ทั้งนี้ขั้นตอนทำเรื่องขออนุญาตแต่งหญิงเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
หากเป็นบุคคลที่ยังไม่ได้แปลงเพศ ต้องขอใบรับรองแพทย์และจดหมายรับรองจากสมาคมสตรีข้ามเพศ เพื่อยื่นเป็นหลักฐานประกอบการขออนุญาต แต่หากเป็นบุคคลที่แปลงเพศแล้วให้ยื่นเพียงจดหมายรับรองจากสมาคมสตรีข้ามเพศเพียงอย่างเดียว ไม่จำเป็นต้องมีใบรับรองแพทย์ ซึ่งขั้นตอนยื่นเรื่องขออนุญาตแต่งกายเป็นเพศหญิงนั้นก็ไม่ถือว่ายากลำบาก เพราะโชคดีที่เหล่าอาจารย์เข้าใจกลุ่มสาวประเภทสอง
“ปีการศึกษา 2553 ไม่เฉพาะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เท่านั้นที่อนุญาต ให้สาวประเภทสองแต่งหญิงเข้ารับปริญญา แต่ยังมีมหาวิทยาลัยนเรศวร และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีที่ทางมหาวิทยาลัยเข้าใจความรู้สึกของกลุ่มสาวประเภทสอง เพราะหากต้องแต่งกายเป็นชายเพื่อรับปริญญาก็ถือว่าขัดต่อความรู้สึกของตัวเองเป็นอย่างมาก” นายธันย์สิตา กล่าว
ด้านนายยลดา เกริกก้อง สวนยศ หรือ น้องนก สมาชิก.อบจ.น่าน ในฐานะนายกสมาคมสตรีข้ามเพศแห่งประเทศไทยกล่าวว่า
เธอได้แต่งกายแบบหญิงเพื่อเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรเมื่อปี พ.ศ. 2550 หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งถือเป็นคนแรกของสมาคม และเธอได้ให้คำปรึกษากับน้องๆ ที่สำเร็จการศึกษาในรุ่นต่อๆ มาเกี่ยวกับขั้นตอนการยื่นขออนุญาตกับมหาวิทยาลัยต้นสังกัดของเขา
การขออนุญาตแต่งกายเป็นหญิงต้องขอใบรับรองแพทย์ที่เรียกว่า GID หรือ Gender Identity Disorder
ซึ่งจะมีคำวินิจฉัยจากแพทย์ชัดเจนว่าเธอมีภาวะทางเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด พร้อมคำแนะนำในการบำบัด เช่นการให้ฮอร์โมน ให้แต่งหญิงตลอดเวลา หรือในบางกรณีหมออาจระบุให้ผ่าตัดแปลงเพศ เอกสารนี้ทำให้สังคมเข้าใจเหตุผลว่าทำไมคนกลุ่มนี้จึงต้องแต่งตัวเป็นหญิงไม่ใช่แค่เพราะความต้องการจะทำ แต่มีปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเขา
ข้อบังคับของแพทยสภาประกาศเมื่อ ปี พ.ศ.2552 กำหนดว่าก่อนทำการผ่าตัดแปลงเพศแพทย์ต้องทำการวินิจฉัยและกำหนดวิธีการบำบัดอย่างชัดเจน
ซึ่งตรงนี้ช่วยได้มาก เพราะทำให้เกิดเป็นข้อปฏิบัติเดียวกันของแพทย์ที่ทำการตรวจวินิจฉัยสตรีข้ามเพศมีความชัดเจนและเป็นที่ยอมรับ เป็นเรื่องที่น่ายินดีและขอขอบคุณทางผู้บริหาร มธ. ที่เปิดโอกาสให้น้องๆ สตรีข้ามเพศได้แต่งกายเป็นหญิงในการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ไม่ใช่แค่ปัญหาเครื่องแต่งกายนักศึกษา หรือบัณฑิต แต่คนข้ามเพศยังมีปัญหากับเครื่องแต่งกายหรือเครื่องแบบในการทำงานด้วยหน่วยงานรัฐก็มีกฎระเบียบที่เคร่งครัดเรื่องการแต่งกายตามเพศบางรายเจ้านายถึงขั้นตัดสินใจไม่จ้างงาน แม้เขาจะมีความสามารถ เพราะหัวหน้างานไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าจะให้เขาสวมเครื่องแบบเป็นชายหรือหญิง เพราะหากให้แต่งเป็นหญิงก็ขัดกับกฎระเบียบที่ตั้งไว้ อาจถูกหาว่าละเลยต่อกฎระเบียบ
หากให้แต่งเป็นชายก็เกรงว่าสังคมจะมองว่าบังคับจิตใจผู้ใต้บังคับบัญชาจนเกินไป บางรายจึงยุติปัญหา
โดยการไม่จ้างงานแล้วเลือกคนที่มีสภาพตรงกับเพศกำเนิดการอนุญาตบัณทิตเป็นรายๆ ไป เป็นสิ่งที่ดี แต่ตนเกรงว่าจะสร้างปัญหาในสังคมได้ในอนาคต เพราะอาจถูกมองเป็นการเลือกปฏิบัติ เพราะบางมหาวิทยาลัยอนุญาตแต่บางแห่งไม่อนุญาต จึงควรมีกฎหมายที่ประกาศออกมาใช้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
"อยากฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำกฎหมายต่างๆ เกี่ยวกับคนข้ามเพศให้มีความชัดเจนว่าจะทำอย่างไรกับพวกตน จะปรับเปลี่ยนสิทธิทางกฎหมายให้ตรงกับเพศได้อย่างไรในหลายๆ เรื่องที่ยังเป็นปัญหาอยู่ "
ด้านศาสตราจารย์ ดร.พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
กล่าวว่า ที่ผ่านมา ยังไม่เคยมี นศ. ชาย ที่แต่งหญิง ขอแต่งหญิงรับปริญญาบัตร ซึ่งตน จะคุย กับ คณบดี สภามหาลัยและองค์การบริหาร นักศึกษาถึงประเด็นนี้อีกครั้ง แต่ยังไม่ได้กำหนดเวลาว่าเมื่อไหร่จะประชุมกันเพื่อจะหาข้อตกลงร่วมกัน และประกาศใช้เป็นกฎเกณฑ์ ร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ตนก็ไม่ ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไรคงต้องรอต้องฟังเหตุผลจากทุกฝ่ายของมหาวิทยาลัยก่อน
นายนที ธีระโรจนพงษ์ (เกย์นที) แกนนำเครือข่ายอัตลักษณ์ทางเพศ กล่าวว่า
กรณีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อนุญาตให้นักศึกษาสาวประเทศสอง แต่งกายเป็นเพศหญิงเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรได้นั้น ถือเป็นเรื่องที่ควรให้การสนับสนุน เนื่องจากการบังคับให้สาวประเภทสอง แต่งกายเป็นชายหรือบังคับให้แสดงพฤติกรรมที่ตรงกันข้ามกับสภาวะจิตใจที่แท้จริงถือเป็นเรื่องที่ไม่สมควร ซึ่งการแต่งกายเป็นหญิงของนักศึกษาสาวประเภทสอง เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ก็ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนหรือไปริดรอนสิทธิของบุคคลอื่นแต่อย่างใด
“อยากให้สังคมเปิดใจยอมรับและมองว่าการที่สาวประเภทสอง เพราะการแต่งหญิงหรือแต่งชายไม่ได้เป็นสิ่งที่ยืนยันความรู้ความสามารถของคนเรา ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถือเป็นต้นแบบของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ที่อนุญาตให้นักศึกษาสาวประเภทสองแต่งกายเป็นเพศหญิงเข้ารับปริญญา และต่อไปในอนาคตคิดว่ามหาวิทยาลัยอื่นๆ ก็จะอนุญาตให้สาวประเภทสองแต่งกายเป็นเพศหญิงรับปริญญาได้ เพราะสาวประเภทสองนั้นมีนิสัยและพฤติกรรมเป็นผู้หญิงอยู่แล้ว การถูกบีบบังคับจากสังคมให้แต่งกายเป็นผู้ชายจึงถือเป็นการบังคับจิตใจ และสร้างความกดดันให้กับนักศึกษาสาวประเภทสองเป็นอย่างมาก” นายนที กล่าว
นายนที กล่าวต่อว่า ขณะนี้กำลังพลักดันเรื่องกฎหมายแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกัน และการเปลี่ยนคำนำหน้านามจาก นาย เป็น นางสาว
เพื่อสร้างความเท่าเทียมให้กลุ่มคนที่มีความหลายหลายทางเพศ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการเริ่มต้นดำเนินการ ทั้งนี้ตนมองว่าหากกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศและสาวประเภทสอง ไม่ได้รับสิทธิพื้นฐานที่เท่าเทียมกับบุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นการจดทะเบียนสมรส และการเปลี่ยนคำนำหน้านาม จะสร้างความทุกข์ทรมาณและความยากลำบากในการดำเนินชีวิตให้กับกลุ่มคนเหล่านี้