ปปส.โฉมใหม่เน้นปราบจริง เลิกสร้างภาพสงครามยาเสพติด

"เน้นปราบจริง กวาดล้างต่อเนื่อง"


ผู้จัดการรายวัน - เลขา ปปส.ยอมรับ รัฐบาลก่อนมีจุดอ่อน กวาดล้างยาเสพติดเพียงครั้งคราว เร่งรัดทำงานตอบสนองนโยบายสงครามยาเสพติด พร้อมปรับยโนบายใหม่ เน้นปราบจริง กวาดล้างอย่างต่อเนื่อง ไม่เน้นปริมาณงาน เพื่อแก้ปัญหายาเสพติตอย่างยั่งยืน เชื่อปี 50 หยุดการแพร่ระบาดได้แน่

นายกิตติ ลิ้มชัยกิจ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ ปปส.ให้สัมภาษณ์พิเศษ กับผู้จัดการรายวัน ถึงนโยบายและสถานการณ์ยาเสพติด โดยในส่วนของนโยบาย นายกิตติ กล่าวว่า หากมองในภาพรวมนโยบายก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เพียงแต่ในช่วง 1 เดือนแรก ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ทำให้งานของ ปปส.ที่มีอยู่เดิม ชะลอลงไปบ้าง เพราะเป็นเรื่องปกติที่หน่วยงานหรือคนทำงานบางส่วน จะรอดูว่ารัฐบาลใหม่จะมีนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร หลังจากรัฐบาลได้แถลงนโยบายต่างๆ อย่างชัดเจนแล้ว ทำให้ขณะนี้งานของปปส.ได้เริ่มขับเคลื่อนไปข้างหน้าเช่นกัน

"เมื่อตนเขามารับตำแหน่งเลขาฯ ปปส.อีกครั้ง ก็เข้ามาดูว่าตรงส่วนไหนบ้างที่ต้องมีการปรับปรุงและพัฒนา และงานส่วนไหนจะต้องเดินหน้าต่อไป หรือเรียกว่า แก้ปัญหาที่คงเหลือ สถาปนาความมั่นคง จะสร้างความยั่งยืน โดยเน้นการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่เหลืออยู่ให้ต่อเนื่อง เพื่อยับยั้งและสกัดกั้นการแพร่ระบาด ให้เหลือน้อยที่สุดหรือไม่มีเลย เพราะตอนนี้ยาเสพติดอยู่ในช่วงที่อาจจะกลับมาแพร่ระบาดมากขึ้นอีกครั้ง"

"แผนในการปราบปราม"


อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจสภาพปัญหาว่า เมื่อช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งตนไม่ได้เป็นเลขาฯปปส.นั้น สถานการณ์ของยาเสพติด มีการแพร่ระบาดอย่างหนักประมาณปี 2545 จากนั้นหน่วยงานภาครัฐได้เข้ามาแก้ไข ทำให้สถานการณ์ของยาเสพติดดีขึ้น การแพร่ระบาดลดน้อยลง ต่อมาช่วงปลายปี 2548 มีแนวโน้มว่ายาเสพติดจะกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้ง ซึ่งเห็นว่าการแก้ไขปัญหาการปราบปราบยาเสพติดครั้งที่ผ่านมา มีจุดอ่อนคือ เป็นการกวาดล้างยาเสพติดเพียงครั้งคราว การทำงานอย่างเร่งรัดเพื่อตอบสนองนโยบายในช่วงนั้นๆ ซึ่งสามารถสยบปัญหาไว้ได้ชั่วคราว แต่ก็ทำให้ยาเสพติดมีโอกาสกลับมาแพร่ระบาดใหม่ได้อีก ครั้งนี้ ปปส. จะเน้นดำเนินการกวาดล้างยาเสพติดอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้เน้นปริมาณงาน เพื่อแก้ปัญหายาเสพติตอย่างยั่งยืน

