แก๊งค้ามนุษย์โปะยากลางหมอชิตฟื้นกลางเรือตังเกบังคับทำงาน 8 เดือน

"ถูกโปะยาจากหมอชิต2 โผล่กลางทะเล"


สองหนุ่มบุรีรัมย์ถูกแก๊งค้ามนุษย์โปะยาในหมอชิต ฟื้นอีกทีอยู่บนเรือประมงกลางทะเลปากพนัง ถูกขายพร้อมหนุ่มจากสนามหลวงอีก 2 คน ราคารวม 5 หมื่นบาท ต้องทำงานนานกว่า 8 เดือน

จึงได้กลับเข้าฝั่ง โชคดีไต้ก๋งสงสาร พอกลับเข้าฝั่งให้เงิน 3 พันกลับบ้านเกิด หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหายร่วมพัฒนาสังคมฯ ตรวจสอบ ยันได้รับแจ้งเด็กหนุ่มถูกลักพาลักษณะนี้จำนวนมาก ขอทุกหน่วยงานระดมตรวจสอบแรงงานบนเรือประมง

ขบวนการค้ามนุษย์ ลักพาตัวเด็กหนุ่มเพื่อไปเป็นลูกเรือประมงรายนี้ เปิดเผยขึ้นจาก นายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ พร้อมด้วยนายสุริยัณห์ อภัยจิตต์ นักพัฒนาสังคม 7 สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.บุรีรัมย์ เดินทางไปพบ นายวิรัตน์ และนายท็อป ทั้งสองคนอายุ 16 ปี ราษฎรใน ต.หินเหล็กไฟ อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงกรณีผู้ปกครองแจ้งว่า ถูกแก๊งค้ามนุษย์ลักพาตัวไปนานกว่า 8 เดือน

นายท็อป เล่าว่า เป็นลูกพี่ลูกน้องกับนายวิรัตน์ หลังเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ก็ไม่ได้เรียนต่อ เพราะที่บ้านยากจน และชักชวนกันเดินทางไปหาพ่อที่ทำงานก่อสร้างใน กทม. โดยขึ้นรถโดยสารมาลงที่สถานีขนส่งหมอชิต 2 ช่วงเช้ามืดวันที่ 23 มิถุนายน 2549 ระหว่างนั้นได้เข้าห้องน้ำ และสังเกตว่ามีกลุ่มชายฉกรรจ์เดินสวนมา แต่ไม่ได้เอะใจอะไร จากนั้นหมดสติไปตอนไหนไม่ทราบ มารู้ตัวอีกทีก็อยู่บนเรือประมงที่ลอยเรืออยู่กลางทะเลแล้ว มาทราบภายหลังว่าเป็นเรือประมงที่ลอยลำระหว่างน่านน้ำของประเทศอินโดนีเซีย และมาเลเซีย

"ทำงานนานถึง 8 เดือน ถึงได้กลับบ้าน"


นายท็อป เล่าถึงชีวิตบนเรือว่า มีไต้ก๋งเรือ ช่างเครื่อง คนทำกับข้าว คนงานรวมทั้งหมด 7 คน มาภายหลังทราบว่าเพื่อนคนงาน 2 คน คนหนึ่งเป็นชาวเชียงราย อีกคนอยู่ย่านบางแค กทม. อายุประมาณ 30 ปี ถูกลักพาตัวมาในลักษณะเดียวกันจากสนามหลวง ทั้งนี้ขณะอยู่บนเรือถูกสั่งให้ทำงานกู้อวน จับปลา คัดปลา หากเป็นช่วงเดือนมืดจะปล่อยอวน 2 ครั้ง เวลา 17.00 น. และ 20.00 น. ช่วงเดือนหงายต้องทำงานหนัก ปล่อยอวนจับปลาทั้งกลางวันกลางคืน ได้กินข้าวเพียงวันละ 2 มื้อ เช้าและเย็นเท่านั้น ส่วนค่าจ้างไม่เคยได้รับ ในใจคิดถึงบ้านมากแต่ไม่กล้าร้องขอไต้ก๋งเรือ เพราะกลัวจะถูกทำร้ายหรือฆ่าทิ้ง

ทำให้ต้องทนทำงานหนักทุกอย่างตามคำสั่ง เพื่อให้มีชีวิตรอด หวังเพียงจะได้กลับบ้านมาพบหน้าพ่อแม่อีกสักครั้ง

นายท็อป เล่าด้วยว่า จนกระทั่งวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ไต้ก๋งได้สอบถามว่าจะทำงานต่อหรือไม่ ซึ่งได้แจ้งว่าอยากกลับบ้าน ไต้ก๋งจึงพาขึ้นฝั่งไปส่งไว้ที่สถานีรถไฟ จ.นครศรีธรรมราช และให้เงินคนละ 3,000 บาท ส่วนค่าแรงอื่นไม่มี โดยบอกว่าค่าจ้างทั้งหมดมีนายหน้าที่พาตัวมาทำงานเบิกไปหมดแล้ว จึงเดินทางกลับบ้านที่ จ.บุรีรัมย์ ท่ามกลางความดีใจของคนในครอบครัวที่ได้กลับมาพบกันอีกครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่คิดว่าเสียชีวิตแล้ว แต่เมื่อทราบว่าถูกลักพาตัวไปทำงานบนเรือจึงมาแจ้งข้อมูลกับศูนย์ข้อมูลคนหาย

นายเอกลักษณ์ หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ กล่าวว่า ระยะแรกที่ครอบครัวของทั้งสองคนมาแจ้งกับศูนย์ข้อมูลคนหาย ก็ได้ไปติดตามตัว โดยเริ่มจากบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต สอบถามพยานยืนยันว่า เห็นคนทั้งสองจริง แต่หลังจากนั้นไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นอย่างไร เบื้องต้นสันนิษฐานว่า อาจไปทำงานก่อสร้างใน กทม.แล้วศูนย์ติดตามตัวแล้วไม่พบ กระทั่งผ่านไปนานกว่า 8 เดือน ทางบ้านจึงมาแจ้งว่าพบตัวแล้ว

"เร่งให้ตรวจสอบ ข้อมูลคนงานเรือประมง"


นายเอกลักษณ์ เล่าว่า จากการสอบถามทั้งสองคนบอกว่า จำได้ว่าเรือที่ไปอยู่ด้วย เป็นเรือเก็บปลาขนาด 8 ช่อง ซึ่งถือว่าเป็นเรือขนาดใหญ่มาก แต่มีคนงานเพียง 7 คน ทำให้ทุกคนต้องทำงานหนัก และคนบนเรือบอกว่า ทั้ง 4 คนคือ นายท็อป นายวิรัตน์ และชายอีก 2 คน ที่ถูกลักพาตัวมาจากสนามหลวง ระหว่างที่ยังไม่รู้สึกตัว ได้ถูกส่งขายที่มหาชัยก่อน ในราคา 4 คน 5 หมื่นบาท จากนั้นขายต่อไปที่ปากพนังอีกทอดหนึ่ง โดยนำตัวทั้งหมดขึ้นรถมาส่งลงเรือ และมารู้สึกตัวอีกทีขณะเรือลอยลำกลางทะเลแล้ว

"วิธีการลักพาตัวนั้น ไม่เชื่อว่าจะมียาสลบแบบแตะแขน แต่เข้าใจว่าอาจเป็นการโปะยา ให้สะลึมสะลือ จำความไม่ได้ โดยคนร้ายจะลงมือช่วงตีสี่-ตีห้า เพราะคนไม่พลุกพล่าน จากข้อมูลทราบว่า ทำมาแล้วหลายครั้ง เคยมีคนที่ จ.ศรีสะเกษ ตกเป็นเหยื่อนาน 2 ปี ถูกขายไปทั้งหมด 6 ครั้ง ให้ข้อมูลว่า มีการทารุณกันบนเรือ ถูกยิงและฆ่าถีบทิ้งทะเลมาแล้ว ปัจจุบันคนนี้ยังอยู่ในอาการหวาดกลัว ซึ่งคาดว่ามีลูกเรือที่ถูกจับตัวมาด้วยวิธีเหล่านี้จำนวนมาก เพราะคนเหล่านี้ประวัติจะหายไปจากสังคมเลย หากรอดกลับมาเราจึงจะทราบความจริง ว่ามีคนที่ตกเป็นเหยื่อลักษณะนี้เกิดขึ้นจริงๆ จึงขอให้ทุกหน่วยงานเร่งแก้ไขและตรวจสอบลูกเรือประมงทั้งหมด ว่ามีประวัติเป็นมาอย่างไร" นายเอกลักษณ์ กล่าว

นายสุริยัณห์ อภัยจิตต์ นักพัฒนาสังคม สำนักงานพัฒนาสังคมฯ กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งสองคน ตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ เบื้องต้นสำนักงานพัฒนาสังคมฯ ได้ให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนประกอบอาชีพ หรือเงินฉุกเฉินไปแล้วรายละ 1,900 บาท พร้อมเครื่องอุปโภคบริโภค เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น จากนั้นจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ ส่วนการช่วยเหลือระยะยาวนั้น สำนักงานพัฒนาสังคมฯ พร้อมสนับสนุนให้ฝึกอาชีพที่ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อให้มีความรู้ด้านการประกอบอาชีพและมีงานทำหาเลี้ยงชีพต่อไป

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์