดูจะห่างไกลคุณสมบัติของนักเรียน นักศึกษาเข้าไปทุกที เป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของสังคมมากขึ้นทุกวันๆ โดยเฉพาะเหตุการณ์ล่าสุดที่นักศึกษาสาวจากมหาวิทยาลัยราชภัฏชื่อดัง นุ่งสั้น-รัดติ้ว เข้าไปนั่งอยู่ในศาสนสถาน กระทั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ ต้องเข้าตักเตือนด้วยตัวเอง

กรณีที่เกิดขึ้นเป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น เพราะไม่ว่าจะกวาดสายตาไปยังสถานที่ใด ในรั้วมหาวิทยาลัย บนรถประจำทาง ริมถนน ฯลฯ ล้วนแล้วแต่จะได้เห็นชุดนักศึกษาที่นำแฟชั่นเข้าไปทุกที

เรื่องของ "แฟชั่น" เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแบบนักเรียน นักศึกษา อย่างแยกกันไม่ออก ห้างร้านหันมาเปิดขยายขายเครื่องแบบที่ประยุกต์ให้กับแฟชั่นปัจจุบัน จนกลับกลายเป็นว่าเครื่องแบบที่ถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับ หาซื้อได้ยากกว่าเครื่องแบบตามแฟชั่นเสียอีก

แม้ว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาที่พูดกันมายาวนาน แต่ทางแก้ไขกลับยังไม่มีให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม ขณะที่นับวันปัญหาดูจะรุนแรงและแก้ไขยากขึ้นเรื่อยๆ

ล่าสุดกระทรวงศึกษาธิการในฐานะที่รับผิดชอบโดยตรง ต้องตื่นตัวและหันมาทบทวนบทบาท จนนำไปสู่การเสนอให้แก้ไขพ.ร.บ.เครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2482 ซึ่งใช้บังคับมายาวนานหลายสิบปี ให้เหมาะสมกับสภาพสังคมและยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป

"ปัญหาเครื่องแบบนักศึกษา"


โดยเฉพาะหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ระบุไว้ชัดในร่างพ.ร.บ.นั่นก็คือ ปัญหาเครื่องแบบนักเรียน นักศึกษาในปัจจุบันที่จะแต่งกายตามแฟชั่นมากขึ้น และแฟชั่นการแต่งกายของนักเรียน นักศึกษาเองก็มีการแข่งขันและเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมาก ซึ่งทำให้ผู้ปกครองต้องมีภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้นตามไปด้วย

เรื่องนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ชี้แจงว่า พ.ร.บ.เครื่องแบบนักเรียนที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ประกาศใช้ตั้งแต่พ.ศ.2482 สมัยที่กระทรวงศึกษาธิการยังเป็นกระทรวงธรรมการอยู่ ชื่อหน่วยงาน หรือชื่อสถานศึกษาในขณะนั้นก็เปลี่ยนแปลงไปเป็นส่วนใหญ่แล้ว จึงจำเป็นต้องร่างพ.ร.บ.เครื่องแบบนักเรียนขึ้นใหม่ เพื่อปรับถ้อยคำ ชื่อหน่วยงาน ชื่อสถานศึกษาให้สอดคล้องกับปัจจุบัน โดยหวังที่จะเป็นกฎหมายเพื่อกำหนดมาตรฐานกลางของชุดนักเรียน นักศึกษา

"โดยกำหนดให้เครื่องแบบนักเรียน และนักศึกษาระดับอุดมศึกษาต่ำกว่าปริญญา หมายความถึงเครื่องแต่งกายทั้งหลายรวมทั้งเครื่องหมายต่างๆ ตลอดจนสิ่งประกอบเครื่องแต่งกายอื่นที่กำหนดให้นักเรียนหรือนักศึกษาอุดมศึกษาต่ำกว่าปริญญาของสถานศึกษา ในสังกัดหรือในกำกับ ควบคุมดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ หรือสถานศึกษาสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กทม. เมืองพัทยา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่ได้รับการจัดตั้งตามกฎหมาย"

นอกจากนั้นยังเพิ่มบทลงโทษสำหรับผู้ที่แต่งเครื่องแบบนักเรียน นักศึกษา ทั้งที่ไม่มีสิทธิแต่ง หรือไม่ได้รับอนุญาต จากเดิมที่ระวางโทษไม่เกิน 200 บาท แต่ในร่างพ.ร.บ.เครื่องแบบนักเรียนนี้จะเพิ่มโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