สำหรับแผนงานระยะ 3 เดือน หลังรับตำแหน่ง เลขา ปปส. นายกิตติ กล่าวว่า ประการแรก ทบทวนการดำเนินงานต้องปรับปรุงแก้ไขอะไรบ้าง ซึ่งสมัยที่ พล.อ ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นรองนายกรัฐมนตรีขณะนั้น ได้กำหนดนโยบายสร้างกลไกกระบวนการหนึ่งขึ้นมา ชื่อว่า ศูนย์ต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ (ศตสช.) มีทั้งข้าราชการฝ่ายการเมือง และข้าราชการประจำ ทั้งระดับกระทรวงและระดับท้องที่ ขับเคลื่อนแก้ไขปัญหายาเสพติดของชาติ ซึ่งเป็นกลไกด้านอำนวยการที่ดี มีบทบาทโดยตรงด้านการบริหาร หรือแปลงนโยบายของรัฐบาลไปสู่ระดับปฏิบัติการหรือแผนโรดแมป เพียงแต่ชื่อเดิมอาจจะไม่เหมาะสม จึงควรเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ศอ.ปส.)มากกว่า เพื่อให้บ่งชี้ถึงภารกิจอย่างแท้จริง ส่วนหน่วยงานระดับกระทรวง จังหวัด หรือระดับพื้นที่ ยังคงใช้ชื่อว่าศูนย์ต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติด(สตส.)เหมือนเดิม

ประการที่สอง คือ กลุ่มเป้าหมาย หรือผู้ที่เราต้องเฝ้าระวังเพื่อไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ซึ่งเราให้ความสำคัญกับกลุ่มวัยรุ่น นักศึกษา อายุตั้งแต่ 10-25 ปีมากที่สุด นอกจากนี้มีกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ซึ่งในแต่ละพื้นที่ จะมีปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดแตกต่างกัน จากข้อมูลสถิติการจับกุม การบำบัดรักษาและการร้องเรียน พบว่า ปัญหาของยาเสพติดมักระบาดในตัวเมืองใหญ่ ในอดีตปัญหายาเสพติดเกือบครึ่งหนึ่งของปัญหาทั้งประเทศ จะอยู่ในกทม. แต่ปัจจุบันลดลงเหลือประมาณ 36 เปอร์เซ็นต์

"แนวทางการแก้ไขปัญหา"


ส่วนเมืองใหญ่ๆ ที่มีความเจริญ เช่น เชียงใหม่ หาดใหญ่ และขอนแก่น มีปัญหายาเสพติดประมาณ 37 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นพื้นที่ตามหมู่บ้าน บริเวณชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน และพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งแต่ละพื้นที่ จะมีวิธีการแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตามคำตอบสุดท้าย อยู่ที่ประชาชน คือ ตราบใดที่ไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชน ก็ไม่สามารถแก้ปัญหายาเสพติดได้อย่างยั่งยืน แม้อำนาจรัฐจะเข้มแข็งเพียงใด มีการปราบปรามกวาดล้างยาเสพติดที่ดีมาก แต่ทำได้เพียงแค่ สยบปัญหาไว้ได้ชั่วคราว

รัฐบาลปัจจุบันก็พยายามเน้นย้ำในเรื่องการสร้างชุมชนเข้มแข็ง ทำงานร่วมกันหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย โดยร่วมมือกับภาคประชาชน เช่นในกลุ่มเด็กและเยาวชน ก็มีโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน โครงการทูบีนัมเบอร์วัน โครงการอาสาสมัครพลังของแผ่นดิน เพื่อช่วยกันเพื่อช่วยกันเฝ้าระวังปัญหายาเสพติด เพื่อขับเคลื่อนไปสู่แก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นนโยบายที่จะทำต่อเนื่องใน ปีพ.ศ.2550 ด้วย

