โดย ผู้จัดการออนไลน์ 21 กุมภาพันธ์ 2549 17:33 น.
อภิรักษ์ เผย คกก.ปฏิรูประบบราชการ กทม. ได้คลอดระเบียบการประกวดราคาอี-อ็อกชันใหม่ เน้นเพิ่มกรรมการ มีขั้นตอนทีโออาร์ละเอียดขึ้น พร้อมยกเลิกประกวดราคาสร้างถนนอีก 6 โครงการ หลังยกเลิกไปแล้ว 10 โครงการเพื่อรออี-อ็อกชันรูปแบบใหม่จากรัฐบาล พร้อมแจงซีอีโอ บ.สไตเออร์ ยังไม่ได้ติดต่อขอเคลียร์รถดับเพลิงฉาว กก.ชุดประทินได้ข้อสรุปพบผู้เกี่ยวข้องฮั้วอีอ็อกชั่น 16 โครงการกทม. 5 รายสามารถ และ คุณหญิงณฐนนท เกี่ยวด้วย
นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า การก่อสร้างสะพานอุโมงค์ทางลอดของสำนักการโยธา (สนย.) ที่ยังไม่ได้ประกวดราคาจำนวน 6 โครงการ จาก 16 โครงการนั้น เดิมทีกำหนดประกาศประกวดราคาในวันที่ 28 ก.พ.49 แต่ขณะนี้ สนย.ได้รายงานว่าจะยกเลิกประกาศดังกล่าว พร้อมทั้งกลับไปศึกษารายละเอียดใหม่ทั้งหมดเพื่อนำมารายงานตนและรองรับการประกวดราคาด้วยระบบอี-อ็อกชันรูปแบบใหม่แทนตามระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรี โดย กทม.จะจัดอบรมเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการประกวดราคาในระบบอี-อ็อกชันแบบใหม่ภายในสัปดาห์หน้าเพื่อรองรับระเบียบสำนักนายกฯ
สำหรับใน 10 โครงการที่ได้ประกวดราคาและได้ผู้รับเหมาไปแล้วนั้น เบื้องต้น 9 โครงการนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม.ได้สั่งยกเลิกทันทีที่ทราบว่ามีมูลการทุจริต ส่วนอีก 1 โครงการที่เหลือปัจจุบันได้ยกเลิกไปแล้วเช่นกัน แม้ว่าจะได้ตัวผู้รับเหมาแล้วก็ตาม
ทั้งนี้ ตนได้กำชับให้ สนย.กลับไปทบทวนในเรื่องราคากลางที่จะต้องไม่สูงเกินไป รวมถึงเรื่องวิธีการประกวดราคาและเกณฑ์การกำหนดคุณสมบัติด้านเทคนิค ซึ่งเรื่องดังกล่าวได้หารือกับ สนย.เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่ง โดยจะมีบุคคลภายนอกเข้ามาร่วมพิจารณาด้วยเพื่อความโปร่งใส โดยใช้ชื่อว่า คณะกรรมการดำเนินการวิธีประมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ กวอ.
นายพนิช กล่าวอีกว่า สำหรับ 6 โครงการที่ยังไม่ได้ประกวดราคานั้น ตนได้แบ่งระยะเวลาการพิจารณาออกเป็น 2 ช่วง คือ 4 โครงการแรก ได้แก่ 1.โครงการสะพานข้ามทางแยกถนนรามคำแหง-ถนนวงแหวนตะวันออก ราคากลาง 440,000,000 บาท 2.โครงการก่อสร้างทางทางต่างระดับถนนพัฒนาการ-ถนนอ่อนนุช ราคากลาง 975,000,000 บาท 3.โครงการถนนพุทธมณฑลสาย 1 ช่วงจากถนนเพชรเกษมถึงสุดเขต กทม. ราคากลาง 715,000,000 บาท และ 4.โครงการก่อสร้างทางลอดถนนศรีอยุธยา-ถนนพระรามที่ 6 ราคากลาง 610,000,000 บาท จะต้องพิจารณาแล้วเสร็จภายใน 60 วันนับจากนี้
ส่วนอีก 2 โครงการที่เหลือ ได้แก่ 1.โครงการถนนหทัยราษฎร์ (สุวินทวงศ์-สายไหม) ราคากลาง 1,000,000,000 บาท และ 2.โครงการก่อสร้างถนนสะแกงาม ช่วงจากถนนพระราม 2 ถึงถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล ราคากลาง 188,000,000 บาท นั้นให้พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับจากนี้
อย่างไรก็ตาม ทั้ง 10 โครงการ และ 6 โครงการที่กำลังทบทวนอยู่นั้นจะดำเนินการควบคู่กันไป แต่เบื้องต้นจะเร่งใน 6 โครงการก่อน เนื่องจาก 5 ใน 6 เป็นโครงการในปีงบประมาณ 2549 ซึ่งตนได้กำชับให้เร่งประกวดราคาและเริ่มก่อสร้างภายในปี 2549 นี้ ส่วนอีก 1 โครงการเป็นงบในปีงบประมาณ 2548 ซึ่งได้หารือกับรัฐบาลเพื่อขอกันงบประมาณไว้ให้ก่อน ส่วนจะได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ ครม.
