"พบนกกระพงปากยาว หลังไม่พบนานมากแล้ว"
ข่าวดีของไทยในครั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 6 มี.ค.ว่า นายกวิน ชุติมา นายกสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย พร้อมกับ ผศ.ดร.ฟิลลิป ดี ราวด์ นักวิชาการคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าวเรื่องการค้นพบนกพงปากยาว ครั้งที่ 2 ในรอบ 139 ปี โดย ผศ.ดร.ฟิลลิปกล่าวว่า เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2549 ที่ผ่านมา ทีมงานศึกษาใส่ห่วงขานกอพยพและนกประจำถิ่นของตน พร้อมกับกลุ่มวิจัยสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
ที่เข้าไปทำงานบริเวณแปลงทดลองบำบัดน้ำเสีย ของโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อม แหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เพชรบุรี ทีมศึกษาได้จับนกชนิดหนึ่ง มีลักษณะคล้ายนกพงปากยาว (A.orinus) วัดความยาวจากปลายปากถึงปลายหางได้ 18 เซนติเมตร ขนาดของปีก ยาว 64 มิลลิเมตร ขนสีน้ำตาลเรื่อๆ ได้เก็บขนหาง เพื่อตรวจดีเอ็นเอเปรียบเทียบกับนกพงปากยาวที่เคยพบที่ประเทศอินเดีย เมื่อ 139 ปีก่อน ที่ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ของประเทศสวีเดน พบว่าเป็นนกชนิดเดียวกัน
ถือเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมาก เพราะนักปักษีวิทยาทั่วโลก เชื่อมาตลอด 139 ปี ว่านกชนิดนี้สูญพันธุ์ไปแล้ว ไม่น่าเชื่อว่าจะมาพบอีกในประเทศไทย หลังจากตรวจสอบดีเอ็นเอและข้อมูลประกอบอื่นๆอย่างละเอียดแล้ว เรามั่นใจว่านกพงปากยาวยังไม่สูญพันธุ์ จากข้อมูลใน ดีเอ็นเอประมาณการไว้ว่า น่าจะมีนกอย่างตัวนี้ในธรรมชาติอยู่ราว 40 ตัว ผศ.ดร.ฟิลลิปกล่าว