ทั้งนี้แม้ประชาชนจะตระหนักถึงพิษภัยของยาเสพติดมากขึ้น แต่บางพื้นที่ประชาชนไม่กล้าให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ เนื่องจากเกรงกลัวอิทธิพลอำนาจมืด เราก็ต้องใช้มาตรการทางกฎหมาย และกลไก ปปง.เข้าไปควบคุมดูแล เพื่อให้ประชาชนมั่นใจ และเข้ามาให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่มากขึ้น

**แนวโน้มยาเสพติดระบาดเพิ่มขึ้น


นายกิตติ กล่าวว่า จากการสำรวจของหน่วยงานราชการและสำนักวิจัยเอแบคในภาคสนาม พบว่าแนวโน้มของปัญหายาเสพติดในปี 2549 ตั้งแต่ประมาณต้นปี ถึงช่วงไตรมาสที่ 2 ปัญหามีการขยับขึ้น คือแนวโน้มการแพร่ระบาดสูงขึ้นประมาณ 8-10 % ซึ่งเป็นตัวเลขในภาพรวม แต่ถ้าแบ่งย่อยเป็นพื้นที่แล้ว พบว่า ยาเสพติดแพร่ระบาด หนาแน่นอยู่ที่ตัวเมือง อย่างเช่น กรุงเทพฯ สูงขึ้นประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์ ถ้ารวมทั้งพื้นที่กรุงเทพฯ และในเขตปริมณฑลด้วย สูงขึ้นประมาณ 13 เปอร์เซ็นต์ จะเห็นว่าการแพร่ระบาดของยาเสพติดในเขตตัวเมือง สูงกว่าอัตราเฉลี่ยของการเพิ่มขึ้นของยาเสพติดทั่วประเทศ ส่วนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็มีปัญหายาเสพติดเพิ่มขึ้นเช่นกัน

สำหรับสาเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้การแพร่ระบาดของยาเสพติดเพิ่มสูงขึ้น นายกิตติ กล่าวว่า เกิดจากปัญหาผู้ที่พ้นโทษหรือผู้ผ่านการบำบัดแล้วมากระทำผิดซ้ำมากขึ้น เนื่องจากเมื่อเขาพ้นโทษออกมาแล้วสังคมและชุมชนไม่ยอมรับ ทำให้พวกเขาไม่มีอาชีพ ก็กลับไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดใหม่ หรือบางคนยังไม่เกิดความขยาดกลัว เช่น คนเสพยา ติดยาแล้วออกมาเจอเพื่อน สิ่งแวดล้อมเก่าๆ หากไม่สามารถที่จะชนะใจตนเองได้ ก็กลับไปทำแบบเดิมอีก ซ้ำยังทำได้ง่ายขึ้น เพราะเคยทำมาแล้ว จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการขยายตัวของยาเสพติดเพิ่มขึ้น สำหรับผู้ที่ติดยาเสพติด สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีเข้ารับการบำบัด เมื่อผู้เสพได้รับการบำบัดสักระยะหนึ่งก็จะเริ่มชินชา และลดความต้องการยาเสพติดไปเอง