"นศ.อุดมศึกษา มีแนวโน้มแต่งตัวไม่เหมาะสมมากที่สุด"


อย่างไรก็ตามร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ได้ครอบคลุมและมีผลบังคับสถานศึกษาที่มีกฎหมายกำหนดเกี่ยวกับเครื่องแบบนักเรียน หรือนักศึกษาไว้โดยเฉพาะ นั่นก็หมายความถึงสถาบันอุดมศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรีขึ้นไป ซึ่งมีพ.ร.บ.เฉพาะกำกับอยู่ และกำหนดถึงระเบียบในการแต่งกายที่เหมาะสมของนักศึกษาอยู่แล้ว

ขณะที่ปัญหาการแต่งกายไม่เหมาะสมของนักเรียน นักศึกษา หากเปรียบเทียบกันแล้ว นักศึกษาในระดับอุดมศึกษามีแนวโน้มที่จะทวีความไม่เหมาะสมมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่ง ศ.ดร.วิจิตรยอมรับว่า "ปัญหาการแต่งกายในส่วนของมหาวิทยาลัย ไม่ได้เกิดจากกฎหมาย หรือข้อบังคับที่มีอยู่หละหลวม เพราะในพ.ร.บ.ของแต่ละมหาวิทยาลัยมีการกำหนดความเหมาะสมไว้อยู่แล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่การควบคุม ดูแลให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของมหาวิทยาลัย"

มหาวิทยาลัยบางแห่งถึงขั้นขึ้นโปสเตอร์ขนาดใหญ่หน้ามหาวิทยาลัย เชิญชวนให้นักศึกษาใส่ใจ และหันมาแต่งกายให้ถูกระเบียบ แต่ก็เหมือนจะไม่ได้ผลเท่าไรนัก

โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยราชภัฏในเมืองกรุง มักจะอยู่ในการจับจ้องของสังคมเป็นอันดับต้นๆ ซึ่ง รศ.ดร.ช่วงโชติ พันธุเวช อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (มร.สส.) กล่าวว่า การแก้ปัญหาเรื่องการแต่งกายของคนที่อยู่ในวัยเรียนไม่ว่าจะระดับประถมศึกษาหรืออุดมศึกษา ต้องทำให้เป็นระบบและเป็นวาระแห่งชาติ เพราะปัจจุบันจะให้สถาบันการศึกษาไปเข้มงวดกวดขันตรวจตราการแต่งกายกันถึงหน้าประตูคงแก้ปัญหาไม่สำเร็จ แต่ต้องให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งกวดขันกันทั้งระบบ เพราะขณะนี้เครื่องแบบนักศึกษากลายเป็นแฟชั่นไปแล้ว หากบางมหาวิทยาลัยเข้มงวดแต่บางแห่งไม่เข้มงวดก็จะแก้ปัญหาได้ยาก สำหรับ มรภ.สวนสุนันทามีระเบียบให้นักศึกษาที่จะลงทะเบียนใหม่ต้องเข้าโครงการพัฒนาบุคลิกภาพและจริยธรรม โดยทำกิจกรรม 21 กิจกรรม ซึ่งจะมีการแทรกเรื่องการแต่งกายเข้าไปด้วย

"ห้ามทันทีคงทำไม่สำเร็จ"


"เรื่องนี้เป็นหัวข้อใหญ่อีกเรื่องหนึ่งที่มีการหารือในที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัย เพราะวันนี้สังคมวิกฤต ตั้งแต่เด็กระดับประถมศึกษาจนถึงอุดมศึกษาที่อยู่ในสภาพสังคมอย่างนี้ หากไม่ให้ความสำคัญเป็นวาระแห่งชาติจะกลายเป็นปัญหาที่กู่ไม่กลับ"

