สื่อต่างชาติวิตกไทย ´วุ่น´ หลัง ´บึ้ม´!

"ประเทศกำลังเข้าสู่ความวุ่นวาย"


เอเอฟพี/ไทม์/เฮอรัลด์ทรีบูน - สื่อต่างประเทศรายงาน นักวิเคราะห์ต่างมองไทยหลังเหตุบึ้มกรุงเทพฯเมื่อ 1 สัปดาห์ก่อน ได้นำพาประเทศกลับสู่ความชุลมุนวุ่นวายและความตึงเครียดทางการเมือง อีกทั้งยังทำให้เกิดข้อกังขาว่า คณะทหารจะทำตามสัญญาเรื่องการฟื้นฟูประชาธิปไตยหรือไม่

อินเตอร์เนชั่นแนลเฮอรัลด์ทรีบูน กล่าวในบทวิเคราะห์ข่าวว่า เหตุระเบิดกรุงเทพฯเมื่อวันสิ้นปีเก่า เป็นสัญญาณการเริ่มต้นของปีใหม่ที่ยากลำบากสำหรับประเทศไทย ในขณะที่ฝ่ายทหาร, ตำรวจ, และพวกชนชั้นนำซึ่งอยู่ในสภาพพร้อมรบ ต่างต่อสู้กันอุตลุดเพื่อควบคุมอนาคตของประเทศ

บทวิเคราะห์ข่าวนี้อ้างคำพูดของนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศแห่งพรรคประชาธิปัตย์ที่มองว่า "ประเทศนี้กำลังมุ่งเข้าสู่ความชุลมุนวุ่นวาย" โดยที่พวกกลุ่มเก่าๆ ย่อมจะต้องหาทางรวมตัวกันใหม่ โดยที่กลุ่มปกครองเวลานี้อยู่ในอาการงงงวย เมื่อตระหนักขึ้นมาใหม่ถึงความจริงที่ว่า สิ่งต่างๆ ไม่ได้สงบนิ่งอย่างที่พวกเขาคิดกัน

"รัฐประหารผิดพลาด"


ทางด้านสำนักข่าวเอเอฟพีก็ได้จัดทำรายงานข่าวที่อยู่ในอารมณ์ความรู้สึกคล้ายๆ กัน รายงานชิ้นนี้อ้างความเห็นของนายฐิตินันท์ พงศ์สุทธิรักษ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่กล่าวว่า เขามองสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเป็นการต่อเนื่องของเหตุวิกฤตและความสับสนปั่นป่วนและการเผชิญหน้า ซึ่งบังเกิดขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว

นายฐิตินันท์กล่าวว่า การระเบิดที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่า การรัฐประหารคราวนี้เกิดความผิดพลาดแล้ว "พวกเขาไม่ได้ดำเนินการรัฐประหารที่เด็ดขาด มันเป็นการรัฐประหารที่ปล่อยให้ทักษิณและพวกพ้องบริวารของเขาหลุดออกจากเบ็ดเกี่ยว"

ในประเด็นเรื่องกลุ่มที่ก่อเหตุร้ายคราวนี้ เอเอฟพีบอกว่านักวิเคราะห์จำนวนมาก ดังเช่น นายทวี สุรฤทธิ์กุล คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มองว่า อาจจะเป็นฝีมือของตำรวจหรือทหารจากระบอบปกครองทักษิณ ซึ่งต้องสูญเสียอิทธิพลและอำนาจของพวกเขาไป โดยที่อาจไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

"ความเห็นนักวิเคราะห์"


ขณะที่นิตยสารไทม์บอกว่า แม้ในตอนแรกความสงสัยจะพุ่งไปที่กลุ่มมุสลิมก่อความไม่สงบ ทว่ากลุ่มคนเหล่านี้ไม่เคยเปิดการต่อสู้นอกเหนือภาคใต้

ไทม์ยังยกคำพูดของ ฟรานเชสกา ลาเว-เดวีส์ นักวิเคราะห์ภูมิภาคเอเชียอาคเนย์แห่งกลุ่ม อินเตอร์เนชั่นแนล ไครสิส กรุ๊ป (ไอซีจี) ที่บอกว่า เหตุคราวนี้ไม่น่าที่จะเป็นผลงานของผู้ก่อความไม่สงบทางภาคใต้ ซึ่งปฏิบัติการอยู่แต่ในดินแดนของพวกเขาเองเสมอมา และถ้าหากพวกเขาเลือกที่จะโจมตีในกรุงเทพฯแล้ว ก็น่าจะเลือกเป้าหมายซึ่งเชื่อมโยงโดยตรงกับรัฐไทยมากกว่า ไม่ใช่สถานที่สาธารณะเช่นนี้

เอเอฟพีรายงานว่า นักวิเคราะห์จำนวนมากรู้สึกกังวลว่า ภาวะไร้เสถียรภาพในไทยขณะนี้ อาจทำให้คณะทหารชะลอการร่างรัฐธรรมนูญ และเลื่อนการเลือกตั้งที่เคยสัญญาว่าจะจัดขึ้นภายในเดือนตุลาคมนี้

รายงานชิ้นนี้อ้างคำพูดของนายปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯอีกผู้หนึ่ง ซึ่งบอกว่า ถ้าการระเบิดเป็นเหตุที่เกิดขึ้นครั้งเดียวแล้วจางหายไป คณะทหารก็สามารถที่จะกลับคุมสถานการณ์ได้อีกครั้ง และตารางเวลาในเรื่องรัฐธรรมนูญก็จะรักษาเอาไว้ได้

"ทหารอาจต้องทำอะไรซักอย่าง"


"แต่เห็นชัดเลยว่าหากภัยคุกคามของการระเบิดยังดำเนินต่อไป ฝ่ายทหารก็อาจถูกบังคับให้ต้องทำอะไรบางอย่างซึ่งรุนแรงยิ่งขึ้น อย่างเช่น การทำรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง"

บทวิเคราะห์ข่าวของเฮอรัลด์ทรีบูนก็บอกเช่นกันว่า บรรดานักวิเคราะห์การเมืองและนักการทูตกำลังวิตกกันว่า เหตุระเบิดอาจนำไปสู่การปกครองของทหารในรูปแบบที่แข็งกร้าวยิ่งขึ้น และอาจชะลอการหวนกลับไปสู่ประชาธิปไตยของไทย

เฮอรัลด์ทรีบูนชี้ว่า การหันไปใช้จุดยืนซึ่งแข็งกร้าวมากขึ้นของฝ่ายทหาร อาจเป็นที่ต้อนรับของผู้คนบางส่วนในประเทศไทย

"แต่มาตรการอันหักหาญก็จะเรียกเสียงประณามจากนานาชาติ และอาจเป็นการตีกระหน่ำใส่การค้าและการลงทุนของต่างประเทศ อีกทั้งมันยังอาจเพิ่มภัยคุกคามที่จะเกิดปฏิกิริยาตอบโต้กลับจากประชาชน กลายเป็นการขับดันให้ขบวนการนิยมประชาธิปไตยซึ่งกำลังมีเสียงดังขึ้นทุกที เข้าไปเป็นพันธมิตรอย่างไม่น่าจะเกิดขึ้น กับพวกผู้สนับสนุนทักษิณ ในการต่อต้านรัฐบาล" บทวิเคราะห์ข่าวชิ้นนี้บอก

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์