แต่มีปัญหาในด้านการประพฤติตัวบำบัดให้หายขาด เนื่องจากต้องยอมรับว่า อาการติดยาเสพติด เป็นเรื่องทางจิตใจ เรื่องการบำบัดทางกายนั้นไม่มีปัญหา เพราะว่าได้รับการบำบัดทางกาย เพียงระยะเวลา 45 วัน หรือ 2- 3 เดือนก็สามารถอยู่ได้แล้ว ยิ่งเดี๋ยวนี้ยาเสพติดรุ่นใหม่ อาการขาดยาจะไม่รุนแรง เพราะฉะนั้นเรื่องการบำบัดทางกายจึงไม่ใช่ปัญหา แต่การฟื้นฟูทางจิตใจเป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่า คือคำตอบว่าทำไมต้องมีชุมชนเข้มแข็ง เพราะถ้าเขากลับไปในชุมชน เราก็หวังว่าครอบครัวจะช่วยดูแลต่อไป ซึ่งการช่วยเหลือบำบัดผู้ติดยา ต้องใช้ระยะเวลานาน 3-4 ปี คือขั้นบำบัด การเลิก การขังผู้ติดยา การฟื้นฟูสภาพทางกาย ส่วนมากเราทำจบแค่นี้ พอขั้นตอนการที่ 4 หรือที่เรียกว่าขั้นการติดตามผล การช่วยเหลือเยียวยา จำเป็นต้องใช้หลายอย่าง เช่น การช่วยเหลือเรื่องอาชีพ การช่วยเหลือทางด้านจิตใจให้เกิดความเข้มแข็ง ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันเรายังทำขั้นตอนนี้ได้ไม่สมบูรณ์ ทำให้มีผู้ป่วยจำนวนมากกลับไปเสพยาซ้ำอีก

**ยาบ้าและยาไอซ์ ยังครองตลาด


นายกิตติ กล่าวว่า ตอนนี้ปัญหายาเสพติดที่สำคัญ ยังคงเป็นเรื่องยาบ้า แต่ยาเสพติดที่กำลังระบาดมากขึ้น และต้องเฝ้าระวัง คือยาไอซ์ ซึ่งเป็นหัวเชื้อของยาบ้าที่มีความบริสุทธิ์มาก ส่วนใหญ่จะเสพกันเฉพาะในกลุ่มนักเที่ยวกลางคืน ตามสถานบันเทิงสถานบริการ อันนี้เป็นปัญหาใหม่ที่เข้ามาในบ้านเรา ถ้ามองจากสถิติการจับกุมจะมีตัวเลขเพิ่มขึ้น เนื่องจากแหล่งที่เคยผลิตยาบ้าหลายๆ แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน หันมาผลิตยาไอซ์ เพิ่มมากขึ้น และใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน เพื่อส่งต่อไปยังต่างประเทศ ทำให้ช่วงหลังพบว่ามียาไอซ์เข้ามาเยอะ ส่วนยาเสพติดตัวอื่นๆ เฮโรอีน ฝิ่น กัญชา โคเคนยังมีอยู่ แต่ปริมาณไม่มากนัก

**พัฒนาการค้าสู่ระบบขายตรง

นายกิตติกล่าวว่า ผู้เสพยาเสพติดเพิ่มขึ้น แต่เมื่อมีการเสพเพิ่ม การค้าก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย และที่น่าเป็นห่วงก็คือระบบการค้ายาเสพติด ได้พัฒนาเป็นระบบขายตรงหรือ Direct Sale ซึ่งสมัยก่อนจะทำเป็นขบวนการ เริ่มจากมีผู้ค้ายาเสพติด นำเข้ามาเป็นทอดๆ มาถึงตัวเอเย่นต์รายใหญ่ รายย่อยตามลำดับ เดี๋ยวนี้ผู้ค้ายาเสพติดที่อยู่บริเวณชายแดนสามารถนำยาเสพติดเข้ามาขายด้วยตัวเอง ในลักษณะแบบกองทัพมด มีวิธีการซ่อนยาที่แนบเนียนมากขึ้น เช่น การกลืนลงไปในกระเพาะอาหาร หรือบรรจุลงในถุงยางและยัดเข้าในทวารหนัก ซึ่งแต่ละคนจะนำเข้ามาไม่มากนัก คนหนึ่งก็ประมาณ 600 เม็ด สามารถเดินทางผ่านเข้า-ออกชายแดนประเทศไทยได้สะดวก

ยาเสพติดจะเข้ามาทุกเส้นทางในบ้านเรา สมัยก่อนจะเข้ามาทางหลักคือ ทางเหนือ ทางตะวันตก แต่ตอนนี้พวกพ่อค้ายาเสพติด พยายามใช้เส้นทางใหม่ จากข้อมูลพบว่ายาเสพติดจะเข้ามาทางภาคเหนือ หนองคาย แถบเวียงจันทน์มากขึ้น ยิ่งมีสะพานมิตรภาพไทย-ลาวที่ จ.มุกดาหารเพิ่มขึ้น ก็จำเป็นต้องให้ความสำคัญเช่นกัน ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ต้องหาทางสกัดกั้นหรือสร้างเครือข่าย ตามจุดผ่านแดนต่างๆให้มากขึ้น สำหรับช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ ที่จะมีประชาชนเดินทางไปต่างประเทศ หรือเข้า-ออกประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น หรือบางคนก็เดินทางเพื่อไปพักผ่อนต่างจังหวัด หากเราอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนมาก ก็จะเอื้อให้กับกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดไปด้วย เนื่องจากจะทำให้ผู้กระทำผิด สามารถแฝงตัวมากับกลุ่มประชาชนที่เดินทางสัญจรง่ายขึ้น เพราะฉะนั้นเราจะให้ความสำคัญกับการเฝ้าระวังยาเสพติดในช่วงเทศกาลปีใหม่เป็นพิเศษ เจ้าหน้าที่คงไม่ได้พักผ่อน เพราะต้องเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้น

ในช่วงนี้ก็มีนโยบายเกี่ยวกับการลดอุบัติเหตุ เราจะใช้โอกาสนี้ตรวจร่วมกัน เพราะบางคนนอกจากดื่มเหล้าแล้วยังใช้ยาเสพติดอื่นๆด้วย คือมีการตรวจการดื่มแฮลกอฮอล์เมาแล้วขับ และก็ตรวจเรื่องการลักลอบขนและค้ายาเสพติดแฝงไปด้วย ทั้งบนเส้นทางถนนหลวง ถนนในชุมชนและหมู่บ้าน เพราะจากเดิมมีการเข้มงวดตรวจตราคนที่ดื่มแฮลกอฮอล์เมาแล้วขับบนถนนเส้นทางหลวง แต่ช่วงหลังอุบัติเหตุมักเกิดในชุมชน เราก็จะเอาเรื่องนี้บูรณาการเข้าไปด้วย โดยจะไม่ให้ประชาชนเดือดร้อนรำคาญ ซึ่งใช้หลายวิธีประกอบกัน เช่น การสังเกต การข่าว เวลาเข้าเขตด่านตรวจแฮลกอฮอล์ อาจจะต้องชะลอให้เจ้าหน้าที่ตรวจ ถ้าไม่มีอะไรก็ไปได้ แต่หากมีท่าทางพิรุธ คงต้องขอค้น ซึ่งได้กำหนดไว้แล้วว่ามีพื้นที่ไหนบ้างที่ต้องให้ความสำคัญ

นอกจากนี้จะเน้นตรวจยาเสพติดตอนขากลับ เพราะคนที่เดินทางกลับจากต่างประเทศหรือชายแดน จะเอื้อต่อการขนหรือขายยาเสพติด โดยจะประสานกับด่านตรวจคนเมืองและด่านศุลกากรอย่างใกล้ชิด