นอกจากนี้ ใน 10 โครงการที่เหลือ เนื่องจากเป็นโครงการที่มีรายละเอียด และเทคนิคพิเศษจึงอาจต้องใช้เวลาในการพิจารณานานกว่าและเมื่อมีความพร้อมก็จะเร่งดำเนินการประกวดราคาทันที
ด้าน นายวัลลภ สุวรรณดี รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงกรณีที่ซีอีโอบริษัท สไตเออร์ จะมาเมืองไทย เพื่อร่วมตรวจสอบรถดับเพลิงว่า ตนยังไม่ได้รับการประสานจากบริษัทแต่อย่างใด และ กทม.ก็ไม่ได้ประสานไปด้วย ทั้งนี้ หากซีอีโอบริษัท สไตเออร์จะมาจริงๆ ก็เป็นสิทธิที่สามารถจะทำได้ ส่วนเรื่องที่มีการพาดพิงว่าข่าวที่ออกมาทำให้บริษัทได้รับความเสียหายนั้น ไม่ขอออกความคิดเห็น
ส่วน นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ โฆษกกรุงเทพมหานคร เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวภายหลังประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ถึงเรื่องที่ธนาคารไทยพาณิชย์ได้บริจาคเงินให้กับตลาดนัดจตุจักรว่า ในเรื่องดังกล่าวคณะกรรมการซึ่งมีนายพงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ รองปลัด กทม. เป็นประธานได้ตรวจสอบเพื่อหาข้อเท็จจริง ได้ข้อสรุปว่า ในเรื่องของเงินบริจาค ทางกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการถูกต้องตามระเบียบทุกประการ สำหรับรถนิสสัน เทียน่า ที่ได้รับบริจาคมา กทม.ก็ได้ทำการลงรับเป็นทรัพย์สินของราชการอย่างถูกต้องแล้ว
ส่วนเรื่องตู้เอทีเอ็มของธนาคารไทยพาณิชย์ ที่มีผู้กล่าวหาว่าเอื้อประโยชน์ให้กับ ธ.ไทยพาณิชย์ เปิดตู้เพิ่มนั้นก็ไม่เป็นความจริง แต่เป็นเพียงการโยกย้ายจุดตั้งวางใหม่เพื่อจัดระเบียบตามความสะดวกและเหมาะสมเท่านั้น
ในส่วนของข่าวที่ออกมากล่าวหาว่าภรรยาผู้ว่าฯ กทม.นำรถของทางราชการไปใช้ นั้นขอชี้แจงว่าไม่เป็นความจริงเนื่องจากสี และทะเบียนรถไม่ตรงกัน เพราะหลังจากตรวจสอบปรากฏว่าไม่มีมูลความจริง ซึ่งในเรื่องนี้ผู้ว่าฯ กทม.จะให้ฝ่ายกฎหมายตรวจสอบว่าบุคคลใดเป็นผู้ออกมากล่าวหา โดยจะดำเนินการฟ้องร้องต่อไป
สำหรับการที่ นายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ส.ก.เขตห้วยขวาง ตั้งกระทู้ถามเรื่องการให้ กทม.ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบว่ามีธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งบริจาครถยนต์นิสสัน เทียน่า ให้แก่สำนักการตลาดเพื่อขอเข้าดำเนินกิจการในพื้นที่นั้น ทาง กทม.จะทำหนังสือชี้แจงไปยังสภา กทม.อย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง
ขณะที่ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการฯ กทม. เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการปฏิรูประบบราชการ กทม. ที่มี ศ.สุรพล นิติไกรพจน์ อธิบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นประธาน ที่พิจารณาถึงขั้นตอนการประกวดราคาด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (อี-อ็อกชัน) และการรับเรื่องร้องเรียนกรณีความไม่โปร่งใสของ กทม. ได้สรุปการจัดระเบียบการประกวดราคาแบบใหม่ โดยใช้ชื่อว่า คณะกรรมการดำเนินการวิธีประมูลด้วยวิธีอี-อ็อกชัน (กวอ.) ซึ่งมีรายละเอียดเพิ่ม เช่น มีกรรมการเพิ่ม มีขั้นตอนทีโออาร์ที่ละเอียดชัดเจนขึ้น มีตัวแทนประชาชนร่วมเป็นสักขีพยาน และผู้อำนวยการสำนักต่างๆ ของ กทม. เป็นเลขานุการประธาน กวอ.แต่ละโครงการ คาดว่าระบบ กวอ.จะเริ่มใช้ได้ในการประมูลโครงการก่อสร้างเดิมที่ถูกระงับไป
แหล่งข่าวจากกทม.เปิดเผยว่า คณะกรรมการชุดพล.ต.อ. ประทิน สันติประภพ เป็นประธาน เปิดเผยว่า ในวันนี้คณะกรรมการฯได้สรุปผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีพบความไม่โปร่งในในโครงการก่อสร้างถนนและอุโมงค์ทางลอดของสำนักการโยธา(สนย.) กทม.จำนวน 16 โครงการมูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท โดยมีการสรุปเป็นข้อเท็จจริงและมีการระบุตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องจำนวน 5 ราย ได้แก่ คุณหญิงณฐนนท ทวีสิน ปลัดกทม.เกี่ยวข้องฐานที่ละเลย และเพิกเฉยต่อข้อร้องเรียน, นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองผู้ว่าฯ กทม. เกี่ยวข้องในฐานที่ผู้เสียหายร้องเรียนแต่ไม่รายงานให้นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม.รับทราบ นายจิม พันธุมโกมล ผอ.สนย.,นายภัทรุตม์ ทรรทรานนท์ รองผอ.สนย. และนายอุทัย ขันแก้ว วิศวกร 8 สนย. ซึ่งทั้ง 3 รายเกี่ยวข้องในฐานที่รู้เห็นในรายละเอียดของโครงการทั้งหมด ส่วนคณะกรรมการอีอ็อกชั่นทุกชุดนั้นไม่มีส่วนรู้เห็นเพราะไม่ได้เป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆขึ้น
ทั้งนี้คณะกรรมการฯกำลังสรุปเรื่องทั้งหมดโดยจัดทำเป็นเอกสารเพื่อเตรียมชี้แจงกับสื่อมวลชนคาดจะสามารถชี้แจงได้ภายในสัปดาห์นี้