รศ.ดร.ช่วงโชติยังได้กล่าวอีกว่า ตั้งแต่เป็นอธิการบดีสวนสุนันทาได้เน้นให้นักศึกษาจะต้องเข้าฝึกอบรมและร่วมกิจกรรมพัฒนาบุคลิกภาพและจริยธรรม ซึ่งมหาวิทยาลัยพยายามบ่มเพาะนักศึกษาในเรื่องการแต่งกายที่เหมาะสมผ่านกิจกรรมต่างๆ แต่การให้อาจารย์มายืนหน้าประตูและบอกว่านักศึกษาต้องแต่งกายให้ถูกระเบียบนั้น ตนมองว่าทำอย่างนี้คงไม่สำเร็จ แต่เราต้องทำระบบ ทุกมหาวิทยาลัยด้วย เพราะถึงจะมีการประกาศมาตรการต่างๆ ออกมา หากไม่ได้รับความร่วมมือปฏิบัติตามกันทั้งระบบก็ไม่สำเร็จ อย่างไรก็ตามมหาวิทยาลัยมีข้อบังคับให้นักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาบุคลิกภาพที่เน้นให้แต่งกายถูกระเบียบจึงจะมีสิทธิ์ลงทะเบียนได้ ซึ่งการรณรงค์ต้องค่อยเป็นค่อยไปจะออกกฎห้ามทันทีนั้นทำได้ยาก

ขณะที่อธิการบดีจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อนบ้าน ผศ.ดร.ศิโรจน์ ผลพันธ์ธิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต (มสด.) ชี้แจงว่า มหาวิทยาลัยพยายามดูแลนักศึกษาให้มากขึ้น ทั้งๆ ที่จากเดิมมีการดูแลเรื่องการแต่งกายนักศึกษามาโดยตลอด แต่นักศึกษาส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น การจะห้ามเรื่องเครื่องแต่งกายทันทีนั้นคงทำไม่ได้ แต่ต้องหาวิธีการที่ทำอย่างไรจะให้นักศึกษามีความตระหนักถึงการแต่งกายที่เหมาะสม เพราะสวนดุสิตมีการสอนวิชาพัฒนาบุคลิกภาพอยู่แล้ว แต่มีนักศึกษาเพียงส่วนหนึ่งที่ไม่ทำตาม ซึ่งตนยอมรับว่ามีนักศึกษาจำนวนไม่มากที่มหาวิทยาลัยควบคุมเรื่องการแต่งกายไม่ได้

อย่างไรก็ตามการที่จะแก้ไขกฎหมายเรื่องเครื่องแบบนักเรียนให้ครอบคลุมถึงเครื่องแบบนักศึกษานั้น ตนมีความเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้ดูแลนักเรียน นักศึกษาในระดับการศึกษาที่ต่ำกว่าอนุปริญญาเท่านั้น แต่ในส่วนของอุดมศึกษาเป็นอำนาจของมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่จะดำเนินการ ซึ่งในระเบียบมหาวิทยาลัยทุกแห่งก็มีการกำหนดเรื่องเครื่องแต่งกายของนักศึกษาไว้อย่างเคร่งครัด

"ต้องช่วยกันดูแล ทั้งครู และผู้ปกครอง"


"เราพยายามรณรงค์และเข้มงวดเรื่องการแต่งกายมานานแล้ว แต่การห้ามเด็กก็เหมือนกับการที่อาจารย์กวดขันไม่ให้เด็กนุ่งกระโปรงสั้นเข้ามาเรียนก็จะทำได้เฉพาะวันที่เด็กมีชั่วโมงเรียนเท่านั้น ส่วนวันที่ไม่ได้เข้าเรียนแต่มาทำกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยเด็กกลุ่มหนึ่งก็จะแต่งกายอย่างเดิม เปรียบเสมือนปัญหาการที่เด็กเอาชายเสื้อใส่ไว้ในกระโปรงเมื่อเข้าเรียน

จากนั้นพอออกจากห้องเรียนก็จะเอาชายเสื้อออกทันที ซึ่งเรื่องนี้แม้ว่ามหาวิทยาลัยจะพยายามอบรมบ่มเพาะอย่างไร ต้องขึ้นอยู่กับตัวนักศึกษา และต้องอาศัยครอบครัว ผู้ปกครองที่ช่วยดูแลและอบรมสั่งสอนค่านิยมที่ถูกต้องให้กับเด็กอีกทางหนึ่งด้วย เพราะการใช้กฎระเบียบมาบังคับเพียงอย่างเดียวจะไม่ได้ผล" ผศ.ดร.ศิโรจน์กล่าว

แม้มหาวิทยาลัยเองยืนยันว่ามีกฎระเบียบที่เคร่งครัดในการดูแลนักศึกษาแล้ว แต่เมื่อปัญหายังปรากฏให้เห็นชัดในสังคมอยู่คงต้องเป็นภาระของชาวมหาวิทยาลัยต่อไป

ว่าทำอย่างไรให้ปัญหาเหล่านี้ทุเลาลงได้

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์