**แจงจุดอ่อนศาลยกฟ้องคดียาเสพติด


นายกิตติ กล่าวว่า เท่าที่สังเกตดูในช่วง 2-3 ปีที่แล้ว ปัญหาเรื่องยาเสพติดถือว่าเป็นวาระแห่งชาติ เป็นการประกาศสงครามกับยาเสพติด ตามข้อสันนิษฐานส่วนตัว ซึ่งอาจจะไม่ใช่ข้อเท็จจริง เป็นเพราะการเร่งรัดปราบปราม ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติเพื่อตอบสนองต่อนโยบาย การรวบรวมพยานหลักฐานอาจจะยังไม่รัดกุมเพียงพอ ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ศาลยกฟ้อง ถือเป็นจุดอ่อน ยิ่งเป็นผู้ค้ารายใหญ่มากเท่าไหร่ การหาพยานหลักฐานจะยากขึ้นเท่านั้น เพราะโอกาสที่เขาจะไปใกล้ชิดกับการกระทำความผิดหรือเข้าใกล้กับยาเสพติดจะยิ่งห่างขึ้นเรื่อยๆ โดยมีนายหน้า มีตัวแทนเป็นระยะๆ ฉะนั้นกระบวนการที่จะหาพยานหลักฐานไปถึง จึงเป็นเรื่องที่ยาก ยิ่งถ้าเราไปเน้นเรื่องปริมาณโดนไม่เน้นคุณภาพนั้น โอกาสที่ศาลจะยกฟ้องนั้นมีมาก

กระบวนการจับกุมนักค้ายาเสพติดรายสำคัญให้ได้นั้น ต้องใช้ระยะเวลาและทำงานให้เป็นระบบ อย่างไรก็ตามนักค้ายาเสพติดรายเก่าๆ ที่อาจจะเคยถูกจับแล้วพ้นโทษมา หรือคนที่ถูกยกฟ้อง หรือคนที่ยังอยู่ข้างนอก ทุกหน่วยงานก็มีข้อมูลอยู่ ซึ่งบุคคลเหล่านี้ก็คงรู้ตัว แต่กลุ่มที่เป็นห่วงคือนักค้ายาเสพติดหน้าใหม่ๆ ที่อาจจะถูกชักจูงเพราะความโลภหรือลัทธิบริโภคนิยม

**สี่คูณสองระบาดชายแดนใต้

นายกิตติกล่าวว่า ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดทางภาคใต้ ที่พบมากคือ ยาแก้ไอผสมเครื่องดื่มแทนเหล้า ยาบ้าซึ่งมีมานานแล้ว แต่ที่เริ่มพบมากขึ้นล่าสุด ก็คือใบกระท่อม เพราะมันเป็นยาเสพติดประเภทกระตุ้นประสาท โดยวิธีการนำใบกระท่อมไปหมักหรือกลั่น เพื่อให้สารเสพติดในใบกระท่อมออกฤทธิ์เร็วขึ้น บางครั้งมีการนำยาเสพติดมาผสมกันหลายตัว กลายเป็นแฟชั่นของวัยรุ่นที่เสพยา เช่นที่เรียกว่า สี่ คูณสอง คือ การนำเอาส่วนผสม 4 อย่าง คือ โค้ก ยาแก้ไอ ยาจุดกันยุง และ กระท่อม มาผสมกัน และเสพเป็นยาเสพติด แต่ปัญหาที่เรากังวลมากกว่า คือ กลุ่มวัยรุ่นที่เสพยาเสพติดเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กรณีที่เยาวชนและเด็กวัยรุ่นถูกมอมเมาด้วยยาเสพติด แล้วถูกชักจูงไปก่อเหตุ

นอกจากนี้กลุ่มพ่อค้ายาเสพติดที่เห็นว่าหากอำนาจรัฐเข้าไปไม่ถึง เขาก็จะมีอิสระในการค้ายาเสพติด สิ่งผิดกฎหมาย พวกนี้ก็จะเป็นผู้ให้การสนับสนุนในเรื่องความไม่สงบแต่ไม่ได้เป็นสาเหตุโดยตรง ส่วนคดีการฆ่าตัดตอน ช่วงที่มีการกวาดล้างยาเสพติดเมื่อปี 2546 ที่มีผู้เสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุนั้น เป็นนโยบายที่รัฐบาลมอบหมายให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ กระทรวงยุติธรรมเป็นหน่วยงานรับผิดชอบเนื่องจากถือว่าเป็นคดีอาญาทั่วไป ซึ่งปปส.ไม่ได้รับผิดชอบในคดีนี้ เนื่องจากกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์