เมื่อวันที่ 18 ก.ค. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ
เปิดเผยว่าดีเอสไอได้สรุปผลการสืบสวนสอบสวนกรณีทุจริตการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุต้องสงสัย จีที 200 และอัลฟ่า 6 แล้วพบว่ากรณีดังกล่าวมีมูลความผิด 2 ประเด็นคือ การจัดซื้อราคาแพงและความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) ซึ่งดีเอสไอได้ส่งสำนวนการสอบสวนไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) แล้ว เนื่องจากผู้เกี่ยวข้องเป็นข้าราชการระดับสูงอยู่ในอำนาจการตรวจสอบของป.ป.ช.
ส่วนดีเอสไอในวันนี้(18 ก.ค.) ตนทำหนังสือแจ้งไปยัง 13 หน่วยงาน
ที่ได้จัดซื้อเครื่องมือดังกล่าวเพื่อให้ตรวจสอบภายในหน่วยงานว่าถูกหลอกลวงหรือฉ้อโกงจากบริษัท ผู้ขายและผู้ผลิตในต่างประเทศหรือไม่ เช่น กองทัพอากาศ กรมสรรพาวุธ กองทัพบก กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กรมราชองครักษ์ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) หากพบว่าหน่วยงานของตัวเองถูกฉ้อโกงหลอกลวง ขอให้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อดีเอสไอโดยเร็ว เนื่องจากขณะนี้เจ้าของบริษัทผู้ผลิตเครื่องมือดังกล่าวถูกทางการประเทศอังกฤษจับกุมดำเนินคดีฐานฉ้อโกงแล้ว
สำหรับรายละเอียดผลการสอบสวนกรณีทุจริตจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุต้องสงสัย จีที 200 และอัลฟ่า 6 มีการสรุปผลสอบไว้ 2 ประเด็น
คือ หน่วยงานจัดซื้อในราคาที่สูงแพงเกินความจำเป็นหรือไม่ กรณีดังกล่าว พบว่าการจัดซื้อของหน่วยงานเป็นไปตามขั้นตอนระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ที่กำหนดว่า “ เจ้าหน้าที่พัสดุจะต้องจัดทำรายงานการขอซื้อ ราคามาตรฐาน หรือราคากลางของทางราชการ หรือราคาที่เคยซื้อหรือจ้างครั้งหลังสุดภายในระยะเวลา 2 ปีงบประมาณ” โดยมีการจัดทำรายงานการจัดซื้อแต่ไม่มีการจัดทำราคากลางไว้ เนื่องจากเครื่องตรวจวัตถุต้องสงสัยไม่มีการกำหนดราคากลางไว้ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุฯ
อย่างไรก็ตาม ได้มีข้อสงสัยกรณีที่จัดซื้อแต่ละส่วนราชการมีราคาแตกต่างกันมาก
อีกทั้งเมื่อตรวจสอบประสิทธิภาพจากการทดลองของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพบข้อบกพร่องหลายส่วน เช่น ไม่พบว่ามีการแผ่สนามไฟฟ้า ไม่พบประจุไฟฟ้าสถิตย์สะสมบนพื้นผิวเครื่อง ไม่พบว่ามีการแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ไม่พบการเคลื่อนที่ของเข็มชี้ทิศทางและ ไม่พบการเคลื่อนที่บอกทิศทาง ดังนั้น จึงเชื่อได้ว่าการจัดซื้อเครื่องมือดังกล่าวมีการจัดซื้อในราคาแพงเกินความจำเป็น ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ เข้าข่ายความผิด ข้าข่ายการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งดีเอสไอได้ส่งสำนวนป.ป.ช.รับไปดำเนินการตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค. 2554
ส่วนประเด็นพฤติการณ์ของกลุ่มบริษัทที่เสนอขายและขายเครื่องตรวจวัตถุต้องสงสัย
มีพฤติการณ์ที่ไม่น่าจะสุจริตในการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) พบว่าเครื่องมือดังกล่าวผลิตและจัดจำหน่ายโดยบริษัท คอมส์แทร็ค จำกัด (Comstrac Co., Ltd) ซึ่งเป็นบริษัทของประเทศอังกฤษ โดยบริษัทดังกล่าวได้แต่งตั้ง 2 บริษัทเอกชน เป็นตัวแทนและผู้แทนจำหน่ายในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ต่อมาบริษัท ทั้ง 2 ดังกล่าว ได้แต่งตั้งบริษัท เอกชนในประเทศไทยอีก 3 บริษัท เป็นผู้แทนจำหน่ายช่วงอีกทอดหนึ่ง
เมื่อพิจารณาจากพยานหลักฐานต่างๆ ประกอบข้อมูลการยื่นเสนอราคา และข้อมูลการจัดซื้อของหน่วยงานต่างๆ
พบความผิดปกติเกี่ยวกับการให้บริษัทเสนอราคาเข้ามาแข่งขันเป็นคู่เทียบทำให้ราคาที่นำมาประกอบการพิจารณาแพงกว่าปกติ จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงมีข้อพิจารณาถึงพฤติการณ์ที่อาจเข้าข่ายความผิดตาม มาตรา 4 ของ พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ มูลความเสียหายไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท